backup og meta

น้ำแข็งแห้ง อันตรายใกล้ตัว ที่เราอาจจะคาดไม่ถึง

น้ำแข็งแห้ง อันตรายใกล้ตัว ที่เราอาจจะคาดไม่ถึง

น้ำแข็งแห้ง เป็นสิ่งที่คนนิยมนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น การถนอมอาหาร การแช่แข็ง การขนส่ง รวมไปถึงอาจใช้เพื่อสร้างหมอกควันเพื่อประกอบการแสดงต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม น้ำแข็งแห้งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรศึกษาเกี่ยวกับอันตรายของ น้ำแข็งแห้ง และวิธีการจัดการและเก็บรักษาน้ำแข็งแห้งอย่างปลอดภัยมาฝากกัน

[embed-health-tool-heart-rate]

น้ำแข็งแห้ง คืออะไร

น้ำแข็งแห้ง คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่แข็งตัว ได้มาจากการใช้แรงดันทำให้ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดความเย็น จนควบแน่นกลายเป็นของเหลว และกลายเป็นน้ำแข็งในที่สุด น้ำแข็งแห้งนั้นอาจมีอุณหภูมิติดลบถึง -78.5 องศาเซลเซียส หรือน้อยกว่านั้น ในขณะที่น้ำแข็งปกติจะอยู่ที่อุณหภูมิประมาณ 0 องศาเซลเซียส และเมื่อน้ำแข็งแห้งจะระเหิดกลับคืนสู่รูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยไม่มีการละลายกลายเป็นของเหลว

น้ำแข็งแห้งได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในทางด้านต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมอาหาร เช่น ไอศกรีม อาหารแช่แข็ง หรืออาหารแปรรูปต่างๆ ทั้งยังใช้เพื่อถนอมอาหารและแช่ฟรีสผักผลไม้ต่างๆ ในระหว่างการขนส่งในระยะทางไกล น้ำแข็งแห้งนั้นยังอาจนำมาใช้ทำเป็นหมอกควัน เพื่อใช้ในการแสดงต่างๆ หรือในทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เช่น แช่เย็นยา และสารเคมีบางชนิด เป็นต้น

อันตรายของการใช้น้ำแข็งแห้ง

แม้ว่า น้ำแข็งแห้ง นั้นอาจจะมีประโยชน์ในทางด้านต่างๆ มากมาย แต่น้ำแข็งแห้งก็มีอันตรายมากเช่นกัน โดยเฉพาะหากใช้โดยขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่ระมัดระวังให้ดีพอ อันตรายจากน้ำแข็งแห้งอาจมีดังต่อไปนี้

อันตรายจากการสัมผัส

น้ำแข็งแห้งนั้นมีอุณหภูมิที่เย็นจัด ถึง -78.5 องศาเซลเซียส หากเราจับน้ำแข็งแห้งด้วยมือเปล่า หรือให้น้ำแข็งแห้งมาสัมผัสโดยผิวหนังของเราโดยตรง จะทำให้ผิวไหม้จากความเย็นจัดอย่างรุนแรง (frostbite) เนื่องจากเซลล์ผิวหนังแข็งตัว และเสียหายอย่างรวดเร็ว

อันตรายจากการสูดดม

น้ำแข็งแห้งเมื่อระเหิดกลายเป็นไอ จะกลับไปอยู่ในรูปแบบของ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้สามารถเข้าแทนที่ออกซิเจนในอากาศได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในพื้นที่ปิดที่ไม่มีรูระบายอากาศอย่างภายในห้อง และสามารถทำให้เกิดอาการหายใจลำบากเนื่องจากขาดออกซิเจน และอาจส่งผลให้หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ในที่สุด

อันตรายจากการระเบิด

หากเราบรรจุน้ำแข็งแห้งไว้ในภาชนะปิด ที่ไม่มีช่องสำหรับระบายอากาศ อาจทำให้เกิดการระเหิดของ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาอย่างรวดเร็ว จนเกิดแรงดันภายในภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งแห้ง จนอาจเกิดการระเบิดได้

วิธีการจัดการและเก็บรักษาน้ำแข็งแห้งอย่างปลอดภัย

น้ำแข็งแห้งมีอุณหภูมิที่ -78.5 องศาเซลเซียส และมีทั้งรูปแบบเกล็ดน้ำแข็งแห้ง แผ่นน้ำแข็งแห้ง หรือก้อนน้ำแข็งแห้ง ดังนั้นจึงควรใช้ความระมัดระวังในการใช้น้ำแข็งแห้ง

ข้อควรระวังในการใช้น้ำแข็งแห้ง

  • ใช้คีมสำหรับคีบน้ำแข็งแห้ง อย่าสัมผัสน้ำแข็งแห้งโดยตรง
  • หากต้องหยิบจับน้ำแข็งแห้ง ควรสวมถุงมือหนาป้องกันความเย็น
  • สวมแว่นตาหรือเครื่องป้องกันใบหน้า รวมถึงเสื้อแขนยาวเพื่อป้องกันผิว

การเก็บรักษาน้ำแข็งแห้ง

  • ควรเก็บรักษาน้ำแข็งแห้งไว้ในภาชนะฉนวนความร้อน ยิ่งฉนวนหนาเท่าไหร่ น้ำแข็งแห้งก็จะ ระเหิด ช้าลงเท่านั้น
  • ภาชนะที่บรรจุน้ำแข็งแห้ง ควรมีช่องสำหรับระบายอากาศ เพื่อป้องกันการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จนเกิดการระเบิด
  • อย่าเก็บน้ำแข็งแห้งไว้ในห้องที่มีเพดานต่ำ ไม่มีลมเข้าออกไหลเวียน หรือห้องที่ไม่มีช่องระบายอากาศ เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่ระเหิดจะเข้าทดแทนออกซิเจน ทำให้ขาดอากาศหายใจ
  • อย่าเก็บน้ำแข็งแห้งไว้ในตู้เย็น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

น้ำแข็งแห้ง. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_toxic/a_tx_1_001c.asp?info_id=265. Accessed 5 March 2020
Working Safely with Dry Ice https://www.ehs.washington.edu/system/files/resources/dryice.pdf. Accessed 5 March 2020
Dry ice is common, yet hazardous https://www.ehs.washington.edu/about/latest-news/dry-ice-common-yet-hazardous. Accessed 5 March 2020
What is Dry Ice? https://www.health.ny.gov/publications/7081/index.htm. Accessed 5 March 2020
Safety Program – Dry Ice (Solid Carbon Dioxide) https://www.safetyinfo.com/written-safety-programs-dry-ice-solid-carbon-dioxide-safety-program-free-index/. Accessed 5 March 2020
Dry Ice Handling Procedures https://www.safety.rochester.edu/ih/dryicehandle.html. Accessed 5 March 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2024

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะตัวเย็นเกิน อันตรายที่มากับลมหนาว

โรคผิวหนังในหน้าร้อน ที่ควรระวัง และวิธีป้องกัน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 30/09/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา