อยากผอม ลดความอ้วน ลองมาหลายวิธีแล้วก็ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะการเริ่มต้นทำอะไรใหม่ ๆ และทำให้เป็นนิสัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยปกติ มักต้องใช้เวลาอย่างน้อย 21 วัน เพื่อให้ติดเป็นนิสัย และคนส่วนใหญ่มักจะล้มเลิกก่อน ดังนั้น แทนการสร้างนิสัยใหม่อาจลองหันมาปรับเปลี่ยน ลด ละ เลิก พฤติกรรมบางอย่างที่อาจช่วยให้การควบคุมน้ำหนักได้ผลดียิ่งขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
อยากผอม ลดความอ้วน ลองเปลี่ยนตัวเองใหม่
น้ำหนักส่วนเกินหรือความอ้วนอาจเกิดจากพฤติกรรมเดิม ๆ ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หากอยากผอม อาจลองปรับเปลี่ยนนิสัยบางอย่างของตนเอง ได้แก่
-
เลิกรับประทานขนมขบเคี้ยว
ขนมขบเคี้ยวอุดมไปด้วยแป้งและน้ำตาล เมื่อร่างกายได้รับมากเกินไปจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพิ่มขึ้น โดยอินซูลินจะรักษามวลไขมันไว้ ทำให้ร่างกายไม่เผาผลาญไขมันเวลาที่ระดับฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มสูง ดังนั้น เมื่อบริโภคน้ำตาลและแป้งจากขนมจึงเพิ่มโอกาสให้น้ำหนักขึ้นเพราะร่างกายไม่นำไขมันไปใช้นั่นเอง
-
ไม่ควรรีบรับประทานอาหาร
โดยปกติ สมองของมนุษย์จะรับรู้ว่า ‘อิ่ม’ นั้นใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีหลังจากรับประทานอาหาร ดังนั้น หากรับประทานข้าวเร็ว หรือเพียง 5 นาทีก็หมดจานแล้ว มักทำให้รู้สึกว่ายังไม่อิ่ม และต้องการรับประทานอาหารเพิ่ม จึงทำให้ร่างกายได้รับอาหารส่วนเกินและจนเกิดภาวะอ้วนขึ้น หากลองฝึกตัวเองให้ค่อย ๆ รับประทานอาหาร เคี้ยวช้าลง อาจช่วยควบคุมน้ำหนักได้
-
ไม่นอนดึก
นอกเหนือจากการนอนดึกจะทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติแล้ว ยังส่งผลให้ง่วงในตอนกลางวัน ซึ่งทำให้ต้องแก้ง่วงด้วยการรับประทานขนมหรืออาหารเพื่อแก้ง่วง หรือหากเข้านอนดึก ตอนเช้ามักจะหิวมากเป็นพิเศษเนื่องจากฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนกระตุ้นความหิวทำงานผิดปกติและเพิ่มปริมาณสูงขึ้น ดังนั้น ผู้ที่นอนน้อย หรือนอนดึก จะมีฮอร์โมนเกรลินสูงกว่าคนที่นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ลองปรับพฤติกรรมด้วยการเข้านอนเร็วขึ้นเพื่อตอนเช้าจะได้หิวจนเกินไปและทำให้รับประทานอาหารมากเกินพอดี
-
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
เมื่อร่างกายขาดน้ำ ร่างกายจะส่งสัญญาณบอกสมองว่าหิวหรือต้องการอาหารเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งอาจทำให้หลายคนเลือการรับประทานอาหาร ทั้งที่จริงแล้ว เพียงดื่มน้ำประมาณสองแก้วอาจช่วยให้ร่างกายหายกระหายน้ำหรือลดความรู้สึกหิวลงได้ ดังนั้น หากอยากผอม ลดความอ้วน อาจเริ่มต้นด้วยการดื่มน้ำอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ และทำให้ร่างกายไม่รู้สึกหิวบ่อยเกินไป
-
ไม่ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้
เมื่ออยากผอม ลดความอ้วน โดยในเวลาอันสั้น อาจทำใหหลายคนเลือกตั้งเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ เช่น ลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัมใน 1 สัปดาห์ หรือลดน้ำหนัก 30 กิโลกรัมใน 1 เดือน ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง อาจมีผู้ที่สามารถผอมหรือลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วได้ภายในเวลาสั้น ๆ แต่ย่อมส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น ควรเริ่มต้นตั้งเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นไปได้แทน เช่น จะลดน้ำหนักอาทิตย์ละครึ่งกิโลกรัม จากนั้นพูดแล้วทำให้ได้ ครึ่งกิโลกรัมอาจจะดูน้อย แต่หากตั้งใจทำอย่างต่อเนื่องก็จะไปถึง 10 กิโลกรัมแน่นอน ทั้งนี้ ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเป็นอาหารลดน้ำหนักควบคู่กันไปด้วย
-
เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายเป็นประจำ
การนอนกลิ้งไปกลิ้งมา หรือนั่งอยู่กับที่ทั้งวันจะทำให้ร่างกายนอกเหนือจากจะทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังอาจทำให้ฮอร์โมนต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ และอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ เพราะฮอร์โมนมีส่วนสำคัญมากต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายและการควบคุมน้ำหนัก เช่น ฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่กระตุ้นความหิว ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ที่ทำให้ร่างกายอิ่ม หรือฮอร์โมนอินซูลินที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในร่างกาย และเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญไขมัน แทนการนอนกลิ้งไปกลิ้งมา ควรลุกขึ้นมาขยับร่างกาย ออกไปเดินเล่น ทำงานบ้าน ออกกำลังกาย จะช่วยทำให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ส่งผลให้ผู้ที่อยากผอม ลดความอ้วนเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้พร้อมทั้งมีสุขภาพดีตามมาด้วย
-
รับประทานอาหารเช้า
หลายคนคิดว่าการอดข้าวเช้าจะทำให้ผอมลง เพราะได้รับแคลอรี่ต่อวันน้อยลง แต่จริง ๆ แล้วการอดข้าวเช้าจะทำให้รับประทานอาหารมื้อต่อไปมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นมื้อกลางวันหรือมื้อเย็น ดังนั้น หากอยากผอม ลดความอ้วน ควรเลิกนิสัยอดอาหารเช้า และหันมารับประทานอาหารเช้าทุกวัน โดยอาจลดสัดส่วนอาหารมื้อกลางวันหรือมื้อเย็นลง แต่ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง