backup og meta

Mitral Valve Prolapse คือ อาการ สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 19/01/2023

    Mitral Valve Prolapse คือ อาการ สาเหตุและการรักษา

    Mitral Valve Prolapse คือ ลิ้นหัวใจหย่อน ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่ทำให้ลิ้นหัวใจมีลักษณะหย่อนยาน จนบางครั้งเลือดอาจไหลย้อนกลับได้ แม้ภาวะลิ้นหัวใจหย่อนจะไม่เป็นอันตายถึงชีวิตและอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่สำหรับผู้ที่ลิ้นหัวใจหย่อยมากจนทำให้เลือดไหลย้อนกลับอย่างรุนแรง จำเป็นต้องใช้ยาหรือการผ่าตัดรักษาร่วมด้วย เพื่อป้องกันอาการที่อาจรุนแรงขึ้น

    คำจำกัดความ

    Mitral Valve Prolapse คืออะไร

    Mitral Valve Prolapse คือ โรคลิ้นหัวใจชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อลิ้นหัวใจระหว่างห้องหัวใจด้านซ้าย ทำให้ห้องหัวใจมีลักษณะพองตัวย้อยไปด้านหลัง เข้าไปในห้องบนซ้ายของหัวใจลักษณะคล้ายร่มชูชีพ โดยจะเกิดขึ้นในขณะที่หัวใจบีบตัว ซึ่งบางครั้งอาจส่งผลให้เลือดไหลย้อนเข้าลิ้นหัวใจได้

    อาการ

    อาการของ Mitral Valve Prolapse

    อาการลิ้นหัวใจหย่อน อาจเกิดจากปริมาณเลือดที่ไหลย้อนกลับผ่านลิ้นหัวใจ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่แต่ละบุคคล ดังนี้

  • หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • การเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • หายใจลำบาก หายใจถี่ โดยเฉพาะเมื่อออกกำลังกายหรือนอนราบ
  • อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างกะทันหันหรือเจ็บรุนแรงอย่างผิดปกติ ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจหัวใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณของลิ้นหัวใจหย่อนหรือโรคหัวใจชนิดอื่น

    สาเหตุ

    สาเหตุ Mitral Valve Prolapse

    ภาวะลิ้นหัวใจหย่อนมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจไมตรัล (Mitral Valve) กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและห้องล่างซ้าย ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปในทิศทางที่ถูกต้อง

    ภาวะความผิดปกติของลิ้นหัวใจไมตรัลอาจเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยมีเนื้อเยื่อเกินหรือยืดออกกว่าปกติ สามารถพองตัวไปด้านหลังลักษณะคล้ายร่มชูชีพเข้าไปในหัวใจห้องบนซ้ายทุกครั้งที่หัวใจหดตัวเพื่อสูบฉีดเลือด

    การพองตัวที่เกิดขึ้นอาจทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ซึ่งอาจทำให้เลือดไหลย้อนกลับและส่งผลให้เลือดไหลเวียนผ่านหัวใจไปเลี้ยงร่างกายได้ลดลง

    ปัจจัยเสี่ยง

    ปัจจัยเสี่ยง Mitral Valve Prolapse

    ภาวะลิ้นหัวใจหย่อนสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

    • อาจพบบ่อยในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เนื่องจากความเสื่อมสภาพของร่างกายและการดูแลตัวเอง
    • ผู้ที่ได้รับพันธุกรรมปัญหาสุขภาพบางชนิด เช่น ความผิดปกติแบบเอ็บสไตน์ (Ebstein Anomaly) ซึ่งเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดประเภทหนึ่ง โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome หรือ EDS) โรคเกรฟส์ (Graves’ Disease) มาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome) กล้ามเนื้อเสื่อม โรคกระดูกสันหลังคด

    ภาวะแทรกซ้อน

    ภาวะลิ้นหัวใจหย่อนที่รุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

    • ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ทำให้เลือดไหลย้อนกลับและหัวใจทำงานได้ยากมากขึ้น
    • จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจและเลือดที่ไหลย้อนกลับอาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติได้

    การวินิจฉัยการรักษา

    ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

    การวินิจฉัย Mitral Valve Prolapse

    การวินิจฉัยเบื้องต้นคุณหมออาจตรวจด้วยการฟังเสียงความผิดปกติของหัวใจ รวมทั้งอาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อยืนยันความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ดังนี้

    • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อจำลองภาพหัวใจ หาความผิดปกติของลิ้นหัวใจและตรวจจังหวะการเต้นของหัวใจ
    • เอกซเรย์ทรวงอก เพื่อดูสภาพของหัวใจและปอด
    • ทดสอบการออกกำลังกายหรือความเครียด ด้วยการให้เดินบนลู่วิ่งหรือขี่จักรยานพร้อมกับการตรวจสอบคลื่นหัวใจ

    การรักษา Mitral Valve Prolapse

    ภาวะลิ้นหัวใจหย่อนหากไม่มีอาการอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่หากมีอาการรุนแรงเกิดขึ้น คุณหมออาจแนะนำวิธีการรักษา ดังนี้

    • การรักษาด้วยยา เช่น ตัวบล็อกเบต้า ยาขับปัสสาวะ ยารักษาจังหวะการเต้นของหัวใจ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ
    • การผ่าตัด เพื่อซ่อมแซมลิ้นหัวใจหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ Mitral Valve Prolapse

    การดูแลตัวเองเพื่อส่งเสริมสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง อาจทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ โดยเน้นรับประทานผักและผลไม้ที่หลากหลาย เลือกผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำหรือปราศจากไขมัน สัตว์ปีก ปลา และธัญพืชไม่ขัดสี หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ เกลือและน้ำตาลสูง เช่น เบคอน ไส้กรอก คุกกี้ ขนมกรุบกรอบ เค้ก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ด้วยการออกกำลังกายประมาณ 30 นาที/วัน ประมาณ 5 วัน/สัปดาห์ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ เต้นแอโรบิก เพื่อส่งเสริมสุขภาพร่างกายและสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง
    • ควบคุมน้ำหนักให้แข็งแรง เนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากหรือเป็นโรคอ้วนมักมีแนวโน้มมีปัญหาสุภาพหัวใจ จึงควรควบคุมน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารที่ดีและออกกำลังกายอยู่เสมอ
    • จัดการกับความเครียด เช่น นอนพักผ่อน ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก อ่านหนังสือ เพราะความเครียดอาจเชื่อมโยงกับสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
    • งดการสูบบุหรี่และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสารเคมีในบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้หัวใจทำงานผิดปกติได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 19/01/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา