backup og meta

อาหารกระตุ้น เมตาบอลิซึม (Metabolism) มีอะไรบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    อาหารกระตุ้น เมตาบอลิซึม (Metabolism) มีอะไรบ้าง

    อาหารกระตุ้น เมตาบอลิซึม หมายถึง อาหารที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นการทำงานของระบบเผาผลาญ โดยส่วนใหญจะเป็นอาหารที่มีไฟเบอร์สูง มีโปรตีนดี มีธาตุเหล็กและสังกะสี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักและป้องกันภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน  เช่น พริก สาหร่ายทะเล บรอกโคลี

    อาหารกระตุ้น เมตาบอลิซึม ได้อย่างไร

    เมตาบอลิซึม (Metabolism) หรือระบบเผาผลาญ คือ กระบวนการที่ช่วยทำให้ร่างกายควบคุมการทำงานส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายได้อย่างปกติ โดยการเปลี่ยนแปลงสารอาหารให้เป็นพลังงาน หลังรับประทานอาหารเข้าไปสักระยะหนึ่ง ร่างกายจะเกิดการเผาผลาญ ทั้งนี้ อัตราการเผาผลาญของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสุขภาพรวมทั้งอาหารชนิดต่าง ๆ เนื่องจากอาหารบางชนิดอาจช่วยชะลอหรือช่วยเร่งการเผาผลาญได้ ซึ่งส่งผลต่อการลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ไม่มีอาหารชนิดได้ที่ส่งผลต่อการเผาผลาญ จนทำให้น้ำหนักน้อยลงได้ เพียงแค่ช่วยกระตุ้นให้ระบบเผาผลาญทำงานได้ดีขึ้นเท่านั้น

    อาหารกระตุ้น เมตาบอลิซึม มีอะไรบ้าง

    การรับประทานอาหารที่ช่วยกระตุ้นเมตาบอลิซึม หรือช่วยกระตุ้นการเผาผลาญให้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก และยังช่วยกำจัดไขมันที่ไม่ต้องการได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้ อาหารกระตุ้น เมตาบอลึซึม มีดังนี้

    อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน

    อาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน เช่น เนื้อ ปลา นม ไข่ พืชตระกูลถั่ว และเมล็ดพืช อาหารเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยกระตุ้นเมตาบอลิซึม โดยเมื่อรับประทานอาหารเหล่านี้จะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากขึ้นในการย่อยอาหาร ซึ่งเรียกว่า พลังงานที่ใช้ย่อยอาหาร (Thermic Effect of Food หรือ TEF) โดยเป็นพลังงานที่ร่างกายใช้ในการรับประทานอาหาร ย่อยอาหาร และเผาผลาญพลังงาน

    อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก สังกะสีและซีลีเนียม

    ธาตุเหล็ก สังกะสี และซีลีเนียมนั้นเป็นสารอาหารที่มีหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกัน แต่สารอาหารทั้ง 3 ชนิดนี้ต่างมีความสำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมระบบเผาผลาญ  หากร่างกายมีธาตุเหล็ก สังกะสี และซีลีเนียมที่ต่ำ อาจไปลดความสามารถในการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการชะลอการเผาผลาญได้

    ตัวอย่างอาหารที่ช่วยกระตุ้นเมตาบอลึซึม ได้แก่

    พริก

    พริกเป็นพืชที่อุดมไปด้วยสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่ให้ความเผ็ด โดยออกฤทธิ์ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันและแคลอรี่ โดยการบริโภคพริก 135-150 มิลลิกรัมต่อวัน อาจมีส่วนช่วยในการเผาผลาญได้ประมาณ 50 กิโลแคลอรี่ต่อวัน นอกจากนี้ สารแคปไซซินยังช่วยลดความอยากอาหารได้อีกด้วย

    ขิง

    ขิงเป็นพืชที่ให้ความเผ็ดร้อน เมื่อรับประทานอาหารที่มีขิงเป็นส่วนประกอบอาจช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญและช่วยควบคุมความอยากอาหารได้อีกด้วย นอกจากนี้ ขิงยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ ช่วยลดอาการคลื่นไส้ระหว่างตั้งครรภ์และการรักษาด้วยเคมีบำบัดได้อีกด้วย

    ชา กาแฟ

    สารคาเฟอีนและสารคาเทชิน (Catechins) ที่พบได้ในชาและกาแฟนั้นมีส่วนช่วยเพิ่มการเผาผลาญ โดยเฉพาะชาอู่หลงและชาเขียว ที่อาจช่วยเพิ่มการเผาผลาญได้ถึงร้อยละ 4-10 นอกจากนี้ ชาอู่หลงและชาเขียวยังช่วยให้ร่างกายใช้ไขมันที่สะสมไว้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

    สำหรับคาเฟอีนที่พบได้ในกาแฟมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญได้ประมาณ 11%  อย่างไรก็ตาม อัตราการเผาผลาญอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น น้ำหนัก อายุ ดัชนีมวลกาย

    บรอกโคลี

    บรอกโคลีมีสารที่เรียกว่า กลูโคราฟานิน (Glucoraphanin) ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อการเผาผลาญ ลดระดับไขมันในเลือด

    น้ำมันมะพร้าว

    น้ำมันมะพร้าวมีไตรกลีเซอไรด์ประเภทกรดไขมันอิ่มตัวสายโมเลกุลยาวปานกลาง (high in medium-chain triglycerides หรือ MCTs) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญได้มากกว่าไขมันแบบโซ่ยาว  ทั้งนี้ การบริโภคน้ำมันมะพร้าว 30 มิลลิลิตรต่อวันอาจช่วยลดขนาดรอบเอวในคนอ้วนได้

    สาหร่ายทะเล

    การบริโภคสาหร่ายทะเลเป็นประจำช่วยให้ร่างกายได้รับไอโอดีนเพิ่มขึ้นและยังช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสาหร่ายทะเลสีน้ำตาล  อาจมีส่วนช่วยลดความอ้วน

    นอกเหนือจากการเลือกรับประทานอาหารกระตุ้น เมตาบอลิซึม ไม่ว่าจะเป็นผักใบเขียวที่มีธาตุเหล็ก โปรตีน พริก เพื่อช่วยเพิ่มการเผาผลาญและทำควบคุมน้ำหนักได้แล้วนั้น เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงควบคู่ไปด้วยควรปรับพฤติกรรมและดูแลตนเองอยู่เสมอ เช่น การดื่มน้ำและนอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 27/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา