backup og meta

โรคเก๊าท์ อาการ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

    โรคเก๊าท์ อาการ ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกัน

    โรคเก๊าท์ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยมีสาเหตุมาจากภาวะกรดยูริกในเลือดสูง ทำให้บางคนอาจมีข้อสงสัยว่า โรคเก๊าท์ อาการ เป็นอย่างไร โดยทั่วไป โรคเก๊าท์อาจทำให้มีอาการปวดข้อต่อรุนแรง ความรู้สึกไม่สบาย ข้อต่ออักเสบ แดง และข้อต่อเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด การรักษาอย่างเหมาะสมจึงอาจช่วยบรรเทาอาการจากโรคเก๊าท์ได้

    โรคเก๊าท์ คืออะไร

    โรคเก๊าท์ คือ โรคข้ออักเสบที่เกิดการสะสมของกรดยูริกในเลือดสูง ส่งผลให้มีอาการปวด บวม แดง และอาจมีอากการเจ็บปวดอย่างเฉียบพลันหรือรุนแรงเมื่อกดข้อต่อหนึ่งข้อหรือหลายข้อ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า ข้อเข่า ข้อเท้า เท้า ข้อมือ และข้อศอก

    โรคเก๊าท์ อาการ

    สัญญาณและอาการของโรคเก๊าท์มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และมักเกิดขึ้นในตอนกลางคืน โดยอาจทำให้มีอาการต่อไปนี้

    • ปวดข้ออย่างเฉียบพลันและรุนแรง อาการปวดข้อต่อจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรงที่สุดภายใน 4-12 ชั่วโมงแรกหลังจากเริ่มมีอาการปวด
    • รู้สึกไม่สบายบริเวณข้อต่อ เมื่อความเจ็บปวดรุนแรงค่อย ๆ บรรเทาลง อาจยังคงมีความรู้สึกไม่สบายบริเวณข้อต่ออยู่ ซึ่งอาจคงอยู่ได้ตั้งแต่ 2-3 วัน ไปจนถึง 2-3 สัปดาห์
    • อักเสบ บวม และแดง ข้อต่อที่อักเสบจะมีอาการบวม เจ็บปวด ไวต่อความรู้สึก อุ่น และแดง
    • ข้อต่อเคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด ในขณะที่โรคเก๊าท์อาการเริบอาจจะไม่สามารถขยับข้อต่อได้อย่างอิสระ

    หากมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง มีไข้ อักเสบ และแสบร้อน ควรรีบเข้าพบคุณหมอเพื่อรักษาโรคเก๊าท์ รวมถึงช่วยบรรเทาอาการเจ็บและความเสียหายของข้อต่อ

    ปัจจัยเสี่ยงของโรคเก๊าท์

    แม้ว่าโรคเก๊าท์จะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่มักพบได้บ่อยในผู้ชายและผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายมีการสะสมกรดยูริกในเลือดได้ง่าย นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัจจัยต่อไปนี้อาจมีแนวโน้มที่จะมีกรดยูริกในเลือดสูงได้เช่นกัน

    • ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเก๊าท์
    • โรคอ้วน น้ำหนักเกิน
    • ภาวะหัวใจล้มเหลว
    • โรคเบาหวาน
    • ความดันโลหิตสูง
    • โรคไต
    • ผู้ที่บริโภคอาหารโปรตีนจากเนื้อสัตว์สูง
    • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
    • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยารักษาความดันโลหิต ยาเบต้าบล็อกเกอร์ (Beta Blockers)

    การป้องกันโรคเก๊าท์

    การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางประการอาจช่วยป้องกันโรคเก๊าท์ได้ ดังนี้

    • การดื่มน้ำให้มากขึ้น โดยควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อย 2-3 ลิตร/วัน เพื่อช่วยให้ไตทำงานได้ดีขึ้นและป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเพิ่มของน้ำหนักและโรคอ้วน ที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเพิ่มกรดยูริกในร่างกาย ซึ่งส่งผลให้ข้อต่อเกิดการอักเสบ
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิดที่อาจเพิ่มปริมาณสารพิวรีน (Purine) ในร่างกาย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื้อแดง เครื่องใน หอย เครื่องดื่มและอาหารที่มีฟรุกโตสสูง โปรตีนจากสัตว์ เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้อาจกระตุ้นการสร้างกรดยูริกในร่างกายให้มากขึ้น
    • หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่ทำให้ระดับกรดยูริกในร่างกายสูงขึ้น เช่น ยาขับปัสสาวะ สารก่อภูมิแพ้ ยากดภูมิคุ้มกัน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา