backup og meta

บอแรกซ์ ในลูกชิ้น กินบ่อยๆ ระวังเสี่ยงตายไว

บอแรกซ์ ในลูกชิ้น กินบ่อยๆ ระวังเสี่ยงตายไว

ลูกชิ้น” เมนูอาหารทานเล่นที่หลาย ๆ คนชื่นชอบ ซึ่งสามารถหาซื้อง่ายและนำไปปรุงอาหารได้หลายเมนู เช่น ลูกชิ้นปิ้ง ลูกชิ้นทอด หรือลูกชิ้นนึ่ง เป็นต้น แต่ในปัจจุบันส่วนใหญ่อาหารที่เรารับประทานกันนั้น อาจจะมีส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายอย่างเช่น สารบอแรกซ์ รวมอยู่ด้วย เพื่อให้ลูกชิ้นมีความกรอบ เนื้อเด้งอร่อย ทั้งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพไม่น้อยเลยทีเดียว วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาไปทำความรู้จักกับ บอแรกซ์ ให้มากขึ้น พร้อมกับวิธีเลือกซื้อลูกชิ้นที่ปลอดภัยกันค่ะ

บอแรกซ์ คืออะไร

บอแรกซ์ (Borax) เป็นสารอนินทรีย์สังเคราะห์ชนิดหนึ่ง มีชื่อทางเคมีว่า โซเดียมบอเรต (Sodium Borate)  ซึ่งผู้คนจะรู้จักกันดีในชื่อว่า ผงกรอบ หรืออาจเรียกอีกชื่อว่า น้ำประสานทอง และในภาษาจีนที่เรียกกันว่า “เม่งแซ” โดยจะมีลักษณะเป็นผงคล้ายแป้งมีสีขาวขุ่น หรืออาจจะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมขนาดเล็กกว่าเม็ดสาคู มีรสชาติหวานเล็กน้อยและสามารถละลายน้ำได้ดี

อาการของผู้ที่บริโภคอาหารปนเปื้อนบอแรกซ์

เมื่อเรารับประทานลูกชิ้นหรืออาหารต่างๆ ที่มีการปนเปื้อนสารบอแรกซ์ หากรับประทานมากๆ จนอยู่ในระดับอันตราย จะแบ่งออกได้เป็น 2 กรณีดังต่อไปนี้

  • กรณีอาการเฉียบพลัน

ผู้ที่ได้รับสารบอแรกซ์จะมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หงุดหงิด ผิวหนังอักเสบและอาจมีผื่นแดง นอนไม่หลับ ผมร่วงมากผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกเจ็บในช่องท้อง อาจมีอาการท้องร่วงหรืออุจจาระเป็นเลือดในบางครั้ง

  • กรณีอาการเรื้อรัง

ผู้ที่ได้รับสารบอแรกซ์จะมีอาการหน้าบวม ตาบวม เยื่อตาอักเสบ ผิวหนังแห้ง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตับหรือไตอักเสบและอาจพิการได้

วิธีการเลือกซื้อและรับประทานลูกชิ้นที่ปลอดภัย

การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของสารบอแรกซ์อย่างตรง ๆ อาจจะปฏิบัติได้ค่อนข้างยาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคอย่างเราพอจะทำได้ เพื่อรับประทานลูกชิ้นได้อย่างปลอดภัย นั่นก็คือการปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ดูฉลากอาหาร

เวลาที่เราเลือกซื้อก็ควรสังเกตบรรจุภัณฑ์ว่ามีฉลากกำกับหรือไม่ โดยจะต้องระบุผู้ผลิตและวันที่ผลิตหรือหมดอายุอย่างชัดเจน มีเครื่องหมาย อย. ข้อสำคัญคือลักษณะของบรรจุภัณฑ์จะต้องไม่ฉีกขาดหรือชำรุด รวมทั้งควรซื้อลูกชิ้นจากแหล่งจัดจำหน่ายที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส

  • ลักษณะของลูกชิ้น

ลูกชิ้นที่ดีจะต้องไม่กรอบหรือยืดหยุ่นเกินไป ซึ่งหมายถึงไม่มีส่วนประกอบของสารบอแรกซ์นั่นเอง อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงลูกชิ้นที่มีสีสันฉูดฉาดอันมาจากการใช้สีที่ปนเปื้อนโลหะหนักต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นอันตรายต่อร่างกายทั้งสิ้น

  • ลูกชิ้นไม่มีเมือกหรือจุดสี

ลูกชิ้นที่รับประทานได้อย่างปลอดภัยควรมีสีและกลิ่นตามธรรมชาติ จะต้องไม่มีลักษณะเป็นเมือกๆ หรือจุดสี ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนจนทำให้ลูกชิ้นมีกลิ่นและลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ควรนำมารับประทานอย่างยิ่ง

  • การเก็บรักษาลูกชิ้น

ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิไม่เกิน 4 องศาเซลเซียส ซึ่งหมายถึงการเก็บรักษาของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย รวมถึงผู้บริโภคหลังจากซื้อลูกชิ้นที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุกด้วยเช่นกัน

  • กรรมวิธีการปรุงสุก

ก่อนที่จะรับประทานลูกชิ้นทุกครั้ง ควรมีการนำลูกชิ้นไปปรุงสุกด้วยความร้อนอย่างทั่วถึงอีกครั้ง แม้ว่ากรรมวิธีการผลิตลูกชิ้นนั้นจะทำให้สุกมาก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม แต่ก็อาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้ หากกระบวนการผลิตหรือบรรจุนั้นไม่ถูกสุขลักษณะ ยังไม่รวมถึงการขนส่งและระหว่างเก็บรักษาเพื่อรอจำหน่ายอีกด้วย

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเราจะสามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารบอแรกซ์ได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเราใส่ใจและพิถีพิถันเลือกอาหารที่รับประทานอีกสักหน่อย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงการสะสมสารบอแรกซ์ในร่างกายให้น้อยลงได้ค่ะ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Boric Acid and Borax in Food.
https://www.cfs.gov.hk/english/multimedia/multimedia_pub/multimedia_pub_fsf_37_01.html. Accessed 22 December 2019

Borax in Meatballs.

Borax and boric acid.
http://www.foodauthority.nsw.gov.au/foodsafetyandyou/keeping-food-safe/other-topics/borax-and-boric-acid. Accessed 22 December 2019

เวอร์ชันปัจจุบัน

04/06/2020

เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Nattrakamol Chotevichean


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผงชูรส ส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของเราบ้าง

สีผสมอาหารสังเคราะห์ ทานได้ แล้วมีอันตรายหรือเปล่า?


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย จินดารัตน์ สิริวิจักษณ์ · แก้ไขล่าสุด 04/06/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา