backup og meta

กระเจี๊ยบ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

กระเจี๊ยบ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

กระเจี๊ยบ (Rosell) เป็นพืชล้มลุกที่มีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา พบมากในแถบประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่น รวมไปถึงประเทศไทย ดอกกระเจี๊ยบมีสีแดงอมม่วง กลีบเลี้ยงให้รสเปรี้ยว นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่ม สกัดเป็นผง และทำเป็นอาหารเสริม กระเจี๊ยบอุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่อาจมีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด และรักษาปัญหาเกี่ยวกับโรคไต เช่น ช่วยขับปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคกระเจี๊ยบในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

คุณค่าทางโภชนาการของ กระเจี๊ยบ

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า กระเจี๊ยบ 100 กรัม มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 86.6 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 49 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 11.3 กรัม
  • โปรตีน 0.96 กรัม
  • แคลเซียม 215 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 51 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 1.48 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ กระเจี๊ยบยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โซเดียม วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 12 วิตามินซี ทั้งยังประกอบไปด้วยฟลาโวนอยด์ กรดฟีนอลิก และกรดอินทรีย์ ที่ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ กระเจี๊ยบ

กระเจี๊ยบอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของกระเจี๊ยบ ดังนี้

อาจช่วยลดความดันโลหิตได้

กระเจี๊ยบมีคุณสมบัติช่วยลดความดันโลหิตได้ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูง เนื่องจากมีสารประกอบที่กระตุ้นการปลดปล่อยไนตริกออกไซด์จากหลอดเลือด ทำให้ไตทำหน้าที่กรองของเสียได้ดีขึ้น และช่วยขับปัสสาวะ ส่งผลให้ระดับความดันโลหิตลดลง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Advanced Pharmaceutical Technology & Research ฉบับเดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของกระเจี๊ยบที่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงระยะที่ 1 โดยการศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 18-70 ปี จำนวน 46 คน เป็นเวลา 1 เดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ดื่มน้ำกระเจี๊ยบ 474 มิลลิลิตรทุกวัน ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ลดน้ำหนัก ควบคุมอาหาร มีระดับความดันโลหิตลดลงมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวและไม่ดื่มน้ำกระเจี๊ยบเลย

อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลได้

กระเจี๊ยบมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือด ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Fitoterapia ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ศึกษาเรื่อง การใช้กระเจี๊ยบรักษาโรคความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดสูง พบว่า กระเจี๊ยบมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สามารถยับยั้งปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมันเลว ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

อาจช่วยป้องกันมะเร็งได้

กระเจี๊ยบมีสารแอนโทไซยานินที่มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เมื่อออกฤทธิ์ร่วมกับสารอื่น ๆ ในกระเจี๊ยบอาจช่วยต้านมะเร็งได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของสารสกัดจากกระเจี๊ยบในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและจุลพยาธิวิทยาในเนื้องอกของเต้านมของหนูทดลอง พบว่า การบริโภคสารสกัดจากกระเจี๊ยบในปริมาณ 125 และ 500 มิลลิกรัมช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดได้  อีกทั้งสารแอนโทไซยานินยังช่วยยับยั้งการแตกของเม็ดเลือดที่เกิดจากสารก่อมะเร็งในเซลล์เม็ดเลือดในหนูทดลอง ซึ่งอาจยืนยันประสิทธิภาพการยับยั้งมะเร็งของกระเจี๊ยบได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Carcinogenesis เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2548 ศึกษาเรื่องสารสกัดกระเจี๊ยบซึ่งอุดมด้วยสารโพลิฟีนอล (Polyphenol) ที่กระตุ้นให้เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหารตายลงได้ พบว่า สารโพลิฟีนอลมีกลไกการออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง สามารถกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งในกระเพาะอาหารของมนุษย์ตายได้ ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการนำไปรักษาโรคมะเร็งในอนาคต

 อาจช่วยป้องกันโรคอ้วนได้

กระเจี๊ยบมีฤทธิ์ในการยับยั้งการสะสมไขมันในร่างกาย เพราะประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น สารฟลาโวนอยด์ กรดคลอโรจีนิก สารฟีนอล และสารอื่น ๆ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคอ้วน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Molecules ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ศึกษาเรื่องประโยชน์ของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากกระเจี๊ยบต่อโรคอ้วน โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยในกลุ่มตัวอย่างทั้งสัตว์ทดลองและมนุษย์ในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง พบว่า การบริโภคกระเจี๊ยบช่วยลดน้ำหนักตัว ลดการสะสมไขมัน และเพิ่มการเผาผลาญคอเลสเตอรอลได้

ข้อควรระวังในการบริโภค กระเจี๊ยบ

ข้อควรระวังในการบริโภค กระเจี๊ยบ อาจมีดังนี้

  • กระเจี๊ยบมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ หากผู้ที่ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต้องการรับประทานกระเจี๊ยบทั้งในรูปแบบยา ผง หรือเครื่องดื่ม ควรรับบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมและมีระดับเข้มข้นไม่มาก เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องเสียรุนแรง
  • กระเจี๊ยบมีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต ผู้ที่ใช้ยาลดความดันโลหิตร่วมกับการบริโภคกระเจี๊ยบควรวัดความดันโลหิตเป็นประจำ
  • ชากระเจี๊ยบอาจลดประสิทธิภาพการดูดซึมยาคลอโรควิน (Chloroquine) ของร่างกาย ผู้ที่ใช้ยาคลอโรควินเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคมาลาเรีย จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารหรือยาที่ทำจากกระเจี๊ยบ เพื่อไม่ให้ตัวยามีประสิทธิภาพลดลง

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Effect of hibiscus sabdariffa on blood pressure in patients with stage 1 hypertension. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6621350/. Accessed April 22, 2022

Hibiscus Tea: Is It Good for You?. https://www.webmd.com/diet/hibiscus-tea-is-it-good-for-you. Accessed April 22, 2022

Hibiscus Sabdariffa – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-211/hibiscus-sabdariffa. Accessed April 22, 2022

Beneficial Effects of Natural Bioactive Compounds from Hibiscus sabdariffa L. on Obesity. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6337177/. Accessed April 22, 2022

7 Benefits of Hibiscus Tea. https://health.clevelandclinic.org/benefits-of-hibiscus/. Accessed April 22, 2022

Roselle, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/168170/nutrients. Accessed April 22, 2022

Hibiscus sabdariffa L. in the treatment of hypertension and hyperlipidemia: a comprehensive review of animal and human studies. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3593772/. Accessed April 22, 2022

Effects of Hibiscus sabdariffa Calyxes Aqueous Extract on Antioxidant Status and Histopathology in Mammary Tumor-Induced in Rats. https://www.hindawi.com/journals/ecam/2022/9872788/. Accessed April 22, 2022

Beneficial Effects of Natural Bioactive Compounds from Hibiscus sabdariffa L. on Obesity. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6337177/. Accessed April 22, 2022

Hibiscus polyphenol-rich extract induces apoptosis in human gastric carcinoma cells via p53 phosphorylation and p38 MAPK/FasL cascade pathway. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15791651/.  Accessed April 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/05/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

กระเจี๊ยบเขียว ช่วยผู้ป่วยเบาหวานรับมือกับโรคได้อย่างไร

ประโยชน์จากน้ำกระเจี๊ยบ แก้กระหาย คลายร้อน แถมยังดีต่อสุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 20/05/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา