จากสถิติพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 65-74 ปี เพียง 1 ใน 4 ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ทั้งที่ความจริงแล้วการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีต่อคนทุกเพศทุกวัย แต่หลายคนมักมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ เหล่านี้ จนทำให้ไม่ได้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายเสียที ทาง Hello คุณหมอ มีบทความเกี่ยวกับความเชื่อผิดๆ ที่ทุกคนควรเลิกเชื่อได้แล้ว มาฝากกัน
ความเชื่อผิดๆ ที่ 1
การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่สายเกินไป
ผู้สูงอายุบางคนไม่เคยออกกำลังกายเลยในชีวิต จึงคิดว่าสายเกินไปแล้วที่จะเริ่มออกกำลังกายตอนที่อายุมาก ซึ่งความจริงแล้ว การออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ไม่มีคำว่าสายเกินไป เพราะมีผลการศึกษาพบว่า แม้แต่ผู้ที่มีอายุ 90 ปีที่เริ่มออกกำลังกายเป็นประจำ ก็สามารถทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การเริ่มออกกำลังกายตอนที่อายุมาก สามารถลดความเสี่ยงสุขภาพบางอย่างได้ เช่น โรคเบาหวาน ดังนั้นหากต้องการเริ่มออกกำลังกายตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไป
ความเชื่อผิดๆ ที่ 2
การออกกำลังกายไม่ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ ถ้าล้มมากระดูกหักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้
ความจริงแล้วมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การออกกำลังกายสามารถลดโอกาสในการหกล้มได้ เช่น การออกกำลังแบบไทชิ (Tai chi) หรือมวยไทเก๊ก มีประโยชน์ต่อความสมดุลของร่างกาย นอกจากนี้การออกกำลังกายเป็นประจำยังทำให้กระดูกแข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนอีกด้วย
ความเชื่อผิดๆ ที่ 3
ผู้สูงอายุจำเป็นต้องไปให้หมอเช็คก่อนแล้วค่อยออกกำลังกาย
ถ้าคุณมีโรคประจำตัว หรือมีอาการบางอย่าง รวมถึงไม่ได้ออกกำลังกายเป็นเวลานาน ควรปรึกษาคุณหมอก่อนออกกำลังกาย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องไปหาคุณหมอก่อนที่จะเริ่มออกกำลังกายเสมอไป ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การออกกำลังกายไม่ใช่เรื่องอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ ตราบเท่าที่ออกกำลังกายอย่างไม่หักโหม
ความเชื่อผิดๆ ที่ 4
ฉันป่วย ฉันไม่ควรออกกำลังกาย
ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน หรือ โรคหัวใจ การออกกำลังกายถือเป็นทางเลือกที่ดี แต่ควรปรึกษาคุณหมอก่อนออกกำลังกาย และสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง การออกกำลังกายอาจดีกว่าการที่ต้องกินยา 5-10 เม็ดต่อวัน
ความเชื่อผิดๆ ที่ 5
ออกกำลังกายแล้วหัวใจจะวาย
เราคงเคยได้ยินกันมาว่า มีผู้ที่หัวใจวายขณะออกกำลังกาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามการนั่งอยู่บนโซฟาทั้งวันและไม่ออกกำลังกายเลย อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวายมากกว่าการออกกำลังกาย เนื่องจากการออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลายๆ โรค รวมถึงโรคหัวใจด้วย
ความเชื่อผิดๆ ที่ 6
ไม่มีเวลามากพอที่จะออกกำลังกาย
ความเชื่อนี้ไม่ใช่แค่ในผู้สูงอายุ แต่คนทุกวัยต่างก็ใช้คำว่า ไม่มีเวลา เป็นข้ออ้างของการไม่ออกกำลังกาย ซึ่งความจริงแล้วผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งเฉลี่ยแล้วประมาณ 20 นาทีต่อวัน ความจริงแล้วสามารถแบ่งการออกกำลังกายเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ได้ เช่น เดิน 10 นาทีในตอนเช้า และปั่นจักรยาน 15 นาทีในตอนเย็น เพียงเท่านี้ก็ดีกว่าการไม่ได้ออกกำลังกายแล้ว
ความเชื่อผิดๆ ที่ 7
ไม่มีประโยชน์ที่จะออกกำลังกาย ร่างกายที่เสื่อมถอยเนื่องจากวัยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นี่อาจจะเป็นสิ่งที่เชื่อกันมากที่สุด และทำให้ผู้สูงอายุละเลยที่จะออกกำลังกาย แต่ความเชื่อที่ว่าการแก่ตัวลงหมายถึงการเสื่อมสภาพ ไม่ใช่เรื่องจริง บางคนที่อายุ 70, 80 หรือแม้แต่ 90 ยังสามารถวิ่งมาราธอนได้ ที่เป็นเรื่องจริงกว่าก็คือ อาการอ่อนแอของกล้ามเนื้อหรือสมดุลของร่างกายที่ไม่ดีพอ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดมาจากวัยอย่างเดียว แต่มักจะเกิดมาจากการไม่ที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกายมากกว่า การออกกำลังกายได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยจำนวนมากว่า ช่วยรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย และยังช่วยในเรื่องการทำงานของสมอง ช่วยทำให้ความทรงจำดีและปกป้องโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ถ้าคุณรักษาความแข็งแรงและความกระฉับกระเฉงเอาไว้ได้เมื่ออายุมากขึ้น คุณก็จะสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างในชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น และรักษาความสุขในชีวิตแบบที่ตนเองปรารถนาเอาไว้ยาวนานขึ้น
[embed-health-tool-bmi]