หลายคนน่าจะเคยได้ยินความเชื่อที่ว่า เวลาออกกำลังกาย จะต้องออกให้มีเหงื่อเยอะ ๆ เพราะถ้าไม่มีเหงื่อ ก็ไม่ได้เผาผลาญ เหมือนกับไม่ได้ออกกำลังกาย แต่การที่เราออกกำลังกายจนมี เหงื่อออกมาก จะเท่ากับ เผาผลาญมาก จริงหรือเปล่า มาลองหาคำตอบร่วมกัน กับ Hello คุณหมอ กันเลยค่ะ
เหงื่อ เกิดขึ้นได้อย่างไร
เหงื่อ นั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการขับของเสียตามธรรมชาติของร่างกาย เพื่อช่วยระบายความร้อนภายในร่างกายออกไป ทำให้ร่างกายเย็นลง เหงื่อนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนในร่างกาย แต่จะพบได้มากในบริเวณรักแร้ ใบหน้า ฝ่ามือ ข้อศอก และฝ่าเท้า
ร่างกายของเรานั้นจะจะมีต่อมเหงื่ออยู่มากกว่า 3 ล้านต่อม ทั่วร่างกาย แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ ต่อม Eccrine sweat gland และต่อม Apocrine sweat gland
- Eccrine sweat gland ต่อมเหงื่อประเภทนี้จะอยู่ทั่วทุกส่วนในร่างกาย แต่จะพบได้มากในบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และหน้ามัก หน้าที่หลักของต่อมเหงื่อนี้คือขับเหงื่อเพื่อช่วยควบคุมระดับอุณหภูมิของร่างกาย เหงื่อที่มาจากต่อมเหงื่อนี้จะไม่มีกลิ่น
- Apocrine sweat gland ต่อมเหงื่อชนิดนี้จะพบได้บริเวณที่มีรูขุมขนมาก เช่น รักแร้ ขาหนีบ และกะโหลกศีรษะ และจะผลิตเหงื่อที่มีความเข้มข้นสูง และมีกลิ่นแรง ทำให้เกิดเป็นกลิ่นตัวนั่นเอง
ยิ่ง เหงื่อออกมาก ยิ่ง เผาผลาญมาก จริงรึเปล่า
หลายคนนั้นมีความเชื่อว่า การจะออกกำลังกายให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เผาผลาญ พลังงานได้มากที่สุด จะต้องออกกำลังกายให้มีเหงื่อออกมาก ๆ บางส่วนถึงกับเชื่อว่า หากเราออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศร้อน จะยิ่งเร่งการขับเหงื่อ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาผลาญได้ แต่ในความจริงแล้ว ปริมาณของเหงื่อที่ร่างกายเราขับออกมาขณะออกกำลังกายนั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไร กับปริมาณการเผาผลาญพลังงานเลย
บางคนอ้างว่า วิธีการออกกำลังกายอย่างโยคะร้อน ซึ่งเป็นการออกกำลังกายในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ ให้อยู่ระหว่าง 36-37 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 1 ชั่วโมง จะสามารถช่วยให้ร่างกายเรา เผาผลาญ พลังงานได้มากถึง 1,000 กิโลแคลอรี่ แต่มีงานวิจัยที่ออกมาลบล้างความเชื่อนั้น เพราะจากผลการสำรวจปริมาณการ เผาผลาญ แคลอรี่ ในกลุ่มผู้ที่เล่นโยคะร้อนเป็นเวลา 90 นาที พบว่ามีการเผาผลาญพลังงาน เฉลี่ยอยู่ที่เพียงแค่ 330-460 กิโลแคลอรี่ เทียบเท่ากับการเดินเร็วเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเท่านั้น
นอกจากนี้ การออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ทำให้เรามีเหงื่อออกมาก เช่น การว่ายน้ำ โยคะ ยกน้ำหนัก หรือการออกกำลังกายในช่วงที่มีอากาศเย็น ก็ไม่ทำให้เรามีเหงื่อออกมากนัก แต่ก็ยังสามารถทำให้ร่างกายของเราเผาผลาญพลังงานได้ตามปกติอยู่ดี ในทางกลับกัน หากเราออกกำลังกายในวันที่มีอากาศร้อน เหงื่อของเราก็จะออกมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่การเดินไม่กี่นาทีเท่านั้น
ที่ควรรู้เกี่ยวกับเหงื่อ
ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก ที่สามารถส่งผลกระทบต่อปริมาณของเหงื่อที่ร่างกายเราผลิตออกมา ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม การดื่มน้ำ สภาพอากาศ หรือแม้กระทั่งโรคแฝงต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญคือ การรักษาระดับปริมาณของน้ำที่เราได้รับ ว่าเพียงพอต่อเหงื่อที่เราสูญเสียไปหรือไม่ ยิ่งโดยเฉพาะหากคุณออกกำลังกายอย่างหนัก หรือออกกำลังกายในที่ที่มีอากาศร้อน ก็ควรจิบน้ำบ่อย ๆ หรือดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ ที่อาจจะนำไปสู่สภาวะที่อันตรายต่อร่างกายอื่น ๆ นั่นเอง
[embed-health-tool-bmi]