ดอกอัญชัน เป็นพืชพื้นเมืองในเอเชีย สามารถนำมาทำเป็นสีย้อมอาหารหรือสิ่งทอ เครื่องสำอาง หรือชาสมุนไพรได้ นอกจากนี้ ดอกอัญชันยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพ เช่น บำรุงให้สุขภาพผิวและผมแข็งแรง ช่วยควบคุมน้ำหนัก และลดระดับน้ำตาลในเลือด
คุณค่าทางโภชนาการของดอกอัญชัน
ดอกอัญชัน อุดมไปด้วยสารแอนโธไซยานิน (Anthocyanin) ที่เรียกว่า เทอร์นาติน (Ternatins) ที่ทำให้ดอกอัญชันมีสีสันสดใสเฉพาะตัว และจากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Agricultural and Food Chemistry ประเทศสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ. 2558 และในวารสาร Elife ประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2558 พบว่า เทอร์นาติน (Ternatins) อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบและอาจป้องกันการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้
ดอกอัญชันยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอีกหลายชนิด ได้แก่
- แคมพ์เฟอรอล (Kaempferol) จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2562 พบว่า แคมพ์เฟอรอลอาจเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณสมบัติช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งได้
- เดลฟินิดิน-3 (Delphinidin-3) 5-กลูโคไซด์ (5-Glucoside) จากงานวิจัยในวารสาร Scientific Reports ประเทศอังกฤษ พบว่า เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและอาจช่วยต้านมะเร็งได้
- กรดพี-คูมาริก (p-Coumaric Acid) จากงานวิจัยในวารสาร Journal of the Science of Food and Agriculture ประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2559 พบว่า กรดพี-คูมาริก เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยป้องกันโรคได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านจุลชีพ ต้านไวรัส และต้านการอักเสบ
ประโยชน์ของดอกอัญชัน
อัญชันอาจเป็นพืชที่ส่งเสริมสุขภาพหลายประการ ดังนี้
-
สุขภาพเส้นผมและสุขภาพผิว
ดอกอัญชันมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพเส้นผมให้แข็งแรง ลดการขาดหลุดร่วง โดยงานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมคาลิงกา ประเทศอินเดีย ปี พ.ศ. 2561 ทำการศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของชาดอกอัญชัน พบว่า องค์ประกอบทางเคมีของดอกอัญชันอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์ ซึ่งอาจช่วยต่อต้านริ้วรอยแห่งวัย และอาจป้องกันผมขาดหลุดร่วงได้
นอกจากนี้ ยังมีการวิจัยในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2564 พบว่า สารสกัดจากดอกอัญชันมีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยดูแลและรักษาโรคผิวหนัง ต้านการอักเสบและต่อต้านริ้วรอย อาจเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก้ผิวได้ถึง 70% หลังจากการใช้ 1 ชั่วโมง
-
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
ดอกอัญชันอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้ โดยงานวิจัยหนึ่งในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapies ประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2561 ได้ทำการศึกษาให้ผู้ชาย 15 คนทดลองดื่มเครื่องดื่มที่มีสารสกัดจากดอกอัญชัน พบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มจากดอกอัญชันมีการทำงานของอินซูลินดีขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และระดับสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหนึ่งในวารสาร BMC Complementary Medicine and Therapies ประเทศอังกฤษ ปี พ.ศ. 2558 พบว่า สารต้านอนุมูลอิสระในดอกอัญชันอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานและป้องกันความเสื่อมของเซลล์ได้
อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมว่า ดอกอัญชันส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในระยะยาวหรือไม่
-
อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพตับ
จากงานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมคาลิงกา ประเทศอินเดีย ปี พ.ศ.2561 เกี่ยวกับประโยชน์ของชาดอกอัญชัน พบว่า สารสกัดจากรากดอกอัญชันพันธุ์สีน้ำเงินและสีขาว อาจประกอบด้วยเมทานอล (Methanol) คลอโรฟอร์ม (Chloroform) และปิโตรเลียมอีเทอร์ (Petroleum Ether) ที่อาจมีคุณสมบัติช่วยส่งเสริมสุขภาพตับ
-
อาจช่วยเรื่องความจำและการทำงานของสมอง
สารบางชนิดในดอกอัญชันอาจช่วยเพิ่มอะซีทิลคอลีน (Acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สร้างขึ้นภายในสมอง มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ การคิด และกระบวนการทำงานของความจำ นอกจากนี้ การรับประทานชาดอกอัญชันในปริมาณมากอาจมีฤทธิ์เป็นยาลดกังวล (Anxiolytic) ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและความเครียดได้
-
อาจช่วยลดน้ำหนัก
สารสกัดจากดอกอัญชันอาจมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้ โดยจากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2562 พบว่า สารสกัดจากกลีบดอกอัญชันอาจช่วยชะลอวัฏจักรการสร้างเซลล์ไขมัน และอาจช่วยสลายไขมันที่เกิดจากคาเทโคลามีน (Catecholamine) ในเซลล์ไขมัน ที่เป็นกลุ่มฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมหมวกไตชั้นใน
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับดอกอัญชันว่ามีผลต่อการลดน้ำหนักได้อย่างไร
ข้อควรระวังในการรับประทานดอกอัญชัน
การรับประทานดอกอัญชันในปริมาณที่เหมาะสมถือว่าปลอดภัย แต่ก็มีบางรายงานได้ระบุถึงผลข้างเคียงหลังรับประทานดอกอัญชันพบว่า อาจทำให้มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย ทั้งนี้ ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันถึงความเสี่ยงและผลข้างเคียงของดอกอัญชันที่กล่าวมาข้างต้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยารักษาอยู่ ควรปรึกษาคุณหมอถึงผลข้างเคียงของดอกอัญชันต่อโรคหรือยา ก่อนรับประทานหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของดอกอัญชัน
[embed-health-tool-bmr]