backup og meta

รู้หรือไม่? นั่งอยู่แต่ใน ห้องแอร์ ทั้งวัน สุขภาพอาจแย่ได้โดยไม่รู้ตัว

รู้หรือไม่? นั่งอยู่แต่ใน ห้องแอร์ ทั้งวัน สุขภาพอาจแย่ได้โดยไม่รู้ตัว

ด้วยสภาพอากาศที่สุดแสนจะร้อนอบอ้าวตลอดทั้งปีของบ้านเรา ร้อนมากเสียจนอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีแค่เพียง 3 ฤดูกาล คือ ร้อน ร้อนมาก ร้อนมากที่สุด!

แน่นอนว่าพระเอกสำหรับการคลายร้อนของบ้านเราก็คือเครื่องปรับอากาศ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า แอร์ซึ่งขีดความสามารถของเครื่องปรับอากาศในยุคปัจจุบัน ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การช่วยคลายความร้อนเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถจะกรองอากาศ ช่วยลดแบคทีเรีย แถมยังดีต่อสุขภาพของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอีกด้วย ประโยชน์มากมีจนอยากจะนอนอยู่แต่ในห้องแอร์ทั้งวันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ เครื่องปรับอากาศ จะมีประโยชน์มากก็จริง ทว่าการอยู่แต่ใน ห้องแอร์ นาน ๆ อาจมีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าที่คุณคิดด้วยเช่นกัน Hello คุณหมอ จะพาคุณผู้อ่านมาดูกันว่า ข้อเสียของการอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ มีอะไรบ้าง

เครื่องปรับอากาศให้ประโยชน์ได้เหมือนกัน

ยามอากาศร้อน เครื่องปรับอากาศถือเป็นตัวช่วยชั้นดีที่จะทำให้คุณร้อนพ้นจากสภาวะอากาศอันร้อนอบอ้าว อากาศที่ร้อนจัดจากภายนอกอาคารหรือบ้านเรือน เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการทางสุขภาพมากมาย ตั้งแต่เป็นการเป็นลมหมดสติ ร่างกายสูญเสียน้ำ มีอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้แดด แพ้เหงื่อ แต่การมี เครื่องปรับอากาศ จะช่วยฟอกอากาศ กรองมลพิษ กรองสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และแน่นอนว่าช่วยในการคลายความร้อนได้เป็นอย่างดี สำหรับผู้ที่มีอาการทางสุขภาพ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เมื่อต้องอยู่ในสภาวะอากาศที่ร้อนจัดจนทนไม่ไหว การอยู่ในห้องแอร์ช่วยให้อาการหรือความเสี่ยงทางสุขภาพไม่กำเริบจนเป็นอันตราย

เครื่องปรับอากาศส่งผลต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง

แม้จะคงประโยชน์หลักในการคลายความร้อน แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้แอร์ในปัจจุบันสามารถที่จะจัดการให้สภาพอากาศภายในห้องบริสุทธิ์ และลดแบคทีเรีย เชื้อรา หรือฝุ่นละอองได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีผลกระทบต่อสุขภาพบางประการที่ผู้ใช้งานเครื่องปรับอากาศควรคำนึงถึง ดังนี้

ผิวแห้ง

การอยู่ในห้องที่มีการทำงานของ เครื่องปรับอากาศ และมีอุณหภูมิที่เย็นเป็นระยะเวลานาน ๆ จะส่งผลให้มีอาการผิวแห้ง ผิวแตก ลอกเป็นขุย บางครั้งอาจรู้สึกคันในบริเวณที่ผิวแห้งด้วย

อุณหภูมิเปลี่ยนแปลง

ในขณะที่สภาพอากาศภายในห้องแอร์เย็นสบาย แต่อากาศภายนอกอาจจะกำลังร้อนระอุ และการเดินเข้าออกห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศบ่อยครั้ง ร่างกายก็เหมือนกับมีการสลับอุณหภูมิ จากเย็นไปร้อน จากร้อนไปเย็น หากสลับไปสลับมาเช่นนี้ตลอดทั้งวัน หรือนานครั้งเข้า ก็เสี่ยงที่จะทำให้ไม่สบาย รวมถึงเสี่ยงที่จะทำให้เยื่อบุจมูกระคายเคือง มีอาการน้ำมูกไหล จมูกอักเสบ หรือคัดจมูก เนื่องด้วยอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากภายในและภายนอกห้องแอร์แบบฉับพลัน ในบางรายอาจเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากการสัมผัสกับคลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อน

เป็นแหล่งของแบคทีเรีย

เครื่องปรับอากาศ ช่วยในการกรองมลพิษได้ก็จริง แต่แอร์ที่มีอายุการใช้งานนาน ๆ และยิ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแล ซ่อมแซม และทำความสะอาดอย่างเหมาะสม ก็เป็นแหล่งรวมของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา รวมถึงฝุ่นละอองต่าง ๆ 

มีผลต่อสุขภาพดวงตา

การนั่งในห้องแอร์นาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการตาแห้ง คันที่ดวงตา เนื่องจากการทำงานของ เครื่องปรับอากาศ ภายในห้องได้มีการลดความชื้นในอากาศ จนกระทั่งทำให้ตาแห้งและเกิดการระคายเคืองที่บริเวณดวงตา

อาการปวดต่าง ๆ

ผู้ที่ใช้เวลาอยู่ในห้องแอร์เป็นระยะเวลานาน ๆ มีแนวโน้มเสี่ยงที่จะมีอาการปวดศีรษะ ปวดหลัง และอ่อนเพลีย เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นหรือเย็นจัด จะมีผลกระทบต่อเส้นประสาทไทรเจมินัล (Trigeminal nerve) โดยจะทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ และส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ หรืออาการปวดอื่น ๆ

สุขภาพปอด

บางครั้ง เครื่องปรับอากาศ อาจมีผลกับสุขภาพของปอด เนื่องจากการสูดเอาอากาศที่เย็นจัดเข้าสู่ร่างกายอยู่ตลอดเวลา และอากาศภายในห้องไม่ได้มีการถ่ายเทเท่าที่ควรเพราะส่วนมากแล้ว ห้องที่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศมักจะไม่มีการเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ จึงอาจมีผลกระทบต่อปอดได้

มีผลต่อความดันโลหิต

นอกจากนี้ผลกระทบต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีผลการศึกษาที่ได้รับการนำเสนอใน The Central African Journal of Medicine แสดงให้เห็นว่า การอยู่ในห้องแอร์นาน ๆ มีผลทำให้ความดันเลือดพุ่งสูงขึ้นมากกว่าการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน หรือร้อนจัด เนื่องจากอากาศเย็นจะเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำ ทำให้หลอดเลือดเกิดการบีบตัวให้เล็กหรือแคบลง จนส่งผลต่อระดับความดันโลหิต

ปรับอุณหภูมิ ห้องแอร์ แบบไหนถึงจะเหมาะสม และดีต่อสุขภาพ

การปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศนั้น ถ้าใช้เหตุผลในเรื่องของการประหยัดไฟ ควรจะอยู่ที่ 25-28 องศาเซลเซียส แต่การตั้งอุณหภูมิในช่วงที่มีอากาศร้อนจัดอย่างในช่วงฤดูร้อนนั้น ผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำสำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ ไม่ควรต่ำกว่า 24 องศา โดยช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับหน้าร้อนจะอยู่ระหว่าง 24-28 องศาเซลเซียส ถือเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมกับร่างกาย และไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ

เครื่องปรับอากาศ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสุดยอดเครื่องมือในการคลายความร้อน แต่ในขณะเดียวกัน การนั่งอยู่แต่ในห้องแอร์ทั้งวันก็มีความเสี่ยงต่อสุขภาพได้ ควรปรับอุณหภูมิห้องให้มีความเหมาะสม ไม่หนาวจนเกินไป หรือร้อนจนอากาศไม่ต่างจากภายนอก และถ้าหากรู้สึกถึงอาการทางสุขภาพใด ๆ ควรรีบเช็คสภาพร่างกายตนเองหรือไปพบคุณหมอเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยตั้งแต่เนิ่น ๆ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Could Your Air Conditioner Be Making You Sick?. https://www.consumerreports.org/indoor-air-quality/could-your-air-conditioner-be-making-you-sick/. Accessed on February 17, 2020.

Top 10 health risks of Air Conditioning. https://www.medclique.org/environment/long-term-health-risks-air-conditioning/. Accessed on February 17, 2020.

Cooling and air conditioning. https://www.who.int/sustainable-development/housing/strategies/air-conditioning/en/. Accessed on February 17, 2020.

Best Setting for Your Central Air Conditioning. https://www.consumerreports.org/central-air-conditioners/best-setting-for-central-air-conditioning/. Accessed on February 17, 2020.

FOLLOWING GOVT MANDATE ON AC TEMP AT 24 DEGREES IS GOOD FOR YOU AND THE ENVIRONMENT. https://www.firstpost.com/tech/science/following-govt-mandate-on-ac-temp-at-24-degrees-is-good-for-you-and-the-environment-4588511.html. Accessed on February 17, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคไวรัสตับอักเสบบี คือโรคอะไร ใครควรได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี

เป็นหวัด มีสาเหตุจากฝนตก อากาศเย็น จริงหรือไม่


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา