backup og meta

จำปาดะ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

จำปาดะ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค 

จำปาดะ เป็นผลไม้เมืองร้อนลักษณะคล้ายขนุน มีรสหวาน อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่อาจส่งผลดีต่อสุขภาพ ช่วยบำรุงสายตา ส่งเสริมสุขภาพหัวใจ สุขภาพทางเดินอาหาร นอกจากนี้ สารสกัดจากเปลือกจำปาดะอาจมีประโยชน์ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งและรักษาโรคมาลาเรียได้อีกด้วย

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของจำปาดะ

จำปาดะปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 117 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 25.8 กรัม
  • โปรตีน 2.5 กรัม
  • ไขมัน 0.4 กรัม
  • ไฟเบอร์ 3.4 กรัม

นอกจากนี้ จำปาดะยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 (ไนอาซิน) แคโรทีน เหล็ก ฟอสฟอรัส แคลเซียม

ประโยชน์ของจำปาดะต่อสุขภาพ

จำปาดะมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณในการป้องกันโรค รักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพของจำปาดะ ดังนี้

ช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจ

จำปาดะอุดมไปด้วยโพแทสเซียมที่อาจช่วยลดความดันโลหิต และส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารเดอะบีเอ็มจี (The BMJ) เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ทำการศึกษาผลของการบริโภคโพแทสเซียมนต่อการเกิดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,606 คน พบว่า การบริโภคโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นช่วยลดความดันโลหิตในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของไต ความเข้มข้นของไขมันในเลือด และความเข้มข้นของสารสื่อประสาทกลุ่มแคททีโคลามีน (Catecholamines hormones) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระบบเผาผลาญและความเครียด นอกจากนี้ การรับประทานโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นยังอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะไตวาย ได้ด้วย

อาจช่วยป้องกันภาวะตาแห้ง

จำปาดะอุดมไปด้วยวิตามินเอที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเม็ดสีในดวงตาและผิวลูกตา นอกจากนี้ ยังอาจช่วยบำรุงสายตา ป้องกันอาการตาบอดกลางคืน ตาพร่ามัว ตาแห้ง รวมถึงภาวะตาบอดในเด็กได้ด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Ophthalmology เมื่อเดือนภุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ทำการวิจัยผลการรับประทานวิตามินเอเสริมในระยะสั้นต่อฟิล์มน้ำตาที่หล่อลื่นผิวตาในผู้ป่วยโรคตาแห้ง โดยศึกษากลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้ป่วยโรคตาแห้งเพศชายจำนวน 30 คนที่ไม่สวมคอนแทคเลนส์ และไม่มีปัญหาสุขภาพตาอื่น ๆ ยกเว้นตาแห้ง และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มชายวัย 30 ที่สุขภาพตาแข็งแรงดี เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอติดต่อกัน 3 วัน ผลวิจัยพบว่า การรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอในระยะเวลาสั้น ๆ ช่วยให้ฟิล์มน้ำตาของผู้ป่วยโรคตาแห้งมีคุณภาพดีขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มปริมาณฟิล์มน้ำตา อย่างไรก็ตาม อาจต้องศึกษาวิจัยเรื่องนี้เพิ่มเติมในกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นและอาจต้องให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอนานขึ้น เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่ชัดเจนขึ้น

ช่วยส่งเสริมสุขภาพทางเดินอาหาร

จำปาดะผลสุกมีใยอาหารสูงซึ่งดีต่อระบบทางเดินอาหาร ระบบย่อยอาหาร และจุลินทรีย์ในลำไส้ อาจช่วยควบคุมระบบเผาผลาญ ปรับสมดุลการดูดซึมสารอาหาร ซึ่งอาจส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนและโรคเมตาบอลิกซินโดรมที่เกิดจากกระบวนการเผาพลาญพลังงานผิดปกติลดลงได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ทำการวิจัยเกี่ยวกับใยอาหาร จุลินทรีย์ในลำไส้ และการควบคุมระบบเผาผลาญ โดยการทบทวนงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องจำนวน 232 ชิ้น พบว่า ใยอาหารมีส่วนช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบเผาผลาญพลังงานและแบคทีเรียในลำไส้

อาจช่วยลดความเสี่ยงมะเร็ง

สารสกัดจากเปลือกของต้นจำปาดะอาจมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ทั้งยังอาจยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Natural Product Research เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ทำการวิจัยเกี่ยวกับอาร์โทแมนดิน (Artomandin) สารสกัดแซนโทนชนิดใหม่จากพืชตระกูลขนุน พบว่า สารสกัดแซนโทนชนิดใหม่ที่ชื่อว่า อาร์โทแมนดิน รวมถึงอาร์โทอินโดนีเซียนิน ซี (Artoindonesianin C) อาร์โตนอล บี (Artonol B) อาร์โตชามิน เอ (Artochamin A) และเบต้า-ซิโทสเตอรอล (β-sitosterol) ที่สกัดได้จากเปลือกลำต้นของไม้ตระกูลขนุน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และอาจช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ในระดับอ่อน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BioMed Research International เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 ทำการวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์ของแซนโทนที่สกัดได้จากพืชตระกูลขนุน พบว่า ในพืชตระกูลขนุนมีสารสกัดแซนโทนชนิดใหม่ 3 ชนิด ได้แก่ pyranocycloartobiloxanthone A, dihydroartoindonesianin C และ pyranocycloartobiloxanthone B ที่มีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดโพรมัยอีโลไซติก (Promyelocytic leukemia) มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอีลอยด์เรื้อรัง (Chronic myeloid leukemia) และมะเร็งเต้านม

อาจช่วยรักษาโรคมาลาเรีย

สารสกัดเอทานอล (Ethanol) จากเปลือกต้นจำปาดะอาจมีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อมาลาเรีย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Review of the Armed Forces Medical Services เมื่อปี พ.ศ. 2555 ทำการวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นพิษของแคปซูลจำปาดะ เมื่อใช้เป็นยาทางเลือกในการป้องกันโรคมาลาเรีย ในเมืองนันงา บาเดา (Nanga Badau) จังหวัดกาลีมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่าง 100 คนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้รับประทานแคปซูลที่มีสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นจำปาดะ 120 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 แคปซูล กลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาด็อกซีไซคลิน 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 แคปซูล และกลุ่มที่ 3 ให้รับประทานยาหลอก วันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 แคปซูล เป็นเวลา 1 เดือน ผลสรุปว่า การรับประทานแคปซูลสารสกัดเอทานอลจากเปลือกต้นจำปาดะในปริมาณและระยะเวลาดังกล่าวช่วยป้องกันโรคมาลาเรียได้โดยไม่ส่งผลเสียต่อการทำงานของตับและไต

ข้อควรระวังในการบริโภคจำปาดะ

แม้จะมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันได้ว่าจำปาดะอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่หากรับประทานจำปาดะมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น

  • ผลจำปาดะอุดมไปด้วยกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาหารไม่ย่อย เสียดท้อง คลื่นไส้ ท้องร่วง ปวดท้อง หลอดอาหารอักเสบได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Korean Journal of Physiology & Pharmacology เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ทำการวิจัยเกี่ยวกับการบรรเทาอาการกรดเกินในกระเพาะอาหารเนื่องจากมีกรดแอสคอร์บิกสูงด้วยแคลเซียมแอสคอร์เบต (Calcium ascorbate) ในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลอง พบว่า กรดแอสคอร์บิกมีความเป็นกรดสูงและสามารถกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร เช่น เปปซิน (Pepsin) สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย เสียดท้อง คลื่นไส้ ท้องร่วง ปวดท้อง หลอดอาหารอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันจากเอกสารข้อมูลสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของ National Institutes of Health (NIH) ทำการศึกษาเกี่ยวกับวิตามินซี พบว่า ผลข้างเคียงของการรับประทานวิตามินซีมากเกินไปที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการท้องร่วง คลื่นไส้ ปวดท้อง และความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นผลจากมีวิตามินซีส่วนเกินไม่ถูกดูดซึมในทางเดินอาหาร
  • จำปาดะผลสุกเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน มีแป้งและน้ำตาลสูง หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด และน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vitamin C.  https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminC-HealthProfessional/#en4. Accessed January 17, 2022

Alleviation of ascorbic acid-induced gastric high acidity by calcium ascorbate in vitro and in vivo. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5746510/#:~:text=Because%20ascorbic%20acid%20is%20highly,may%20trigger%20these%20gastrointestinal%20symptoms. Accessed January 17, 2022

Artomandin, a new xanthone from Artocarpus kemando (Moraceae). https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21644180/. Accessed January 17, 2022

Antiproliferative Activity of Xanthones Isolated from Artocarpus obtusus. https://www.hindawi.com/journals/bmri/2012/130627/. Accessed January 17, 2022

Preliminary Study of Safety and Toxicity of Cempedak Capsules as an Alternative Complementary Drug for Malaria Prophylaxis at Nanga Badau, Kalimantan. https://www.researchgate.net/publication/315797918_Preliminary_Study_of_Safety_and_Toxicity_of_Cempedak_Capsules_as_an_Alternative_Complementary_Drug_for_Malaria_Prophylaxis_at_Nanga_Badau_Kalimantan. Accessed January 17, 2022

Dietary Fiber, Gut Microbiota, and Metabolic Regulation—Current Status in Human Randomized Trials. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7146107/. Accessed January 17, 2022

Effects of short-term oral vitamin A supplementation on the ocular tear film in patients with dry eye. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6462169/. Accessed January 17, 2022

Effect of increased potassium intake on cardiovascular risk factors and disease: systematic review and meta-analyses. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4816263/. Accessed January 17, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/11/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วิตามินบี ช่วยอะไร และอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี

อาหาร 5 หมู่ และสารอาหารสำคัญต่อร่างกาย


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 3 วันก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา