backup og meta

diabetes insipidus (โรคเบาจืด) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

diabetes insipidus (โรคเบาจืด) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา
diabetes insipidus (โรคเบาจืด) คืออะไร สาเหตุ อาการ และการรักษา

diabetes insipidus หรือ โรคเบาจืด เป็นโรคที่พบได้ยาก เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียความสมดุลของน้ำ ซึ่งมีผลมาจากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone หรือ ADH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากเกินไป อาจทำให้มีอาการกระหายน้ำมาก ปากแห้ง อ่อนเพลีย ปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้ง จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้

คำจำกัดความ

diabetes insipidus คืออะไร

diabetes insipidus หรือ โรคเบาจืด คือ โรคที่ทำให้ร่างกายผลิตปัสสาวะมากเกินไป โดยอาจปัสสาวะมากถึง 20 ลิตร/วัน ซึ่งผู้ที่มีร่างกายปกติจะปัสสาวะเฉลี่ยเพียง 1-2 ลิตร/วัน เท่านั้น ผู้ที่เป็นโรคเบาจืดจึงปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยครั้ง เนื่องจากมีอาการกระหายน้ำตลอดเวลาและดื่มน้ำมากขึ้น หรือเรียกว่า ภาวะดื่มน้ำมากผิดปกติ (Polydipsia)

โรคเบาจืดไม่เหมือนกับโรคเบาหวาน แม้ว่าจะมีอาการกระหายน้ำมากและมีการปัสสาวะมากขึ้นเหมือนกัน แต่โรคเบาหวานเกี่ยวข้องกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินไปและไตจะพยายามขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ ส่วนโรคเบาจืดจะมีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ แต่ไตมีความผิดปกติที่ไม่สามารถขับปัสสาวะได้อย่างเหมาะสม

อาการ

อาการของ diabetes insipidus

อาการของโรคเบาจืดอาจสังเกตได้ ดังนี้

  • กระหายน้ำและต้องการดื่มน้ำมากขึ้น
  • ปวดปัสสาวะมากขึ้น ประมาณ 20 ลิตร/วัน และปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน
  • ปัสสาวะมีสีซีด
  • ปวดกล้ามเนื้อ ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยล้า
  • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หมดสติ

อาการของโรคเบาจืดในทารกหรือเด็กเล็ก อาจมีดังนี้

  • ปัสสาวะรดผ้าอ้อมและที่นอน
  • นอนหลับยาก
  • มีไข้ อาเจียน น้ำหนักลดลง
  • ท้องผูก
  • การเจริญเติบโตล่าช้า

หากมีอาการปัสสาวะมากเกินไปและกระหายน้ำผิดปกติควรรีบพบคุณหมอทันทีเพื่อวินิจฉัยอาการ

สาเหตุ

สาเหตุของ diabetes insipidus

โรคเบาจืดมีสาเหตุมาจากร่างกายไม่สามารถปรับสมดุลของระดับของเหลวได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone หรือ ADH) ที่เกี่ยวข้องกับการขับปัสสาวะ โดยฮอร์โมนชนิดนี้จะผลิตจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) และเก็บไว้ในต่อมใต้สมอง ภาวะนี้จะทำให้เกิดการขาดฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกหรือขัดขวางการทำงานของฮอร์โมน ส่งผลให้เกิดการผลิตปัสสาวะมากเกินไป สาเหตุความผิดปกติของการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกอาจขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาจืด ดังนี้

  • โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง (Central Diabetes Insipidus) เกิดจากความเสียหายของต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัสเนื่องจากการผ่าตัด เนื้องอก อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือความเจ็บป่วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการผลิตฮอร์โมน การจัดเก็บและการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก นอกจากนี้ ความผิดปกตินี้อาจเกิดจากโรคทางพันธุกรรมที่สืบทอดกันมาได้เช่นกัน
  • โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต (Nephrogenic Diabetes Insipidus) เกิดจากการที่ไตไม่สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนแอนติไดยูเรติกได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้ อาจเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือโรคไตเรื้อรัง การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลิเธียม (Lithium) ยาต้านไวรัสกรดฟอสโฟโนเมทาโนอิก (Foscarnet)
  • โรคเบาจืดขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Insipidus) เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นได้น้อย อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์เนื่องจากเอนไซม์ที่ผลิตจากรกทำลายฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก
  • โรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของการดื่มน้ำ (Primary Polydipsia) เป็นภาวะทางจิตที่อาจทำให้เกิดการผลิตปัสสาวะมากขึ้น เนื่องจากการดื่มของเหลวในปริมาณมากเกินไป อาจก่อให้เกิดจากความเสียหายต่อกลไกการควบคุมความกระหายของเหลวในร่างกาย

ในบางกรณีอาจไม่มีสาเหตุของโรคเบาจืดที่ชัดเจนหรืออาจมีความผิดปกติที่เกิดจากภาวะภูมิต้านทานตนเองที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำลายเซลล์สำหรับสร้างฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของ diabetes insipidus

โรคเบาจืดอาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้

  • โรคเบาจืดมักเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่สร้างความผิดปกติให้กับไต ทำให้ปัสสาวะมากเกินไป
  • เคยผ่าตัดสมองหรือเคยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะมาก่อน
  • การรับประทานยาที่ก่อให้เกิดปัญหาไตหรือโรคไบโพลาร์บางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มลิเทียม (Lithium Carbonate) อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)
  • ความผิดปกติของการเผาผลาญที่ส่งผลให้แคลเซียมในเลือดสูงหรือระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ

ภาวะแทรกซ้อนของ diabetes insipidus

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นโรคเบาจืด คือ ภาวะขาดน้ำ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป อาจทำให้มีอาการกระหายน้ำ ปากแห้ง วิงเวียนศีรษะ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ เป็นลม สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงอาจนำไปสู่อาการชัก เนื่องจากสมองถูกทำลายอย่างถาวรและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรพบคุณหมอทันที หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ เซื่องซึมและเหนื่อยล้ามาก

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย diabetes insipidus

การวินิจฉัยโรคเบาจืดอาจทำได้ ดังนี้

  • การทดสอบภาวะขาดน้ำ คุณหมออาจให้หยุดดื่มของเหลวเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว ปริมาณปัสสาวะ ความเข้มข้นของปัสสาวะและเลือด จากนั้นคุณหมออาจวัดฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก เพื่อดูความเพียงพอของปริมาณฮอร์โมนในร่างกายและการตอบสนองของไตต่อฮอร์โมน
  • การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI) ตรวจหาความผิดปกติบริเวณต่อมใต้สมอง
  • การตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะมากเกินไป

การรักษา diabetes insipidus

การรักษาโรคเบาจืดอาจขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ดังนี้

  • การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของสมอง สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคเบาจืดเพียงเล็กน้อย คุณหมออาจให้ควบคุมปริมาณปัสสาวะด้วยการให้เพิ่มการดื่มน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำเนื่องจากปัสสาวะมากเกินไป แต่หากผู้ป่วยมีภาวะผิดปกติทางจิต อาจจำเป็นต้องลดปริมาณการดื่มน้ำลงร่วมกับการรักษาภาวะทางจิตร่วมด้วย แต่หากเกิดจากความผิดปกติภายในต่อมใต้สมองหรือไฮโปทาลามัส คุณหมออาจเริ่มรักษาจากสาเหตุของความผิดปกติก่อน จากนั้น คุณหมออาจสั่งยาเพิ่มเพื่อควบคุมการหลั่งฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก เช่น ฮอร์โมนสังเคราะห์เดสโมเพรสซิน (Desmopressin) คลอโพรพาไมด์ (Chlorpropamide)
  • การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของไต คุณหมออาจให้รับประทานอาหารที่มีเกลือน้อยเพื่อลดปริมาณการขับเกลือออกทางปัสสาวะ และต้องดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ จากนั้นอาจรักษาด้วยยาไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) เพื่อช่วยควบคุมการปัสสาวะ
  • การรักษาโรคเบาจืดขณะตั้งครรภ์ อาจรักษาด้วยการใช้เดสโมเพรสซิน (Desmopressin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เพื่อลดปริมาณการขับปัสสาวะ
  • การรักษาโรคเบาจืดที่เกิดจากความผิดปกติของการดื่มน้ำ อาจไม่มีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง แต่อาจควบคุมด้วยการลดปริมาณการดื่มของเหลว แต่หากเกิดจากภาวะทางจิต คุณหมออาจต้องรักษาภาวะทางจิตร่วมด้วยเพื่อบรรเทาอาการ

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ diabetes insipidus

โรคเบาจืดเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนจึงอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจดูแลตัวเองได้โดยการปรับพฤติกรรม ดังนี้

  • ป้องกันการสูญเสียน้ำและภาวะขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคเบาจืดมีอาการขับปัสสาวะปริมาณมากจนอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด เนื่องจากอาหารที่มีเกลือมากจะส่งผลให้ร่างกายขับเกลือออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้
  • ใช้ยาตามคุณหมอสั่งและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด เพราะโรคเบาจืดจำเป็นต้องควบคุมอาการของโรคด้วยยา

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Overview-Diabetes insipidus. https://www.nhs.uk/conditions/diabetes-insipidus/. Accessed April 15, 2022

Diabetes Insipidus. https://www.niddk.nih.gov/health-information/kidney-disease/diabetes-insipidus. Accessed April 15, 2022

Diabetes Insipidus. https://www.webmd.com/diabetes/guide/what-is-diabetes-insipidus. Accessed April 15, 2022

Diabetes insipidus- Diagnosis- Treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes-insipidus/diagnosis-treatment/drc-20351274. Accessed April 15, 2022

Diabetes insipidus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/diabetes-insipidus/symptoms-causes/syc-20351269#:~:text=Diabetes%20insipidus%20(die%2Duh%2D,you%20have%20something%20to%20drink. Accessed April 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/04/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

น้ำตาลเทียม คนเป็นเบาหวานกินได้หรือไม่ ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพ

กาแฟมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา