ทุเรียนเทศ (Soursop) หรือทุเรียนน้ำ เป็นพืชในวงศ์เดียวกับกระดังงา น้อยหน่า จำปี นมแมว พบในเขตร้อนและมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลาง ทุเรียนเทศมีเปลือกนอกแข็งหนาสีเขียว ภายในเป็นเนื้อสีขาว รสชาติหวานอมเปรี้ยว สามารถรับประทานผลแบบสด หรือนำไปทำเป็นน้ำผลไม้ ชา และของหวานก็ได้ ทุเรียนเทศยังอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม ทั้งยังมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์สุขภาพหลายประการ เช่น อาจมีฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม อาจลดอาการอักเสบ อาจช่วยลดน้ำตาลในเลือด
คุณค่าทางโภชนาการของ ทุเรียนเทศ
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า ทุเรียนเทศ 100 กรัม ให้พลังงาน 66 กิโลแคลอรี มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 81.2 กรัม และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น
- คาร์โบไฮเดรต 16.8 กรัม (แบ่งเป็นไฟเบอร์หรือใยอาหาร 3.3 กรัม และคาร์โบไฮเดรตชนิดอื่น เช่น น้ำตาล แป้ง อีก 13.5 กรัม)
- โปรตีน 1 กรัม
- ไขมัน 0.3 กรัม
- ฟอสฟอรัส 27 มิลลิกรัม
- แมกนีเซียม 21 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 20.6 มิลลิกรัม
- แคลเซียม 14 มิลลิกรัม
วิตามินซีปริมาณมากในทุเรียนเทศเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งส่วนผลและใบของทุเรียนเทศยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterols) แทนนิน (Tannins) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) อีกทั้งทุเรียนเทศยังมีวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินอี โคลีน สังกะสี ทองแดง โฟเลต ซีลีเนียม เบต้าแคโรทีน เป็นต้น
ข้อควรระวังในการบริโภค ทุเรียนเทศ
ข้อควรระวังในการบริโภคทุเรียนเทศ อาจมีดังนี้
- ทุเรียนเทศมีสารสำคัญ คือ สารกลุ่มแอนโนนาซิน อะซิโตจีนิน และสารกลุ่มแอลคาลอยด์ หากรับประทานในปริมาณมากและรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นพิษต่อเนื้อเยื่อสมอง ทำให้เกิดกลุ่มอาการพาร์กินโซนิซึมหรือโรคพาร์กินสันเทียม (Atypical parkinsonism) และอาจทำให้ไตวายได้
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคทุเรียนเทศและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีทุเรียนเทศเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากเพราะอาจเป็นพิษต่อไตและมดลูก
- ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเมล็ดของทุเรียนเทศ เนื่องจากมีสารแอนโนนาซิน (Annonacin) ซึ่งเป็นพิษต่อเซลล์ในระบบประสาท และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคพาร์กินสัน
[embed-health-tool-bmr]