backup og meta

สะเก็ดเงิน (Psoriasis)

สะเก็ดเงิน (Psoriasis)

สะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ ทำให้เซลล์ผิวหนังเกิดการแบ่งตัวไม่สมบูรณ์จนผลิตจำนวนเซลล์ผิวหนังเร็วเกินไป จนเกิดเป็นผื่นแดงขนาดเล็ก ๆ ตกสะเก็ดสีขาวหรือเห็นเป็นสีเงิน เป็นขุยโดยรอบและทำให้เกิดอาการคัน เฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผิวหนังหรือทั่วร่างกาย มีทั้งระดับเบาและรุนแรง เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงบรรเทาอาการ ไม่ใช่โรคติดต่อ เป็นโรคที่ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม

[embed-health-tool-bmi]

คำจำกัดความ

สะเก็ดเงิน คืออะไร

สะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นภาวะผิดปกติของเซลล์ผิวหนังที่ผลิตขึ้นมาเร็วเกินไป และเกิดการสะสม ทำให้ผิวหนังเกิดสะเก็ดสีขาวหรือสีเงิน แห้ง เป็นขุย  มีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง มักเกิดอาการคันอย่างหนัก ความรุนแรงของโรคมักเริ่มต้นจากความเครียด การติดเชื้อ การสัมผัสสภาพอากาศที่เย็นและแห้ง โรคอ้วน  ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง หรืออาจจะเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด

สะเก็ดเงินพบได้บ่อยได้แค่ไหน

สะเก็ดเงินนั้นพบได้มากทั่วไปในผู้ใหญ่ แต่เป็นโรคที่ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม ผู้ที่เป็นส่วนใหญ่มีความผิดปกติในยีนอยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อสัมผัสกับปัจจัยที่ไปกระตุ้นทำให้อาการของโรคแสดงออกขึ้นมาชัดเจน

อาการ

อาการของสะเก็ดเงินเป็นอย่างไร

สัญญาณและอาการของโรคสะเก็ดเงินนั้น แตกต่างกันไปตามแต่ละคน ซึ่งโดยปกติอาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • รอยหย่อมสีแดงบนผิวหนังที่ปกคลุมด้วยเกล็ดสีเงิน
  • ตกสะเก็ดเป็นหย่อม ๆ (มักพบในเด็ก)
  • ผิวแห้ง แตก และอาจมีเลือดออก
  • มีอาการคัน แสบร้อน หรือเจ็บ
  • เล็บหนา หยาบ หรือเล็บแคบ
  • ข้อต่อบวมและแข็งเกร็ง

ผิวหนังที่มักจะได้รับผลกระทบ คือ หนังศีรษะ ใบหน้า ข้อศอก มือ เข่า เท้า หน้าอก หลังส่วนล่าง และรอยพับระหว่างก้น เล็บนิ้วมือและนิ้วเท้าก็มักจะมีความเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

1 ใน 4 ของผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน จะทำให้อาการของโรคข้ออักเสบแย่ลง เมื่อโรคสะเก็ดเงินนั้นรุนแรงขึ้น อาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้ามีข้อสงสัยใด ๆ เกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาาคุณหมอ

ควรไปพบคุณหมอเมื่อไร

หากสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคสะเก็ดเงิน ควรไปหาคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย และรีบหาทางป้องกันและบรรเทาอาการของโรค เพราะหากปล่อยไว้โรคสะเก็ดเงินอาจก่อให้เกิดภาวะดังต่อไปนี้

  • แผลบนผิวหนังลุกลามมากเกินกว่าขั้นที่ทำให้รำคาญ แต่ทำให้รู้สึกไม่สบายและเจ็บปวด
  • ทำให้กังวลเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของผิวหนัง
  • ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อ เช่น ปวด บวม หรือไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้
  • ทำให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามปกติเป็นไปได้ยาก

หากมีอาการใด ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น หรือมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอ เนื่องจาก ร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดจึงควรพูดคุยกับคุณหมอด้านผิวหนังเฉพาะทาง เพื่อหาแนวทางในการรักษาที่ดีที่สุด

สาเหตุ

สาเหตุของสะเก็ดเงิน

ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคสะเก็ดเงิน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันตัวเอง หรือที่เจาะจงกว่านั้นคือ หนึ่งเซลล์ที่เป็นหัวใจหลัก คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า “ที ลิมโฟไซท์ (T Lymphocyte)” หรือ “ทีเซลล์ (T Cell)” โดยปกติแล้ว ทีเซลล์มักจะเดินทางไปทั่วร่างกาย เพื่อตรวจจับและต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย แต่หากเป็นสะเก็ดเงิน ทีเซลล์จะทำการโจมตีเข้าที่เซลล์ผิวหนังที่สุขภาพดีด้วยความเข้าใจผิด เหมือนเป็นการรักษาแผลหรือต่อสู้กับการติดเชื้อ โดยที่โรคสะเก็ดเงินนั้นไม่ใช่การติดเชื้อหรือโรคมะเร็ง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดสะเก็ดเงิน

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสะเก็ดเงิน มีดังนี้

  • มีบาดแผลที่ผิวหนัง เช่น รอยบาด รอยถลอก แผลแมลงกัด และแดดเผา
  • การดื่มสุรามากเกินไป
  • การสูบบุหรี่
  • ความเครียด
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะในผู้หญิง เช่น ในช่วงวัยแรกรุ่น วัยหมดประจำเดือน
  • กำลังรับประทานยาบางชนิด เช่น ลิเธียม (Lithium) ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial) บางชนิด ยาต้านอักเสบบางชนิด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ตัวยับยั้งแองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติงเอนไซม์ (ACE Inhibitors) ที่ใช้เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูง และยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta Blockers) ที่ใช้เพื่อรักษาโรคหัวใจวาย
  • เจ็บคอ
  • สภาวะความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอื่น ๆ เช่น เอชไอวี อาจทำเกิดโรคสะเก็ดเงิน หรือทำให้โรคปะทุได้ง่ายขึ้น

การไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่า จะไม่เสี่ยงเป็นโรคสะเก็ดเงิน ควรหมั่นดูแลสุขภาพ และสังเกตตนเอง หากพบอาการผิดปกติใด ๆ ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคสะเก็ดเงินควรรีบเข้าปรึกษาคุณหมอทันที 

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยสะเก็ดเงิน

คุณหมอสามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้ด้วยการตรวจสอบดูที่ผิวหนัง เล็บ และหนังศีรษะ นอกจากนั้น คุณหมออาจทำการตัดชิ้นเนื้อผิวหนังส่วนเล็ก ๆ ไปเพื่อตรวจ หากการวินิจฉัยในเบื้องต้นนั้นยังไม่ชัดเจน 

การรักษาสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาอาจช่วยควบคุมอาการของโรคได้

ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นโรคสะเก็ดเงิน และควรใช้ยาที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งมา เพื่อควบคุมและบรรเทาอาการของโรค มาตรการในการรักษาทั่วไป ได้แก่ การรักษาความสะอาดของผิวหนังให้ดี หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่ผิวหนังและความแห้ง เปิดรับแสงแดดในระดับปานกลาง และใช้ข้าวโอ๊ตสำหรับผสมน้ำอาบ

การรักษาโรคสะเก็ดเงินในระดับเบาจนถึงระดับปานกลางนั้น มีทั้งการใช้ครีมทาเฉพาะที่ โลชั่น แชมพู และขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของน้ำมันดิน (Coal Tar) ซึ่งจะช่วยลดอาการอักเสบ รอยแดง การตกสะเก็ด และอาการคัน ยาสเตียรอยด์ และยาต้านอักเสบอื่น ๆ สำหรับทาลงบนผิวหนังเฉพาะที่นั้น ใช้สำหรับอาการในระดับเบาจนถึงปานกลาง และใช้เป็นการรักษาแบบผสมผสานสำหรับอาการในระดับรุนแรง

การรักษาแบบอื่น ๆ อาจมีทั้งการใช้กรดซาลิไซลิกในน้ำมันมิเนอรัล เพื่อกำจัดคราบ การฉายแสงอัลตร้าไวโอเล็ตเอ ร่วมกับยาซอลาเร็น (PUVA) ยาสำหรับกดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) หรือยาไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) สำหรับอาการคัน และยาปฏิชีวนะ สำหรับการติดเชื้อแบบทีเรียแบบทุติยภูมิ (Secondary Bacterial Infections)

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือการเยียวยาตนเองที่จะช่วยจัดการกับสะเก็ดเงิน

ลักษณะไลฟ์สไตล์และการเยียวยาด้วยตนเองต่อไปนี้ อาจจะช่วยรับมือกับโรคสะเก็ดเงิน

  • รับประทานยาตามที่แพทย์กำหนด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทั้งหมดที่คุณที่คุณกำลังใช้ รวมถึงยาที่หาซื้อได้เอง
  • ให้ผิวได้เปิดรับแสงแดดบ้าง
  • รักษาความสะอาดของผิวให้ดี
  • ไปพบหมอตามนัดทุกครั้ง
  • เฝ้าสังเกตผิวหนังของคุณสำหรับการฟื้นฟู และการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมีสัญญาณคือรอยแดงรอบ ๆ แผล น้ำหนอง อาการปวดหรือบวมที่แผล หรือต่อมน้ำเหลือง และไข้
  • หลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่ผิวหนังและผิวแห้ง เนื่องจากอาจกระตุ้นให้เกิดการปะทุได้

ติดต่อแพทย์หากมีอาการเหล่านี้ ได้แก่

  • มีสัญญาณของการติดเชื้อปรากฏขึ้น
  • รอยแผลมีอาการแย่ลง หรือเกิดแผลใหม่แม้จะรักษาแล้ว
  • มองเห็นตุ่มหนองที่ผิวหนัง โดยเฉพาะเกิดขึ้นพร้อมกับเป็นไข้ เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการปวดหรือบวมที่ข้อต่อ

หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นถึงทางออกที่ดีที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Psoriasis. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/psoriasis.html. Accessed December 31, 2022.

Psoriasis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/psoriasis/basics/causes/con-20030838. Accessed December 31, 2022.

5 Signs & Symptoms of Psoriasis. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/psoriasis/psoriasis-signs-symptoms. Accessed December 31, 2022.

OverviewPsoriasis. https://www.nhs.uk/conditions/psoriasis/. Accessed December 31, 2022.

About Psoriasis. https://www.psoriasis.org/about-psoriasis/. Accessed December 31, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/12/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

สะเก็ดเงิน กับเคล็ดลับเรื่องบนเตียงที่ควรรู้

เด็กเป็นสะเก็ดเงิน การรักษาและวิธีดูแลที่ควรรู้


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา