ขาดวิตามินดี เป็นภาวะที่วิตามินดีไม่พอต่อความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานไม่เต็มที่ อาจทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวด เหนื่อยล้า และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกอ่อนในเด็กและกระดูกพรุนในผู้ใหญ่ จึงควรเสริมวิตามินดีอย่างเพียงพอด้วยการรับประทานอาหารที่หลากหลาย และรับแสงแดดยามเช้าเพื่อเพิ่มการสังเคราะห์วิตามินดีในร่างกาย
ความสำคัญของวิตามินดี
วิตามินดีเป็นฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นและสังเคราะห์ได้จากแสงแดดอ่อน ๆ ยามเช้า รวมถึงเป็นสารอาหารที่ร่างกายได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป เช่น น้ำมันตับปลา ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล นม ชีส โยกิร์ต ไข่แดง น้ำส้ม นมถั่วเหลือง ซีเรียล ตับ
นอกจากนี้ ร่างกายต้องการวิตามินดีเพื่อใช้ในการสร้างและรักษากระดูกให้แข็งแรง ควบคุมการทำงานของเซลล์ในร่างกาย เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ปกป้องระบบประสาท เสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการทำงานของกล้ามเนื้อและการทำงานของเซลล์สมอง
ปัจจัยที่ทำให้ขาดวิตามินดี
การขาดวิตามินดีอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ผู้ที่มีภาวะทางสุขภาพบางประการ เช่น อาการแพ้แลคโตส ผู้ที่รับประทานมังสวิรัสติ อาจทำให้ร่างกายได้รับวิตามินดีที่ไม่เพียงพอ
- การที่ร่างกายไม่ได้รับแสงแดดอย่างเพียงพอเป็นเวลานาน อาจทำให้ร่างกายขาดวิามินดีได้ โดยเวลาที่เหมาะสมสำหรับการรับวิตามินดี คือ 08.00-10.00 น. และ 15.00-17.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แสงแดดไม่แรงและไม่เป็นอันตรายต่อผิวหนังมากเกินไป
- วิตามินดีเป็นสารอาหารที่ละลายในไขมัน ผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบหรือภาวะอื่น ๆ เช่น โรคซิติกโฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) โรคโครห์น โรคซิลิแอค (Celiac) อาจขัดขวางการย่อยไขมันตามปกติ ส่งผลให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมวิตามินดีได้อย่างเต็มที่
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมักจะมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำ เนื่องจาก วิตามินดีไปสะสมอยู่ในไขมันส่วนเกินที่ร่างกายอาจไม่สามารถนำมาใช้ได้
- ผู้ที่ผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาจต้องกำจัดลำไส้เล็กส่วนบนออก ซึ่งเป็นบริเวณที่ใช้ดูดซึมวิตามินดี จึงส่งผลให้ร่างกายขาดวิตามินดี
- ผู้ที่เป็นโรคไตและตับ อาจทำให้ปริมาณเอนไซม์ที่จำเป็นในการเปลี่ยนวิตามินดีให้อยู่ในรูปแบบที่ร่างกายสามารถดูดซึมได้ลดน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินดีได้อย่างเต็มที่
ขาดวิตามินดี ส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร
เมื่อร่างกายขาดวิตามินดี อาจทำให้มีอาการเบื่ออาหาร เหนื่อยล้า น้ำหนักลดลง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว หัวใจเต้นผิดปกติ อารมณ์แปรปรวน อาจทำให้หัวใจและไตเสียหาย
นอกจากนี้ การขาดวิตามินดีเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ดังนี้
- โรคกระดูกอ่อนในเด็ก (Rickets) เป็นภาวะกระดูกอ่อนที่เกิดขึ้นในทารกและเด็กโครงกระดูกผิดปกติ เนื่องจากเนื้อเยื่อของโครงกระดูกไม่แข็งตัว
- โรคกระดูกพรุน (Osteomalacia) เป็นภาวะที่ทำให้กระดูกอ่อนและนิ่ม ซึ่งอาจเกิดขึ้นในผู้ใหญ่
ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดวิตามินดี จึงควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินดี โดยวิตามินดีที่แนะนำในแต่ละช่วยวัยอาจมีดังนี้
- อายุ 0-6 เดือน ควรได้รับวิตามินดีประมาณ400-1,000 IU/วัน
- อายุ 6-12 เดือน ควรได้รับวิตามินดีประมาณ 400- 1,500 IU/วัน
- อายุ 1- 3 ปี ควรได้รับวิตามินดีประมาณ 600- 2,500 IU/วัน
- อายุ 4- 8 ปี ควรได้รับวิตามินดีประมาณ 600- 3,000 IU/วัน
- อายุ 9- 70 ปี ควรได้รับวิตามินดีประมาณ 600- 4,000 IU/วัน
- อายุ 70 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินดีประมาณ 800- 4,000 IU/วัน
- หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรอายุ 14- 50 ปี ควรได้รับวิตามินดีประมาณ 600- 4,000 IU/วัน
[embed-health-tool-bmr]