backup og meta

ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ สาเหตุ อาการ วิธีรับมือ

ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ สาเหตุ อาการ วิธีรับมือ

ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ (common cold and flu) เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและสามารถแพร่กระจายได้เหมือนกัน และอาจมีอาการคล้ายคลึงกันมากในช่วงแรกของการติดเชื้อ แต่โรคไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงกว่า และทั้งสองโรคนี้แตกต่างกันชัดเจนตรงเชื้อก่อโรค ทั้งนี้ การสังเกตความแตกต่างของอาการให้ดี อาจช่วยให้สามารถรับมือกับไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น

[embed-health-tool-bmr]

ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ที่อาจมีอาการคล้ายคลึงกันมากในช่วงแรกของการติดเชื้อ

โรคไข้หวัดธรรมดา หรือที่เรียกว่า ไข้หวัด (common cold) เป็นการติดเชื้อที่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งส่งผลกระทบในเบื้องต้นต่อจมูก และอาจส่งผลต่อลำคอ ไซนัส และกล่องเสียง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไรโนไวรัส (Rhinovirus) มาจากภาษาละตินแปลว่า จมูก แต่ก็อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้เช่นกัน โรคนี้ไม่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ แต่เกิดจากการรับเชื้อโรคมาจากผู้อื่น ไข้หวัดมักพบในช่วงอากาศหนาว เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่คนมักอยู่ใกล้ชิดกันมากขึ้น จึงทำให้เชื้อโรคมีโอกาสแพร่เชื้อได้

สัญญาณและอาการไข้หวัดอาจเกิดขึ้นภายในเวลา 2 วันหลังจากสัมผัสกับเชื้อโรค โดยอาการไข้หวัดธรรมดา อาจแตกต่างกันไปตามเชื้อก่อโรค หากเป็นไข้หวัดจากเชื้อไวรัส มักมีอาการไอ จาม เจ็บคอ น้ำมูกไหล อาจปวดศีรษะ และมีไข้ หากเป็นไข้หวัดจากเชื้อแบคทีเรีย มักมีอาการมีไข้ ไม่มีอาการไอจาม ต่อมทอนซิลและต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรบวมและกดเจ็บ

โดยปกติ อาการไข้หวัดธรรมดาจากเชื้อไวรัสมักเริ่มด้วยอาการเจ็บคอ ซึ่งมักจะหายไปหลังจากผ่านไป 1-2 วัน จากนั้นในวันที่ 4 หรือวันที่ 5 ของการติดเชื้อ จะเริ่มมีอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และอาการไอจาม ผู้ใหญ่มักไม่พบอาการไข้หรืออาจเป็นไข้อ่อน ๆ แต่หากเป็นเด็กมักมีอาการไข้ด้วยอาการมักดีขึ้นภายใน 7-10 วัน แต่บางอาการอาจคงอยู่นานถึง 3 สัปดาห์ และในบางครั้งอาจทำให้ปอดอักเสบ (ปอดบวม) ด้วย

ส่วนไข้หวัดใหญ่ (Flu) คือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนที่มีสาเหตุมาจากไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และจะแพร่กระจายเมื่อผู้ติดเชื้อไอจาม อาการของไข้หวัดใหญ่มักจะรุนแรงกว่าและเกิดได้เร็วกว่าอาการไข้หวัดธรรมดา โดยอาการมีตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงรุนแรง เมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการที่พบได้บ่อยที่สุด คือ มีไข้สูง น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย อาการเหล่านี้มักจะเกิดภายใน 2 วันหลังจากสัมผัสเชื้อ มักจะมีอาการนานเกินสัปดาห์ และอาการไออาจอยู่นานเกิน 2 สัปดาห์ สำหรับเด็กอาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียน ซึ่งไม่ค่อยพบในผู้ใหญ่ หรือหากเป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 (Swine Flu) ก็อาจทำให้มีอาการอาเจียนและท้องร่วงร่วมด้วย

ทั้งนี้ ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยมาก สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในทารก ผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคหรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยและรักษาโรคอย่างรวดเร็ว สามารถหยุดไม่ให้ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่แย่ลงได้ ดังนั้น หากมีสัญญาณหรืออาการที่ระบุข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น

ปัจจัยเสี่ยงเกิดไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่

ปัจจัยเสี่ยงมีหลายประการ เช่น

  • สภาพความเป็นอยู่ ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่คนพลุกพล่าน เช่น สถานพยาบาล โรงเรียน จะยิ่งเสี่ยงเป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
  • ระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ การรักษามะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน (anti-rejection drugs) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) การติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง และติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ด้วย
  • โรคเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด โรคเบาหวาน โรคหัวใจ อาจเพิ่มความเสี่ยงได้
  • การตั้งครรภ์ ผู้หญิงตั้งครรภ์มักมีเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในช่วงไตรมาสที่สองและสามของการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงสองสัปดาห์หลังคลอดบุตร ทั้งยังอาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากขึ้นด้วย

การวินิจฉัยและการรักษาไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรค ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่

แม้ว่า ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ จะเป็นสองโรคที่แตกต่างกัน แต่แพทย์ก็สามารถตรวจวินิจฉัยทั้งสองโรคนี้ได้ด้วยวิธีที่ใกล้เคียงกัน โดยอาจเริ่มจากการตรวจร่างกายเบื้องต้น และการมองหาสัญญาณและอาการของโรค

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ก็อาจตรวจคัดกรองไข้หวัดใหญ่ด้วยวิธี Polymerase Chain Reaction หรือ PCR เพื่อตรวจดูว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่หรือไม่ หากเป็น เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใด

การรักษาไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่

การรักษาไข้หวัดมักเป็นการรักษาตามอาการ โดยทั่วไปคือ การใช้ยาบรรเทาอาการไข้หวัดธรรมดาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา เช่น ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ ยาในกลุ่ม NSAIDs ยาแก้เจ็บคอ ยาขับเสมหะ ร่วมกับการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ มักรักษาตามอาการร่วมกับการดูแลตัวเองเช่นเดียวกับโรคหวัด แต่หากเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านไวรัสเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยหายเร็วขึ้น ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี ถือเป็นวิธีป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ

วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ
  • ไม่นอนขณะผมเปียก
  • เช็ดตัว เพื่อบรรเทาอุณหภูมิของร่างกาย
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ และอาหารที่มีวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินซี
  • หลีกเลี่ยงการออกไปที่ชุมชนเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

หากคุณพบว่ามีอาการรุนแรง หรืออาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cold and flu. http://www.webmd.com/cold-and-flu/flu-guide/flu-emergency-when-to-call-doctor#1. Accessed January 20, 2022

Cold and flu. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/flu/diagnosis-treatment/treatment/txc-20248141. Accessed January 20, 2022

Cold and flu. https://www.codral.com.au/cold-and-flu-symptoms. Accessed January 20, 2022

Diagnosing Flu. https://www.cdc.gov/flu/symptoms/testing.htm. Accessed January 20, 2022

The Difference Between Cold and Flu. https://www.cdc.gov/flu/symptoms/coldflu.htm. Accessed January 20, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/03/2023

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: Pattarapa Thiangwong


บทความที่เกี่ยวข้อง

ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แตกต่างจาก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B อย่างไร

หวัดลงคอ อาการ สาเหตุ การรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา