backup og meta

โรค หัวใจ และ หลอดเลือด กับภาวะหัวใจล้มเหลว

โรค หัวใจ และ หลอดเลือด กับภาวะหัวใจล้มเหลว

โรค หัวใจ และ หลอดเลือด เป็นชื่อเรียกของโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหัวใจ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือดทำให้หลอดเลือดตีบและอุดตันซึ่งส่งผลให้เลือดถูกส่งไปเลี้ยงหัวใจได้ไม่เพียงพอ หัวใจจึงทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งนี้ สัญญาณเตือนของภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก และหัวใจเต้นเร็ว หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วที่สุด

[embed-health-tool-bmi]

โรค หัวใจ และ หลอดเลือด เกี่ยวกับหัวใจล้มเหลวอย่างไร

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดในร่างกายโดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือดซึ่งทำให้หลอดเลือดแคบลงหรืออุดตัน

เมื่อหลอดเลือดมีไขมันสะสมจนเกิดการตีบตันหรืออุดตัน ทำให้ออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไม่สามารถส่งไปหล่อเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจอ่อนแอและทำหน้าที่สูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เกิดเป็นอาการที่เรียกว่า ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart Failure)

โดยปกติ หัวใจล้มเหลวพบได้ในคนทุกวัย แต่พบมากในผู้สูงอายุ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.2561 ภาวะหัวใจล้มเหลวเกี่ยวข้องกับสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในประเทศประมาณ 379,800 ราย หรือคิดเป็น 13.4 เปอร์เซ็นต์ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวนอกจากโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ได้แก่ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหรือลิ้นหัวใจ โรคเบาหวาน โรคอ้วน ภาวะความดันโลหิตสูง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดและสุขภาพหัวใจ

สัญญาณเตือนภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจากโรค หัวใจ และหลอดเลือด

สัญญาณเตือนของภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเมื่อพบแล้วควรรีบไปพบคุณหมอทันที ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจไม่ออกในระดับรุนแรงและเกิดขึ้นกะทันหัน
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นในจังหวะผิดปกติ
  • หน้ามืด
  • อ่อนแรง เหนื่อยง่าย

นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนภาวะหัวใจล้มเหลว มีดังต่อไปนี้

  • ไอเรื้อรัง และอาการมักแย่ลงในเวลากลางคืน นอนราบไม่ได้
  • ท้องอืด
  • ไม่อยากอาหาร
  • สับสน
  • น้ำหนักขึ้นเร็ว
  • ขาบวม
  • ปัสสาวะออกน้อยลง

ภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจาก โรค หัวใจ และหลอดเลือด ป้องกันอย่างไร

หัวใจล้มเหลวเป็นภาวะสุขภาพเรื้อรังที่มักพบในผู้สูงอายุที่เป็นโรค หัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งปัจจุบันยังไม่วิธีรักษาให้หายขาด อย่างไรก็ตาม อาจป้องกันได้หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ บุหรี่จัดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะหัวใจล้มเหลว เนื่องจากสารนิโคตินออกฤทธิ์ทำลายเซลล์หลอดเลือดและขัดขวางการทำงานของหลอดเลือด เพิ่มระดับไขมันเลว (LDL cholesterol) ทำให้เลือดหนืดหรือหมุนเวียนได้ยากขึ้น และก่อให้เกิดการอุดตันของไขมันและสสารต่าง ๆ ในหลอดเลือด
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์ เพื่อลดความอ้วน และช่วยควบคุมความดันเลือดและไขมันในเลือดให้อยู่ในระดับปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนในระดับรุนแรงมักเสี่ยงมีภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าคนทั่วไปราว ๆ 4 เท่า และยังเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมอง มากกว่าคนปกติประมาณ 2 เท่า
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันเลว อาหารน้ำตาลสูง และอาหารรสเค็ม เนื่องจากการบริโภคอาหารเหล่านั้นมักทำให้ระดับไขมันในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของหัวใจและหลอดเลือด
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของคุณหมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ควรควบคุมระดับน้ำตาล และความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเพื่อช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Heart Failure. https://www.cdc.gov/heartdisease/heart_failure.htm. Accessed August 2, 2022

Heart failure in the elderly. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33907552/. Accessed August 2, 2022

What is Cardiovascular Disease?. https://www.heart.org/en/health-topics/consumer-healthcare/what-is-cardiovascular-disease. Accessed August 2, 2022

Cardiovascular disease. https://www.nhs.uk/conditions/cardiovascular-disease/#:~:text=Cardiovascular%20disease%20(CVD)%20is%20a,increased%20risk%20of%20blood%20clots. Accessed August 2, 2022

Heart failure. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-failure/diagnosis-treatment/drc-20373148. Accessed August 2, 2022

Heart Disease and Stroke. https://www.cdc.gov/tobacco/basic_information/health_effects/heart_disease/index.htm. Accessed August 2, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/09/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สมุนไพรบำรุงหัวใจ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ

อาหารโรคหัวใจ อะไรที่ควรรับประทาน และอะไรที่ควรหลีกเลี่ยง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา