ข้าวโพดอ่อน สามารถรับประทานได้ทั้งฝัก เนื้อหวานกรอบ นับเป็นพืชส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ปลูกมากในภาคกลางและภาคตะวันตก เช่น กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นิยมนำไปผัดและแกงร่วมกับผักอื่น ๆ หรือเนื้อสัตว์ หรือนำไปลวกเป็นเครื่องเคียงแนมกับน้ำพริก ข้าวโพดอ่อน มีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น สังกะสี เหล็ก โฟเลต ใยอาหาร สารแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
[embed-health-tool-bmi]
คุณค่าทางโภชนาการของ ข้าวโพดอ่อน
ข้าวโพดอ่อนปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 22.4 กิโลแคลอรี่ รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต 4.2 กรัม
- โปรตีน 0.7 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- โซเดียม 0.8 มิลลิกรัม
อีกทั้งยังมีสารอาหารอื่น ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินซี แมงกานีส แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก สารลูทีน (Lutein) ซีแซนทีน (Zeaxanthin)
ประโยชน์ของข้าวโพดอ่อนต่อสุขภาพ
ข้าวโพดอ่อน อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของข้าวโพดอ่อน ดังนี้
อาจช่วยบำรุงและปกป้องสุขภาพดวงตา
ข้าวโพดอ่อนมีสารลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งมีคุณสมบัติในการป้องกันดวงตาจากคลื่นแสงพลังงานสูงอย่างรังสีอัลตราไวโอเลต ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคต้อกระจกและโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม การบริโภคข้าวโพดอ่อน จึงอาจช่วยบำรุงและปกป้องสุขภาพดวงตาได้
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง หัวข้อเรื่องการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับประโยชน์และโทษของลูทีนและซีแซนทีนในการปกป้องดวงตามนุษย์จากแสง ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ophthalmology ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยอ้างอิงผลการทดสอบจากงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นจนได้ข้อสรุปว่า การขาดแคลนลูทีนและซีแซนทีนเนื่องจากวัยหรือการเลือกบริโภคอาหาร สามารถเพิ่มความเสี่ยงให้ดวงตามนุษย์เสียหายจากแสงได้
นอกจากนี้ ลูทีนและซีแซนทีนยังมีคุณสมบัติช่วยป้องกันแสงสีฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม ด้วยการลดการดูดซึมแสงสีฟ้าเข้าสู่ดวงตา
ข้อควรระวังในการบริโภคข้าวโพดอ่อน
การบริโภคข้าวโพดอ่อน มีข้อควรระวังดังนี้
- ข้าวโพดอ่อนมีสารที่ป้องกันการดูดซึมของสารอาหาร (Antinutrients)จึงควรบริโภคข้าวโพดอ่อนในปริมาณจำกัดและบริโภคด้วยความระมัดระวังและควรแช่ข้าวโพดอ่อนในน้ำและล้างให้สะอาดก่อนบริโภคหรือนำไปปรุงอาหาร
- ข้าวโพดอ่อนอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อรา
- สตรีมีครรภ์และระยะให้นมบุตร สามารถบริโภคข้าวโพดอ่อนได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมาก และควรบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน