backup og meta

ประโยชน์ของมะพร้าว และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/12/2022

    ประโยชน์ของมะพร้าว และข้อควรระวังในการบริโภค

    มะพร้าว เป็นผลไม้ที่เติบโตได้ดีในประเทศเขตร้อน ปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เปลือกของมะพร้าวอ่อนจะเป็นสีเขียว และมะพร้าวแก่จะมีสีน้ำตาลในขณะที่เนื้อด้านในเป็นสีขาว สำหรับ ประโยชน์ของมะพร้าว นั้น มีอยู่หลายประการ เช่น อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันแบคทีเรียในช่องปาก เพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย

    คุณค่าทางโภชนาการของ มะพร้าว

    เนื้อมะพร้าวสด 100 กรัม ให้พลังงาน 354 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหาร ดังตัวอย่างต่อไปนี้

    • น้ำ 47 กรัม
    • ไขมัน 33.5 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรต 15.2 กรัม
    • โปรตีน 3.33 กรัม
    • โพแทสเซียม 356 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 113 มิลลิกรัม
    • แมกนีเซียม 32 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 20 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 14 มิลลิกรัม
    • โคลีน (Choline) 12.1 มิลลิกรัม
    • โฟเลต (Folate) 26 ไมโครกรัม

    นอกจากนี้ มะพร้าว ยังประกอบด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ซีลีเนียม (Selenium) แมงกานีส ทองแดง สังกะสี กับวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินซี

    ประโยชน์ของมะพร้าว

    มะพร้าวอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของมะพร้าว ดังนี้

    อาจช่วยป้องกันแบคทีเรียในช่องปากได้

    ไขมันอิ่มตัวชนิดหนึ่งในเนื้อมะพร้าวหรือน้ำมันมะพร้าวมีคุณสมบัติต้านเชื้อโรค การบริโภคมะพร้าวจึงอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณรากฟันรวมถึงปัญหาฟันผุได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของน้ำมันพร้าวและสารคลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) ต่อเชื้อแบคทีเรียสเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ (Streptococcus Mutans) ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of International Society of Preventive & Community Dentistry ปี พ.ศ. 2559 นักวิจัยแบ่งเด็กจำนวน 50 รายออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้กลั้วปากด้วยน้ำมันมะพร้าวหลังแปรงฟัน ส่วนอีกกลุ่มให้กลั้วปากด้วยคลอร์เฮกซิดีน เป็นเวลา 30 วันเท่า ๆ กัน โดยผลลัพธ์ที่พบ คือเด็กทั้ง 50 ราย มีเชื้อสเตร็พโตคอคคัส มิวแทนส์ในช่องปากลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

    ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า การบริโภคน้ำมันมะพร้าวอาจช่วยกำจัดแบคทีเรียในช่องปาก เช่นเดียวกับสารคลอร์เฮกซิดีนซึ่งมีคุณสมบัติต้านเชื้อโรคต่าง ๆ

    อาจเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกาย

    ไขมันอิ่มตัวที่พบในมะพร้าว มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานและการเพิ่มจำนวนของไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของเซลล์ต่าง ๆ และจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย การบริโภคมะพร้าวจึงอาจช่วยให้การออกกำลังกายเห็นผลได้ดียิ่งขึ้น

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลปานกลาง ต่อประสิทธิภาพการออกกำลังกาย เผยแพร่ในวารสาร PLoS One ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยได้ทำการทดลองในหนูทดลอง และพบว่าไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลปานกลาง มีคุณสมบัติเพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย ด้วยการกระตุ้นให้ร่างกายผลิตไมโทคอนเดรียมากขึ้น โดยไมโทคอนเดรียเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อกระดูก และยังช่วยส่งเสริมความทรหดในการออกกำลังกายด้วย

    อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลปานกลางส่งผลดีต่อการออกกำลังกายในมนุษย์

    อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

    มะพร้าวมีใยอาหารสูง โดยใยอาหารมีคุณสมบัติชะลอการดูดซึมน้ำตาลจากอาหารเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้น การบริโภคมะพร้าวจึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติลดระดับน้ำตาลในเลือดของมะพร้าวในมื้ออาหาร เผยแพร่ในวารสาร Journal of Complementary and Integrative Medicine ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้แบ่งอาสาสมัครจำนวน 80 รายออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้รับประทานอาหารที่กำหนดให้ร่วมกับเนื้อมะพร้าว ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภคอาหารแบบเดียวกันร่วมกับถั่วลิสงและน้ำมันถั่วลิสง เป็นเวลา 90 วันเท่า ๆ กัน

    เมื่อการทดลองสิ้นสุดลง นักวิจัยได้ตรวจร่างกายของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม และพบว่าอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

    นอกจากนี้ พวกเขายังพบว่า อาสาสมัครกลุ่มแรกมีน้ำหนักตัวที่ลดลง ในขณะที่อาสาสมัครกลุ่มที่ 2 มีความดันโลหิตที่สูงขึ้น

    ดังนั้น นักวิจัยจึงสรุปว่า การบริโภคมะพร้าวอาจช่วยลดน้ำตาลในเลือดและน้ำหนักตัวได้ในเวลาเดียวกัน

    ข้อควรระวังในการบริโภค มะพร้าว

    แม้ว่าจะมี ประโยชน์ของมะพร้าว อยู่หลายประการ แต่มีข้อควรระวังในการบริโภคมะพร้าว ดังต่อไปนี้

    • มะพร้าวมีแคลอรี่สูง ผู้ที่ควบคุมอาหารหรือจำกัดปริมาณแคลอรี่ที่บริโภคต่อวันควรรับประทานในปริมาณจำกัด
    • มะพร้าวอุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้วจึงทำให้แอลดีแอล (LDL) หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มสูงขึ้น หากบริโภคมากเกินไปอาจทำให้เสี่ยงเป็นของโรคหัวใจ
    • หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคมะพร้าวได้อย่างปลอดภัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมาก หากไม่แน่ใจควรปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์ ที่สำคัญควรบริโภคอาหารให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 21/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา