backup og meta

ต้นหอม โภชนาการ และข้อควรระวังในการบริโภค

ต้นหอม โภชนาการ และข้อควรระวังในการบริโภค

ต้นหอม เป็นพืชสมุนไพรและเครื่องเทศตระกูลเดียวกับกระเทียม หัวสีขาว ลำต้นซึ่งเป็นกาบใบสีเขียวยาวประมาณ 12 นิ้ว ให้กลิ่นเฉพาะตัว รับประทานได้ทุกส่วนทั้งแบบดิบและสุก นิยมนำไปใช้โรยหน้าเพื่อเสริมกลิ่นให้เมนูอาหาต่าง ๆ รวมถึงใช้เป็นเครื่องเคียงหรือแนมกับเมนูอาหารบางชนิด อย่างข้าวผัดหรือปอเปี๊ยะ เพื่อเสริมสมดุลรสชาติในปาก ต้นหอมประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ วิตามินหลายชนิด เช่น ไฟเบอร์ วิตามินเอ วิตามินซี มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น อาจช่วยต้านมะเร็ง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เสริมสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูก

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ ต้นหอม

ต้นหอม 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 32 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 7.34 กรัม
  • โปรตีน 1.83 กรัม
  • ไขมัน 0.19 กรัม
  • โพแทสเซียม 276 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 72 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 37 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 20 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 18.8 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ต้นหอมยังมีสารอาหารอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น สังกะสี ทองแดง แมงกานีส ซีลีเนียม (Selenium) โคลีน (Choline) วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินเค โฟเลต (Folate) เบตา แคโรทีน (β-Carotene)

ประโยชน์ของต้นหอมต่อสุขภาพ

ต้นหอมอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของต้นหอม ดังนี้

1. อาจช่วยต้านมะเร็งได้

ต้นหอมมีสารไดแอลลิล ไดซัลไฟด์ (Diallyl Disulfide) ที่มีคุณสมบัติเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง และยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ดังนั้น การบริโภคต้นหอมจึงอาจช่วยต้านมะเร็งได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติของสารไดแอลลิล ไดซัลไฟด์ในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็ง เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Molecular Sciences ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้ทำการศึกษาผลการศึกษาหลาย ๆ ชิ้น ทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับระบาดวิทยา การทดลองในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับประสิทธิภาพของไดแอลลิล ไดซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสารอาหารในพืชตระกูลหอมกระเทียมในการป้องกันหรือรักษาโรคมะเร็งผ่านกลไกต่าง ๆ เช่น การยับยั้งวัฏจักรของเซลล์มะเร็ง การเหนี่ยวทำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง การหยุดยั้งกระบวนการสร้างหลอดเลือดใหม่ (Angiogenesis) รวมถึงการสกัดไม่ให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัว หรือแพร่กระจายไปยังบริเวณข้างเคียง พบว่า การบริโภคพืชในตระกูลหอม-กระเทียมซึ่งมีสารไดแอลลิล ไดซัลไฟด์ อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการศึกษาจากข้อมูลที่ได้จากห้องปฏิบัติการและหลอดทดลอง ควรมีการศึกษาและทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าการบริโภคพืชในกลุ่มหอม-กระเทียมซึ่งมีสารไดแอลลิล ไดซัลไฟด์ สามารถช่วยต้านมะเร็งได้จริง

2. อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

ต้นหอมอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีมีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ต่อต้านการอักเสบ ช่วยลดระดับไขมันในเลือดและความดันเลือดซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น การบริโภคต้นหอม จึงอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ในงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยความสัมพันธ์ของการบริโภคพืชตระกูลหอม-กระเทียม และโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไตเรื้อรัง ในผู้ใหญ่ ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Hypertension ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยได้ติดตามและศึกษาพฤติกรรมการบริโภคพืชตระกูลหอม-กระเทียมของเพศชายและเพศหญิงจำนวนหนึ่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2549-2551 และ 2555-2557 เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคพืชตระกูลหอม-กระเทียมที่มีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคไตเรื้อรัง พบว่า ผู้ที่บริโภคพืชตระกูลหอม-กระเทียมเป็นประจำ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง และโรคความดันโลหิตสูงลดลง โดยอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง และโรคความดันโลหิตสูงประมาณร้อยละ 64, 32 และ 26 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคพืชตระกูลหอม-กระเทียม ต่อการลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน

3. อาจช่วยบำรุงสายตา

ต้นหอมมีสารอาหารกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) อย่างเบตา แคโรทีน ลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการรักษาสุขภาพสายตาและป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตา ดังนั้น การบริโภคต้นหอม จึงอาจช่วยบำรุงสายตาได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารเบตา แคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน ต่อสุขภาพของดวงตาและโรคเกี่ยวกับดวงตา ตีพิมพ์ในวารสาร Antioxidants ปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า เมื่อบริโภคสารเบตา แคโรทีน เข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายโดยเฉพาะดวงตา

ขณะเดียวกัน ลูทีน ซีแซนทีน และเมโซ ซีแซนทีน (Meso-Zeaxanthin) มีคุณสมบัติช่วยรักษาสุขภาพสายตา ป้องกันภาวะเครียดออกซิเดชันที่ก่อให้เกิดภาวะตาอักเสบ ช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดกับเลนส์ตาและจอรับภาพจากการเผชิญกับแสง รวมทั้งปกป้องดวงตาจากโรคต่าง ๆ  เช่น ต้อกระจก โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ

ข้อควรระวังในการบริโภค ต้นหอม

ต้นหอมมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่ก่อนบริโภคต้นหอม หรือนำต้นหอมไปประกอบอาหาร ควรล้างให้สะอาดเสียก่อน เพราะต้นหอมอาจมีดิน เชื้อโรค ฝุ่นละลองหรือสิ่งแปลกปลอมปะปนอยู่ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ป่วยหรือเสียชีวิตได้

ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมียาที่ต้องใช้เป็นประจำควรบริโภคต้นหอมด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาวอร์ฟาริน (Warfarin) (ยาลดการแข็งตัวของเลือด) ควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภคผักใบเขียว เช่น ต้นหอม เพราะมีวิตามินเคซึ่งอาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด

สำหรับหญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคต้นหอมได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคในปริมาณมาก และควรบริโภคผักและผลไม้ให้หลากหลายเพื่อบำรุงร่างกายและให้ได้รับปริมาณสารอาหารครบถ้วน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Onions, spring or scallions (includes tops and bulb), raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170005/nutrients. Accessed July 7, 2022

Dietary Bioactive Diallyl Trisulfide in Cancer Prevention and Treatment. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5578035/#:~:text=Diallyl%20trisulfide%20(DATS)%2C%20a,angiogenesis%2C%20invasion%2C%20and%20metastasis. Accessed July 7, 2022

Allium vegetable intakes and the incidence of cardiovascular disease, hypertension, chronic kidney disease, and type 2 diabetes in adults. https://journals.lww.com/jhypertension/Abstract/2017/09000/Allium_vegetable_intakes_and_the_incidence_of.25.aspx. Accessed July 7, 2022

Vitamin K and Bone Health: A Review on the Effects of Vitamin K Deficiency and Supplementation and the Effect of Non-Vitamin K Antagonist Oral Anticoagulants on Different Bone Parameters. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6955144/. Accessed July 7, 2022

A Mechanistic Review of β-Carotene, Lutein, and Zeaxanthin in Eye Health and Disease. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33114699/. Accessed July 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

หัวหอม ประโยชน์ต่อสุชภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

กล้วยหอม ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา