อากาศในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้บ่อย ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจึงส่งผลให้โรคหลายชนิดแพร่ระบาดง่ายและรวดเร็ว การดูแลสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ อีกทั้งยังต้องระมัดระวังโรคที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่ออากาศเปลี่ยน
[embed-health-tool-heart-rate]
อากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ
อากาศมักจะเปลี่ยนแปลงจากร้อนมากไปอากาศหนาว หรือมีฝนตกแบบฉับพลัน อาจมีหลายสภาพอากาศในหนึ่งวันสำหรับบางพื้นที่ โดยเฉพาะช่วงเวลาเช้าตรู่และพลบค่ำ เช่น ช่วงเวลากลางวัน อากาศร้อนอบอ้าว แต่เมื่อฝนตกอากาศเย็นและเปียกชื้น หากร่างกายปรับตัวไม่ทันอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น
- โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และหัด
- โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษและอุจจาระร่วง
- โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
- โรคจากความร้อน
- โรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น โรคมาลาเรีย และโรคไข้เลือดออก
วิธีดูแลสุขภาพแต่ละช่วงวัย
ในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ต้องระมัดระวังสุขภาพมากเป็นพิเศษในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย โดยมีข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพ ดังนี้
- กลุ่มทารก : ทารกควรกินนมแม่เป็นประจำ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยเฉพาะทารกแรกเกิด-6 เดือน
- กลุ่มเด็กเล็ก : เด็กเล็กสามารถกินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนอายุครบ 2 ปี เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
- กลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน : ควรรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับช่วงวัย เลือกอาหารที่มีประโยชน์ดีต่อสุขภาพ พยายามลดความเครียดลง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยป้องกันโรคในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงได้
- กลุ่มผู้สูงอายุ : เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ลดหวาน มัน เค็ม และควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมจนเกินไป เช่น การเดินและรำมวยจีน
- ผู้มีโรคประจำตัว : ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังควรตรวจร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช็คค่าความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
การรับมือกับเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง
- เลือกรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม ฝรั่ง ในทุกมื้ออาหาร จะช่วยป้องกันไข้หวัดและส่งผลดีต่อสุขภาพ
- การปรุงอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ควรปรุงอาหารให้สุกก่อนการบริโภคทุกครั้ง เลือกใส่ในภาชนะที่สะอาด ปลอดภัย
- ไม่รับประทานอาหารค้างคืน
- น้ำดื่มต้องเป็นน้ำสะอาด โดยจิบน้ำตลอดทั้งวันอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว หากอากาศเย็นหรือมีฝนตก อาจเลือกดื่มน้ำอุ่นได้
- หากอากาศหนาวควรสวมเสื้อผ้าหนา ๆ เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- เมื่ออากาศร้อนควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายความร้อนได้ดี เนื้อผ้าใส่สบาย เช่น ผ้าฝ้าย
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลานานในช่วงที่อากาศร้อนจัด หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการเข้าห้องน้ำ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นประจำ ให้เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง หรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 30 นาที เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทาน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ถ่ายเทสะดวก ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป
- ช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ควรลดและหลีกเลี่ยง การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
- สวมหน้ากากอนามัย พร้อมหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ควรติดตามข่าวสารด้านการพยากรณ์อากาศเป็นประจำเพื่อวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพน้อยที่สุด หมั่นสังเกตอาการหรือติดตามความผิดปกติของร่างกายของตัวเองและคนใกล้ชิด หากพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์