หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์จับลูกบิดประตู เปิดประตูรถ เปิดก๊อกน้ำ แขนชนกับแขนเพื่อน แล้วโดนช็อตแปลบจนสะดุ้งโหยง โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว หรือช่วงที่อากาศแห้งมากๆ ก็ยิ่งโดนช็อตจนรำคาญ จะหยิบจับอะไรทีก็ระแวงไปหมด อาการช็อตที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ไฟฟ้าสถิต แต่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และจะป้องกันยังไงได้บ้าง วันนี้ Hello คุณหมอ มีคำตอบมาให้แล้ว
[embed-health-tool-bmr]
อะตอม… ตัวการทำให้เกิด ไฟฟ้าสถิต
อะตอม (Atom) เป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดของสสาร ประกอบด้วยอนุภาคมูลฐาน 3 ชนิด ได้แก่
- โปรตอน (Protons) มีประจุไฟฟ้าเป็นบวก
- อิเล็กตรอน (Electron) มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ
- นิวตรอน (Neutron) ไม่มีประจุไฟฟ้า
โดยปกติแล้ว เมื่ออะตอมเป็นอิสระจะมีจำนวนโปรตอนและอิเล็กตรอนเท่ากัน และมีสภาพเป็นกลางทางไฟฟ้า โปรตอนและนิวตรอนจะอยู่รวมกับเป็นแกนกลางที่เรียกว่านิวเคลียส (Nucleus) และมีอิเล็กตรอนวิ่งอยู่รอบ ๆ แต่หากจำนวนโปรตอนและอิเล็กตรอนไม่สมดุลกัน นั่นเท่ากับประจุไฟฟ้าขั้วบวกและขั้วลบภายในหรือบนพื้นผิววัสดุไม่เท่ากัน ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ไฟฟ้าสถิตได้
ทำไมบางคนถึงไม่มีปัญหา ไฟฟ้าสถิต
บางคนอาจมีแนวโน้มเกิดปรากฏการณ์ไฟฟ้าสถิตได้มากกว่าคนอื่น โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเกิดแรงดันไฟฟ้าสถิตประมาณ 2,000-4,000 โวลต์ ซึ่งอาจเป็นผลจากสาเหตุเหล่านี้
- มีความสามารถในการกักเก็บไฟฟ้าสถิตได้มากกว่าคนอื่น ขึ้นอยู่กับขนาดตัว ขนาดเท้า และความหนาของพื้นรองเท้า ยิ่งตัวใหญ่ เท้าใหญ่ และพื้นรองเท้าบางมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเก็บกักเก็บและเกิดไฟฟ้าสถิตได้มากเท่านั้น
- วัสดุของพื้นรองเท้า และวิธีการเดินก็ส่งผลต่อการเกิดไฟฟ้าสถิตได้เช่นกัน หรือหากเกิดไฟฟ้าสถิตตอนคุณนั่ง ก็อาจเป็นผลมาจากเนื้อผ้าของเสื้อผ้าที่คุณสวมใส่ หรือวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มเก้าอี้
- สภาพผิวก็ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตได้ ยิ่งผิวแห้งมาก ก็ยิ่งเกิดไฟฟ้าสถิตได้ง่าย
ช่วงอากาศแห้ง ทำไมยิ่งช็อต แล้วจะเป็นอันตรายไหม?
ไฟฟ้าสถิตมักเกิดในสภาพอากาศแห้งและเย็น โดยเฉพาะในบริเวณที่เปิดเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำความร้อน เนื่องจากเครื่องปรับอากาศจะทำให้อากาศยิ่งแห้ง ส่วนเครื่องทำความร้อนก็ทำให้ความชื้นในอากาศลดลง แต่หากอากาศชื้นขึ้น ปรากฏการณ์ไฟฟ้าสถิตก็จะหายไป
อย่างไรก็ตาม แม้ปรากฏการณ์ไฟฟ้าสถิตจะทำให้เรารำคาญ หรือสะดุ้งโหยงเพราะโดนช็อตแปลบแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรง อันตรายที่อาจเกิดจากไฟฟ้าสถิตมักเป็นอาการบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุ เช่น พอเกิดไฟฟ้าสถิตคุณก็รีบสะบัดแขนหนี แขนเลยไปกระแทกกับขอบโต๊ะ จนแขนบวมช้ำ
วิธีป้องกันไฟฟ้าสถิต จับอะไรก็ช็อต
คุณสามารถป้องกันไฟฟ้าสถิตได้ง่ายๆ ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- ไม่สวมใส่รองเท้าพื้นหนา และควรเดินเท้าเปล่าหากอยู่ในบ้าน
- ทาครีม หรือน้ำมันบำรุงผิว เช่น น้ำมันมะพร้าว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ป้องกันไม่ให้ผิวแห้งจนไฟฟ้าสถิต
- หากเส้นผมเกิดไฟฟ้าสถิตบ่อย การทำน้ำมันบำรุงผมก็สามารถช่วยลดไฟฟ้าสถิตได้
- เพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ให้อยู่ระหว่าง 40-50% โดยเฉพาะเมื่ออากาศแห้ง โดยคณสามารถเพิ่มความชื้นในอากาศได้โดยการใช้เครื่องทำความชื้น หรือปลูกต้นไม้ในบ้าน
- เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้าย แทนผ้าขนสัตว์ หรือเส้นใยสังเคราะห์อย่างไนลอน และโพลีเอสเตอร์
- หาผ้าหุ้มบริเวณที่จับที่เป็นโลหะ เช่น ลูกบิดประตู มือจับลิ้นชัก
- เอามือแตะกระจกรถก่อนเปิดประตูรถ เพราะกระจกจะช่วยกระจายประจุไฟฟ้า ป้องกันอาการช็อตเพราะไฟฟ้าสถิตได้