การ ดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและใส่ใจ เพราะผู้สูงอายุคือคนในครอบครัวที่เรารัก ไม่เพียงแต่สุขภาพร่างกายที่เราต้องดูแลแต่การ ดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ ก็สำคัญเช่นกัน เพราะปัญหาสุขภาพจิตอาจส่งผลกระทบให้กับสุขภาพกายได้ ดังนั้นวันนี้เรามาเรียนรู้การ ดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ กันดีกว่า เพื่อสุขภาพโดยรวมของคนที่คุณรักและรักคุณ
สุขภาพจิตผู้สูงอายุ
เมื่อถึงวัยผู้สูงอายุแน่นอนว่าเป็นเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์ทางสังคม และการนึกถึงความตายในอนาคต ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
ปัญหาทางจิตใจมักเกิดจากความรู้สึกสูญเสีย โดยเฉพาะความสามารถของตนเอง ที่เคยเป็นที่พึ่ง เคยเป็นผู้นำ เคยเป็นที่ยอมรับและยกย่องจากคนรอบข้างและเพื่อนฝูง หรือปัญหาสุขภาพจิตอาจเกิดจากความสูญเสีย เช่น เพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัว ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกเหงา ว้าเหว่ ไม่สบายตามร่างกาย ปวดเมื่อย ไม่มีแรง นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เกิดปัญหาทางสังคม จนทำให้เกิดความเครียดภายในจิตใจ
วิธี ดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
เลือกอาหารให้เหมาะสม
ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความต้องการพลังงานน้อยลง เนื่องจากกิจกรรมที่ต้องทำในแต่ละละวันลดน้อยลงเช่นกัน ดังนั้นจึงควรควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมและพอเหมาะ จึงควรลดอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล ไขมัน เพื่อลดการสะสมในร่างกายเนื่องจากไม่ถูกนำไปใช้ และควรเน้นอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อปลาให้มากขึ้น อีกทั้งเปลี่ยนวิธีทำเป็นพวกต้ม นึ่ง ย่าง อบ เป็นหลัก
การกินข้าวร่วมกันกับครอบครัวถือเป็นการดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุวิธีหนึ่ง เพราะเป็นโอกาสที่ดีในการพูดคุยกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเพื่อลดการแยกตัวอยู่คนเดียว รวมถึงร่วมกับสำรวจสภาพร่างกาย อารมณ์ของคนในครอบครัวได้อีกด้วย
ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
ผู้สูงอายุจำเป็นที่จะต้องออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายแบบหักโหมจนเกินไป และถ้าหากมีโรคประจำตัวต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุควรเริ่มเต้นแบบแอโรบิคสัก 30 นาทีต่อครั้ง สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
การออกกำลังกายยังช่วยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ออกจากความเครียดหรือสิ่งที่กำลังกังวลอยู่ได้ ยิ่งมีเพื่อนหรือครอบครัวมาร่วมออกกำลังกายด้วยยิ่งช่วยสร้างสัมพันธ์ที่ดีขึ้นอีกด้วย
สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
สภาพแวดล้อมที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ควรเป็นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก รู้สึกสดชื้นเพื่อช่วยปัญหาสุขภาพจิตใจได้ด้วย เนื่องจากผู้สูงอายุใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านจึงควรจัดสภาพแวดล้มที่บ้านให้น่าอยู่ ปรับภูมิทัศน์ภายในบ้านให้ปลอดโปร่งและสะอาดอยู่เสมอ
หากิจกรรมให้ผู้สูงอายุ
ควรหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ เช่น ไปวัด พาไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ หรือพาไปพบปะเพื่อนฝูง ญาติสนิท เพราะการที่ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำจะช่วยชะลอความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง อีกทั้งลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ
ระมัดระวังอุบัติเหตุ
ควรระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในผู้สูงอายุที่อาจทำให้เกิดการหกล้ม พลัดตกจากที่สูง เพราะทั้งสายตาและการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุไม่สะดวก จึงควรจัดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ง่าย และจัดที่อยู่อาศัยให้โล่ง สะอาดสะดวกต่อการเดิน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุต่อร่างกายที่อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา
ให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
การให้ผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจจะช่วยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เพราะเมื่ออายุมากขึ้นความรับผิดชอบหรือหน้าที่ต่าง ๆ ที่เคยทำในอดีตอาจลดลงหรือไม่ได้ทำเลย จนบางครั้งอาจถูกละเลยความสำคัญและสร้างความทุกข์ใจให้กับผู้สูงอายุ จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้
สังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย
เมื่อแก่ตัวลงร่างกายของผู้สูงอายุมักเกิดความเจ็บป่วยได้ง่าย เพราะความเสื่อมถอยจากการใช้งานร่างกายมาเป็นระยะเวลานาน ครอบครัวจึงควรสังเกตุอาการผิดปกติของร่างกายผู้สูงอายุเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคทางกายและโรคทางจิตใจได้ เช่น แผลหายยากเรื้อรัง กลืนอาหารลำบาก ท้องอืดเรื้องรัง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหนื่อยง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า
การตรวจสุขภาพประจำปีก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย ควรพาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพประจำทุกปีหรืออย่างน้อยทุก ๆ 2 ปี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค
[embed-health-tool-bmi]