backup og meta

ทานตะวัน ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ทานตะวัน ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ทานตะวัน เป็นไม้ดอกที่มีดอกสีเหลืองสดใสเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย นอกจากจะนำดอกไปประดับตกแต่งแล้ว ยังนิยมรับประทานเมล็ดทานตะวันเป็นของว่างเพื่อสุขภาพ และนำเมล็ดทานตะวันมาสกัดน้ำมันไปประกอบอาหารและทาบำรุงผิว เนื่องจากมีโปรตีนสูง อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งเป็นไขมันชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย อีกทั้งยังสามารถนำต้นอ่อนทานตะวันมาประกอบอาหารได้ด้วย การบริโภคทานตะวันในปริมาณที่เหมาะสมอาจช่วยในการลดระดับความดันโลหิต อาจควบคุมระดับคอเลสเตอรอล และอาจช่วยลดการอักเสบได้

คุณค่าทางโภชนาการของ ทานตะวัน

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า เมล็ดทานตะวัน 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 584 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

  • ไขมัน 51.5 กรัม
  • โปรตีน 20.8 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 20 กรัม
  • ฟอสฟอรัส 660 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 645 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 325 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 78 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 9 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ในเมล็ดทานตะวันยังมีสังกะสี ทองแดง วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินอี โคลีน (Choline) เบทาอีน (Betaine) มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณสูงและมีโซเดียมต่ำ

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ทานตะวัน

อาจช่วยลดระดับความดันโลหิต

เมล็ดทานตะวันอุดมไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะกรดลิโนเลอิก (Linoleic acid) ซึ่งจะผลิตสารคล้ายฮอร์โมนที่ช่วยคลายหลอดเลือด ช่วยลดระดับความดันโลหิตในช่วงหัวใจบีบตัว (Systolic blood pressure หรือ SBP) และอาจช่วยระดับคอเลสเตอรอลได้ด้วย

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร International scholarly research notices เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคอัลมอนด์หรือเมล็ดทานตะวันทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 22 คนรับประทานอัลมอนด์และเมล็ดทานตะวันในปริมาณ 30 กรัม/วัน เป็นเวลา 3 สัปดาห์ร่วมกับการรับประทานอาหารแบบสมดุล พบว่า การรับประทานเมล็ดทานตะวันช่วยลดระดับไขมันในเลือด ทั้งยังสามารถลดความดันช่วงหัวใจบีบตัวได้ 5% ลดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) ได้ 9% และลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้ 12% จึงอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อาจช่วยลดการอักเสบ

ทานตะวันอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น วิตามินอี ฟลาโวนอยด์ เลซิทิน (Lecithin) ซึ่งออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีคุณสมบัติยับยั้งอาการอักเสบ จึงอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังที่เกิดจากการอักเสบ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Epidemiology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคถั่วและเมล็ดพืชกับการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) โดยการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยจำนวน 2,000 ฉบับ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่างเป็นคนอายุระหว่าง 45-68 ปี รวม 6,080 คน พบว่า ผู้ที่รับประทานถั่วและเมล็ดพืช รวมถึงเมล็ดทานตะวันเป็นประจำ สามารถลดปริมาณสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ เช่น โปรตีนซีรีแอคทีฟ (C-reactive) อินเตอร์ลิวคิน-6 (Interleukin-6) ไฟบริโนเจน (Fibrinogen) ได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจเป็นประโยชน์ในการรักษาโรคเรื้อรังที่เกิดจากหลอดเลือดตีบตัน เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน แต่ควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภค ทานตะวัน

ข้อควรระวังในการบริโภคทานตะวัน อาจมีดังนี้

  • แม้เมล็ดทานตะวันจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่ก็มีแคลอรี่สูง จึงควรบริโภคในปริมาณพอเหมาะ
  • บางคนอาจมีอาการแพ้เกสรและเมล็ดทานตะวัน ผู้ที่เคยมีอาการแพ้หรือสงสัยว่าจะแพ้ทานตะวัน จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือบริโภคทานตะวัน เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ลมพิษ คันปากและผิวหนัง ริมฝีปากบวม
  • น้ำมันดอกทานตะวันบางชนิดที่มีปริมาณกรดโอเลอิคต่ำ มักมีปริมาณกรดไลโนเลอิกหรือโอเมก้า 6 สูง กรดไขมันชนิดนี้มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะอาจไปลดปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ จนอาจทำให้เกิดการอักเสบในร่างกายได้
  • การแปรรูปเมล็ดทานตะวันมักนำไปอบเกลือ หากบริโภคอาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมสูงเกินไป อาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหัวใจและไตได้ จึงควรบริโภคเมล็ดทานตะวันแปรรูปในปริมาณพอเหมาะหรือเลือกบริโภคเมล็ดทานตะวันไม่ปรุงรส เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายรับโซเดียมเกินขนาด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Seeds, sunflower seed kernels, dried. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/170562/nutrients. Accessed July 21, 2022

Markers of cardiovascular risk in postmenopausal women with type 2 diabetes are improved by the daily consumption of almonds or sunflower kernels: a feeding study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24959542/. Accessed July 21, 2022

A diet rich in high-oleic-acid sunflower oil favorably alters low-density lipoprotein cholesterol, triglycerides, and factor VII coagulant activity. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15983523/. Accessed July 21, 2022

Nut and seed consumption and inflammatory markers in the multi-ethnic study of atherosclerosis. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/16357111/. Accessed July 21, 2022

Sunflower Oil – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-40/sunflower-oil. Accessed July 21, 2022

Health Benefits of Sunflower Seeds. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-sunflower-seeds. Accessed July 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/11/2024

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สูตรสลัดทูน่ายอดอ่อนทานตะวัน เมนูดี ๆ สำหรับการควบคุมน้ำหนัก

เมล็ดทานตะวัน เคี้ยวมันส์..เคี้ยวเพลิน อร่อยได้สุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 2 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา