ใครที่มีปัญหาดื่มนมวัวแล้วท้องอืด หรือเป็นสายวีแกน กินมังสวิรัติ ไม่สามารถบริโภคน้ำนมจากสัตว์ เช่น นมวัว นมแพะ ได้ เราอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับ “นมกัญชง” นมจากพืชอีกหนึ่งชนิดที่อุดมไปด้วยสารอาหาร และมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ หากคุณอยากรู้ว่านมกัญชงดีอย่างไร และจะมีความเสี่ยงในการบริโภคอย่างไรบ้าง ลองมาหาคำตอบจากบทความนี้ที่ Hello คุณหมอ นำมาฝากกันเลย
นมกัญชง (Hemp Milk) คืออะไร
นมกัญชง (Hemp Milk) เป็นน้ำนมที่ได้จากการนำเมล็ดกัญชง หรือเฮมพ์ (Cannabis sativa L.subsp. sativa หรือ Hemp) มาปั่นผสมกับน้ำเปล่า จนได้เป็นของเหลวเนื้อครีม เนียนละเอียด ลักษณะคล้ายนมวัวแต่มีรสชาติมันกว่า ที่เรียกว่า “นมกัญชง” หากเป็นนมกัญชงสำเร็จรูปที่วางขายตามท้องตลาดอาจมีการเติมกลิ่น รสชาติ สารให้ความหวาน รวมถึงเติมวิตามิน หรือแร่ธาตุบางชนิดลงไปด้วย
นมจากพืชอย่างนมกัญชง ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น แพ้นมวัว แพ้ถั่ว แพ้กลูเตน มีภาวะไม่ทนน้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) ต้องการกินอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ นอกจากนี้ ยังเหมาะกับผู้ที่กินอาหารแบบวีแกน และมังสวิรัติด้วย
นมกัญชง จะออกฤทธิ์เหมือนกัญชาหรือไม่
หลายคนอาจเป็นกังวลว่า กัญชงเป็นพืชในวงศ์และสกุลเดียวกันกับกัญชา แล้วแบบนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท สมอง และจิตใจเหมือนกัญชาหรือเปล่า ดื่มนมกัญชงแล้วจะปลอดภัยไหม ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า กัญชงมีสารประกอบที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่เรียกว่า เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) ในปริมาณน้อยมาก คือน้อยกว่า 0.3% คุณจึงสามารถดื่มนมกัญชงได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะส่งผลต่อร่างกายเหมือนกัญชา
คุณค่าทางโภชนาการของนมกัญชง
นมกัญชงแบบไม่เติมสารให้ความหวาน 1 แก้ว (240 มิลลิลิตร) ให้พลังงานประมาณ 83 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารสำคัญ ได้แก่
- คาร์โบไฮเดรต 1.3 กรัม
- โปรตีน 4.7 กรัม
- ไขมัน 7.3 กรัม
- แคลเซียม 2% จากปริมาณที่แนะนำต่อวัน
- เหล็ก 7% จากปริมาณที่แนะนำต่อวัน
นมกัญชงให้พลังงาน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตน้อยกว่านมวัว แต่ก็มีโปรตีนและไขมันดีมากกว่านมจากพืชอีกหลายชนิด โดยจุดเด่นของนมกัญชงก็คือ นมกัญชงเป็นนมที่มีโปรตีนสมบูรณ์ (Complete Protein) คือ มีกรดอะมิโนจำเป็นครบทั้ง 9 ชนิด จึงดีต่อร่างกายหลายด้าน เช่น ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ดี ช่วยให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์โปรตีนชนิดอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แค่นั้นยังไม่พอ เพราะนมกัญชงยังอุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวที่ดีต่อร่างกาย อย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 แถมยังมีวิตามินและแร่ธาตุสำคัญอื่น ๆ ด้วย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 12 วิตามินดี แคลเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม โพแทสเซียม สังกะสี
ประโยชน์สุขภาพของนมกัญชง
นมกัญชงมีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลากหลาย จึงดีต่อสุขภาพในหลายด้าน เช่น
นมกัญชง ช่วยบำรุงกระดูก
แคลเซียมในนมกัญชงเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ร่างกายใช้ในการสร้างกระดูกและฟัน ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ทั้งยังช่วยเพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูกได้ด้วย เมื่อกระดูกแข็งแรง ความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ที่นำไปสู่ภาวะกระดูกหัก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ก็จะน้อยลง
นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน ได้แล้ว เมื่อคุณได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ยังช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้อย่างเป็นปกติ และช่วยป้องกันการเกิดภาวะขาดแคลเซียมที่ทำให้มีอาการ เช่น ผิวแห้ง เหนื่อยล้า ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ปวดกล้ามเนื้อ ได้ด้วย
ดีต่อสุขภาพหัวใจ
ในเมล็ดกัญชงมีกรดอะมิโนที่ชื่อว่า อาร์จินีน (Arginine) ที่กระตุ้นให้ร่างกายผลิตกรดไนตริก (Nitric acid) ซึ่งมีส่วนช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว เลือดจึงไหลเวียนได้ดี โดยงานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า คนที่บริโภคอาร์จินีนมากกว่าจะมีระดับของซี-รีแอคทีฟ โปรตีน (C-reactive protein หรือ CRP) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบต่ำกว่าคนที่บริโภคอาร์จินีนน้อยกว่า จึงส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าตามไปด้วย
ดีต่อสุขภาพผิว
นมกัญชงมีกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 ที่ช่วยกระตุ้นการตอบสนองต่อการอักเสบของผิวหนัง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งชี้ว่า ผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) ที่บริโภคน้ำมันเมล็ดกัญชงเป็นประจำทุกวันมีปัญหาผิวแห้งและอาการคันน้อยกว่า และงานวิจัยอีกชิ้นก็ยังได้ผลลัพธ์ไปในทางเดียวกัน คือ ผู้หญิงที่บริโภคกรดไขมันโอเมก้า 6 มากกว่าจะมีปัญหาผิวแห้ง ผิวบาง น้อยกว่า
ถึงแม้งานวิจัยเหล่านี้จะเป็นการวิจัยประโยชน์ของเมล็ดกัญชง ไม่ได้วิจัยนมกัญชงโดยตรง แต่เนื่องจากนมกัญชงทำมาจากเมล็ดกัญชง ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่า ประโยชน์ที่ได้ก็น่าจะเหมือนกัน
ช่วยบำรุงสมอง
ไขมันดีอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 ที่มีมากในนมกัญชง นอกจากจะดีต่อผิวแล้ว ยังดีต่อสมองและระบบประสาทด้วย โดยงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า กรดไขมันทั้งสองชนิดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท (Neurodegenerative disorder) เช่น โรคอัลไซเมอร์ คือ ช่วยให้ความเสี่ยงดังกล่าวลดลงได้
ความเสี่ยงที่ควรรู้ก่อนบริโภค
แม้นมกัญชงจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกดี ๆ ที่คุณไม่ควรพลาด แต่ก็มีความเสี่ยงบางประการที่คุณควรรู้ก่อนตัดสินใจบริโภคนมกัญชง ดังนี้
- โรคภูมิแพ้กัญชง แม้ภาวะนี้จะพบได้ไม่บ่อย แต่บางคนก็อาจแพ้กัญชงได้ หากคุณดื่มนมกัญชงแล้วมีอาการของโรคภูมิแพ้ เช่น ผื่นขึ้น เป็นลมพิษ บวมบริเวณใบหน้า คลื่นไส้อาเจียน ควรหยุดดื่มทันที และไปพบคุณหมอ
- โรคเบาหวาน นมกัญชงบางยี่ห้อที่วางขายในท้องตลาดอาจเติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานบางชนิด หากดื่มมาก ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน หรือทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอาการแย่ลงได้
- อาการปวดท้อง ในเมล็ดกัญชงมีสารแทนนิน (Tannins) และซาโปนิน (Saponins) เมื่อบางคนดื่มเข้าไปแล้ว อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างอ่อนได้
หากคุณมีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพใด ๆ ควรให้ปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจดื่มนมกัญชง คุณหมอจะได้ช่วยแนะนำให้ได้ว่า นมจากพืชชนิดนี้เหมาะกับคุณหรือไม่ และคุณควรบริโภคอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุด
[embed-health-tool-bmr]