มะตูม เป็นอีกหนึ่งผลไม้ ที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากมายหลายชนิด มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และมีสรรพคุณทางยาที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย นอกจากนี้ยังสามารถนำมาแปรรูปประกอบอาหารได้อีกหลากหลายเมนู เช่น น้ำมะตูม มะตูมเชื่อม เค้กมะตูม เป็นต้น วันนี้ Hello คุณหมอ จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับมะตูม และ คุณประโยชน์ของมะตูม ให้มากขึ้นกันค่ะ
ทำความรู้จักกับผลไม้ มะตูม
มะตูม (Bael) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Aegle marmelos. มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ปลูกกันมาตลอดนานกว่า 4,000 ปี ถือได้ว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากๆ ในศาสนาฮินดู โดยใบมะตูมที่มีลักษณะ 3 แฉก เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ “ตรีมูรติ” อันประกอบไปด้วย พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม นอกจากนี้ยังเปรียบเสมือน “ตรีศูล” ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของพระศิวะอีกด้วย
ในปัจจุบันมะตูมได้เป็นที่นิยมปลูกในหลายประเทศ เช่น ศรีลังกา ไทย และภูมิภาคอื่นทางตอนใต้ในทวีปเอเชีย เป็นต้นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 6-15 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของใบ กว้าง 7-10 เซนติเมตร เปลือกค่อนข้างเหนียว มีเนื้อสีน้ำตาล เมล็ดสีขาว อุดมด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการและมีสรรพคุณทางยาสูง ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น บรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสีย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
คุณค่าทางโภชนาการของมะตูม
ผลมะตูม 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
พลังงาน | 137 กิโลแคลอรี่ |
คาร์โบไฮเดรต | 31.8 กรัม |
ไขมัน | 0.3 กรัม |
โปรตีน | 1.8 กรัม |
วิตามินเอ | 55 ไมโครกรัม |
วิตามินซี | 60 มิลลิกรัม |
ไทอามีน | 0.13 มิลลิกรัม |
ไรโบฟลาวิน | 1.19 มิลลิกรัม |
ไนอาซิน | 1.1 มิลลิกรัม |
แคโรทีน | 55 ไมโครกรัม |
แคลเซียม | 85 มิลลิกรัม |
โพแทสเซียม | 600 มิลลิกรัม |
ไฟเบอร์ | 2.9 กรัม |
น้ำ | 61.5 กรัม |
คุณประโยชน์ของมะตูม ทางอายุรเวช
ไม่น่าแปลกใจที่มะตูมจะเปรียบเสมือนตัวแทนของพระศิวะ เพราะมะตูมนั้นมีคุณประโยชน์รอบด้าน ไม่ว่าจะด้านการแพทย์ หรือด้านโภชนาการ โดยมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้
- บรรเทาอาการท้องผูก
มะตูมสุกเป็นเหมือนยาระบายอ่อน ๆ ที่ช่วยปรับสมดุลลำไส้ และยังมีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องร่วง โรคบิดเรื้อรัง เพียงฝานผลมะตูมที่ยังไม่สุกนำไปตากแดดให้แห้งแล้วนำมาบดผง ไว้ชงกับน้ำอุ่นผสมกับน้ำตาลทรายแดง ดื่มวันละ 2 ครั้ง จะช่วยบรรเทาอาการปวดบิดให้ลดลง
- รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
มะตูมมีสรรพคุณใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยต้านการอักเสบและสมานแผลในกระเพาะอาหาร ควรรับประทานมะตูมสุกอย่างน้อย 3 วัน เพื่อรักษาแผล
- ควบคุมคอเลสเตอรอลและเบาหวาน
มะตูมมีสารเมทานอล (Methanol) ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดยูเรียในเลือดและน้ำตาลในเลือด หากดื่มชาที่ทำจากเปลือกมะตูมแห้งเป็นประจำทุกวัน อาจช่วยลดระดับไขมันและไตรกลีเซอไรด์
- ต้านอนุมูลอิสระ
ผลมะตูมมีกรดฟีนอลิก (Phenolic) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีบทบาทสำคัญในการรักษาเซลล์ที่ถูกทำลายซึ่งเกิดจากอนุมูลอิสระ ที่นำไปสู่ความเสื่อมสภาพของร่างกาย และเป็นต้นกำเนิดของโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคสมอง โรคอัลไซเมอร์ และมะเร็ง นอกจากนี้สารต้านอนุมูลอิสระยังช่วยบำรุงผิวพรรณ ต่อต้านริ้วรอย คงความอ่อนเยาว์ให้กับผิวอีกด้วย
- รักษาโรคริดสีดวง
มะตูมมีสารแทนนิน (Tannin) ช่วยรักษาโรคต่าง ๆ เช่น อหิวาตกโรค โรคท้องร่วง และริดสีดวง และยังช่วยรักษาโรคโลหิตจาง ลดการอักเสบการติดเชื้อของดวงตา เช่น โรคตาแดง
ข้อควรระวังในการบริโภค
- หากรับประทานมะตูมมากจนเกินไป อาจทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารควรระมัดระวังในการรับประทาน
- สตรีมีครรภ์และผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานมะตูม
- ผู้ป่วยผู้ป่วยไทรอยด์ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน
[embed-health-tool-bmr]