โรค กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ ภาวะที่กระดูกสันหลังโค้งผิดปกติ ทำให้กระดูกสันหลังมีลักษณะโค้งคลายตัว C หรือ S พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กอายุ 10-15 ปี
คำจำกัดความ
กระดูกสันหลังคด คืออะไร
กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) หมายถึง ภาวะที่กระดูกสันหลังโค้งผิดปกติ โดยปกติแล้ว กระดูกสันหลังของเราจะวางตัวในแนวตรงแบบเอียงเล็กน้อย แต่คนที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดจะมีแนวกระดูกสันหลังที่โค้งงอมากผิดปกติ ทำให้กระดูกสันหลังมีลักษณะเป็นรูปร่างโค้งคล้ายตัว C หรือ S
อาการคดโค้งผิดปกตินี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับแนวกระดูกสันหลังทุกส่วน แต่ส่วนใหญ่มักปรากฏบริเวณกระดูกสันหลังส่วนบนและกระดูกสันหลังส่วนล่าง หรือบริเวณเอว
ส่วนใหญ่แล้ว โรคกระดูกสันหลังคดนี้มักสังเกตเห็นได้ยาก แต่ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ความสูงของไหล่ไม่เท่ากัน หรือสะโพกสองข้างสูงไม่เท่ากัน
โรคกระดูกสันหลังคดนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด เช่น
- โรคกระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital scoliosis)
- โรคกระดูกสันหลังคดโดยไม่ทราบสาเหตุในวัยรุ่น (Adolescent idiopathic scoliosis หรือ AIS)
- โรคกระดูกสันหลังคดจากความเสื่อม (Degenerative Lumbar Scoliosis)
- โรคกระดูกสันหลังคดจากโรคประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular scoliosis)
กระดูกสันหลังคด พบได้บ่อยแค่ไหน
กระดูกสันหลังคด เป็นโรคที่พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัย 10-15 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โปรดปรึกษาแพทย์ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของโรคกระดูกสันหลังคด
อาการทั่วไปของโรคกระดูกสันหลังคด ได้แก่
- ศีรษะเอียง โดยเอนไปข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้าง
- ไหล่ไม่เท่ากัน ความสูงของไหล่ไม่เสมอกัน
- กระดูกสะบักมีการงอกผิดปกติ โดยกระดูกสะบักข้างใดข้างหนึ่งปูดออกมามากกว่าอีกข้าง
- ซี่โครงงอกผิดปกติ โดยซี่โครงข้างใดข้างหนึ่งปูดออกมามากกว่าอีกข้าง
- ความสูงของช่วงเอวทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
- สะโพกข้างหนึ่งสูงกว่าอีกข้าง
- กระดูกสันหลังคดโค้งหรืองอจนสังเกตเห็นได้ชัดเจน
- ลำตัวเอียง โดยลำตัวช่วงบนมักเอียงไปยังข้างใดข้างหนึ่ง
- ขาสองข้างยาวไม่เท่ากัน
อาการของโรคกระดูกสันหลังคดอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหลังได้ด้วย โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดขั้นรุนแรง อาจมีปัญหาสันหลังไปกดทับอวัยวะอื่น ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพรุนแรง เช่น
- หายใจติดขัด หรือหายใจได้แค่ช่วงสั้น ๆ หากปอดถูกกดทับ
- เจ็บหน้าอก
- เจ็บหลัง
- เจ็บขา
- เกิดการเปลี่ยนแปลงและความลำบากในการปัสสาวะหรืออุจจาระ
อาการของโรคกระดูกสันหลังคดในทารก
- หน้าอกข้างใดข้างหนึ่งนูนขึ้นมา
- เวลานอนหงายราบไปกับพื้น ร่างกายมักจะโค้งหรือเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจทำให้หัวใจและปอดมีปัญหา จนส่งผลให้เจ็บหน้าอก หายใจถี่ หรือหายใจติดขัดได้
เด็กที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดควรรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพรุนแรงตามมาเมื่อโตขึ้น เช่น หัวใจและปอดทำงานผิดปกติ
สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น หากมีข้อสงสัยใด ๆ โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด
หากคุณ หรือบุตรหลานมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น โปรดปรึกษาแพทย์
ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดควรปรึกษาแพทย์ เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ
สาเหตุ
สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังคด
โดยทั่วไปแล้ว โรคกระดูกสันหลังคดมักเกิดขึ้นแบบไม่ทราบสาเหตุ แต่ปัญหาสุขภาพ หรืออาการบาดเจ็บบางประการ ก็สามารถนำไปสู่โรคกระดูกสันหลังคดได้ เช่น
- การบาดเจ็บตรงบริเวณแนวกระดูกสันหลัง
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อม
- โรคกระดูกพรุน
- โรคทางเส้นประสาทและกล้ามเนื้อบางประเภท
- ความผิดปกติของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
- ขาทั้งสองข้างยาวไม่เท่ากัน
นอกจากนี้ การอยู่ในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง ก็สามารถทำให้กระดูกสันหลังคดได้เช่นกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกสันหลังคด
ปัจจัยเสี่ยงของโรคกระดูกสันหลังคดมีด้วยกันหลายประการ เช่น
- อายุ โรคกระดูกสันหลังคดมักเกิดในเด็กอายุ 10-15 ปี หรือช่วงก่อนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
- เพศ เพศหญิงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังคดมากกว่าผู้ชาย
- กรรมพันธุ์ หากคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ คุณก็อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังคดมากกว่า
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดปรึกษาแพทย์
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคด
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังคดได้ด้วยการตรวจร่างกาย โดยการตรวจทั่วไป ประกอบด้วย
- การตรวจกระดูกสันหลังจากด้านหลัง
- การตรวจตำแหน่งไหล่ เอว และความสูงของสะโพก เพื่อดูว่าทั้งสองฝั่งเท่ากันหรือไม่
- การตรวจโครงกระดูกทั้งสองฝั่ง เพื่อดูว่ามีฝั่งไหนงอกออกมามากกว่าหรือเปล่า
- ให้คุณทดสอบด้วยการทำท่า Adam’s forward bending ซึ่งได้แก่ การโน้มตัวไปข้างหน้าโดยให้เท้าทั้งสองข้างชิดกัน เข่ายืดตรง แขนทั้งสองข้างแนบลำตัว
- การเอกซเรย์กระดูกสันหลัง เพื่อหาว่ามีกระดูกสันหลังตำแหน่งใดคดงอหรือไม่ และคดงอมากน้อยเพียงใด
- แพทย์อาจแนะนำให้คุณทำ CT สแกน หรือ MRI สแกนบริเวณแผ่นหลังของคุณด้วย
การรักษาโรคกระดูกสันหลังคด
ทางเลือกในการรักษาโรคกระดูกสันหลังคดนั้นมีทั้งวิธีการแบบผ่าตัดและแบบไม่ผ่าตัด โดยแพทย์จะหาแผนการรักษาที่เหมาะสมกับคุณที่สุด โดยพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้
- อาการกระดูกสันหลังคดของคุณรุนแรงแค่ไหน
- ตำแหน่งของส่วนที่คด
- ความเสี่ยงของการพัฒนาของโรค
- อายุ
การรักษากระดูกสันหลังคดแบบไม่ผ่าตัด
ถ้าหากส่วนโค้งน้อยกว่า 25 องศาและอาการไม่ได้ทรุดลงอย่างรวดเร็ว แพทย์จะให้คุณเข้ารับการเอกซเรย์ และอาจตรวจด้วยวิธีฉายภาพแบบอื่นทุก ๆ 6-12 เดือน เพื่อจับตาดูอาการ
หากส่วนโค้งอยู่ระหว่าง 25-45 องศา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ไม้ค้ำยันหรือใช้เฝือกเพื่อช่วยพยุงกระดูกสันหลังของคุณ วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้กระดูกสันหลังที่คดกลับคืนรูป แต่ช่วยป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
การรักษากระดูกสันหลังคดด้วยการผ่าตัด
หากกระดูกสันหลังที่คดโค้งของคุณมีอาการหรือลักษณะดังต่อไปนี้ แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการผ่าตัด
- ยิ่งนานอาการยิ่งทรุดลง
- ทำให้กระดูกผิดรูปอย่างรุนแรง
- ส่งผลให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ปัญหาการหายใจและระบบประสาท
การผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกสันหลังคดมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ดังนี้
- การเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (spinal fusion)
แพทย์จะจัดตำแหน่งกระดูกสันหลังส่วนที่คดโค้งใหม่ และเชื่อมกระดูกเหล่านั้นเข้าด้วยกันเป็นกระดูกเดียว โดยใช้การปลูกถ่ายกระดูก (Bone graft) ซึ่งกระดูกที่ปลูกถ่ายจะอยู่ระหว่างกระดูกสันหลังส่วนที่คดโค้ง
- ลวดเหล็กหรือลวดยืด
การฝังตะขอ ลวด หรือน็อตโลหะหนึ่งหรือสองชิ้นไว้ในตำแหน่งเหนือและใต้กระดูกสันหลังส่วนที่คด แล้วยึดด้วยลวด ซึ่งอาจเป็นลวดที่ยืดได้ตามการเติบโต โคยศัลยแพทย์จะเป็นผู้คลายเส้นโลหะเพื่อขยายขนาด ด้วยการผ่าตัดเล็ก
- การผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลัง
การผ่าตัดเอากระดูกสันหลังส่วนใดส่วนหนึ่งออก เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของกระดูกที่คดโค้ง โดยอาจใส่แผ่นเหล็กเข้าไปแทน
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตัวเองที่ช่วยจัดการกับโรคกระดูกสันหลังคด
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยจัดการกับโรคกระดูกสันหลังคดได้
- ฝึกโยคะเป็นประจำ เพราะโยคะถือเป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกสันหลังคดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะท่าแมว ท่าต้นไม้ และท่าภูเขา
- ฝึกควบคุมการหายใจ บางคนที่มีอาการกระดูกสันหลังคดมักรู้สึกว่าความจุของปอดลดลง การออกกำลังกายที่ฝึกควบคุมการหายใจอาจช่วยพัฒนาความจุของปอด และลดอาการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น อาการเหนื่อยล้า อาการปวดศีรษะได้
- ฝึกท่าทางที่ถูกต้อง การแสดงท่าทาง เช่น การนั่ง การยืน การนอน ให้ถูกต้องและเคยชิน จะช่วยให้คุณรู้ตัวและปรับท่าทางของตัวเองได้ทันทีหากเผลออยู่ในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทั้งยังสามารถช่วยลดความเจ็บปวดจากโรคกระดูกสันหลังคดได้ด้วย
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ด้วยท่าต่อไปนี้
ท่ายืดกล้ามเนื้อสะโพก
- นอนราบกับพื้น ยกขาทั้งสองเหยียดตรง ชี้ขึ้นฟ้า
- งอเข่าข้างหนึ่ง แล้วเอาขาข้างที่งอพาดขาข้างที่เหยียดตรงอยู่
- งอขาอีกข้าง จากนั้นดึงขาทั้งสองข้างให้ชิดหน้าอกมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ค้างไว้อย่างน้อย 20 วินาที
- ปล่อยขาทั้ง 2 ข้างลงช้า ๆ จากนั้นทำซ้ำโดยสลับขา
ท่างอเข่าแนบหน้าอก
- นอนราบกับพื้น งอเข่าทั้ง 2 ข้าง
- ประสานมือที่เข่าข้างหนึ่ง จากนั้นดึงเข่าข้างนั้นให้ชิดหน้าอก โดยที่ขาอีกข้างยังอยู่ท่าเดิม เท้าติดพื้น
- ค่อย ๆ ยืดขาข้างที่ยกขึ้นออกช้า ๆ โดยประสานมือไว้ที่ด้านหลังเข่า
- ค้างไว้อย่างน้อย 20 วินาที
- ปล่อยขาลงช้า ๆ จากนั้นทำซ้ำโดยสลับขา
ท่ายืดต้นขา
- นอนตะแคงข้างโดยเหยียดขาทั้งข้างให้สุด งอเข่าของขาที่อยู่ด้านบน
- ประสานมือไว้ที่เท้าหรือข้อเท้าของขาข้างที่งอ ดึงเท้าไปยังแผ่นหลังส่วนบน ให้ระดับของหัวเข่าสองข้างเสมอกัน
- ค้างไว้อย่างน้อย 20 วินาที
- ปล่อยขาลงช้า ๆ จากนั้นทำซ้ำโดยสลับขา
ท่ายืดกล้ามเนื้อขา
- ทำท่าเตรียมวิดพื้น
- ยกขาข้างหนึ่งดึงเท้ามาด้านหน้า วางเท้าไว้ข้าง ๆ มือ โดยข้อเท้าและหัวเข่าต้องตั้งฉาก
- งอเข่าขาข้างที่เหยียดตรง จากนั้นวางเข่าบนพื้น
- กดช่วงสะโพกลงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยต้องยังรู้สึกสบาย ไม่เจ็บปวด
- ค้างไว้อย่างน้อย 20 วินาที
- กลับสู่ท่าเดิมช้า ๆ จากนั้นทำซ้ำโดยสลับขา
ท่ายืดกล้ามเนื้อไหล่
- ยืนกางขาเท่าความกว้างของสะโพก ยกแขนข้างหนึ่งขึ้นไปให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่รู้สึกเจ็บ
- เหยียดแขนที่ยืดขึ้นไปให้สุด พร้อมกับเหยียดแขนอีกข้างลงด้านล่างไปให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้
- ค้างไว้อย่างน้อย 20 วินาที
- ปล่อยแขนทั้ง 2 ข้างลงช้า ๆ จากนั้นทำซ้ำโดยสลับแขน
ท่ายืดเหยียดเหนือศีรษะ
- ยืนกางขาเท่าความกว้างของสะโพก งอแขนข้างหนึ่งและวางมือบนสะโพก
- ยกแขนอีกข้างขึ้นไปเหนือศีรษะ และเอนตัวไปยังทิศทางของแขนข้างที่งอให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยต้องยังรู้สึกสบาย ไม่เจ็บปวด
- ค้างไว้อย่างน้อย 20 วินาที
- ปล่อยแขนทั้ง 2 ข้างลงช้า ๆ จากนั้นทำซ้ำโดยสลับแขน
ท่าปีกผีเสื้อ
-
- นอนหงาย งอเข่า ดึงข้อเท้าให้ชิดกัน
- วางมือข้างหนึ่งบนเข่าแต่ละข้าง ให้เข่าแยกห่างจากกันให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยต้องยังรู้สึกสบาย ไม่เจ็บปวด
- ค้างไว้อย่างน้อย 20 วินาที
แม้การออกกำลังกายบางประเภทอาจช่วยลดอาการกระดูกสันหลังคดได้ แต่แผนการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและปริมาณความคดงอของกระดูกสันหลัง
หากมีคำถาม โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ