backup og meta

นัตโตะ ถั่วเน่าญี่ปุ่น กับประโยชน์ดี ๆ ที่อาจไม่เคยรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 07/12/2021

    นัตโตะ ถั่วเน่าญี่ปุ่น กับประโยชน์ดี ๆ ที่อาจไม่เคยรู้

    นัตโตะ หรือ ถั่วเน่าญี่ปุ่น เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น ทำมาจากถั่วเหลืองหมัก มีกลิ่นที่เฉพาะตัว นอกจากความอร่อยยังเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ไม่ว่าจะเป็นไขมัน แคลเซียม วิตามินซี วิตามินเค ที่ดีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น อาจช่วยให้กระดูกแข็งแรง ดีต่อสุขภาพหัวใจ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความหนาแน่นของกระดูก

    นัตโตะ คืออะไร

    นัตโตะ (Natto) หรือ ถั่วเน่าญี่ปุ่น เป็นอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ที่ทำมาจากถั่วเหลืองหมัก วิธีการดั้งเดิมในการทำ ถั่วเน่าญี่ปุ่น จะทำโดยการนำถั่วเหลืองต้มห่อด้วยฟางข้าว หลังจากนั้นก็จะเกิดแบคทีเรียบาซิลลัสซับทิลิส (Bacteria Bacillus Subtilis) ขึ้น นัตโตะมีลักษณะเหนียวและลื่น เป็นเมนูที่มีกลิ่นเฉพาะตัวที่ค่อนข้างฉุน โดยปกติแล้วที่ญี่ปุ่นมักจะรับประทานนัตโตะกับข้าวสวย โดยจะราดซอสถั่วเหลืองหรือมัสตาร์ดลงในนัตโตะ

    คุณค่าทางโภชนาการของนัตโตะ

    นัตโตะเป็นเมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง โดยนัตโตะ 100 กรัม ให้ปริมาณแคลอรี่ 212 กิโลแคลอรี่ นอกจากนี้ นัตโตะยังประกอบไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

    • ไขมัน 11 กรัม
    • คาร์โบไฮเดรต 14 กรัม
    • ไฟเบอร์ 5 กรัม
    • โปรตีน 18 กรัม
    • แมงกานีส 76% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • เหล็ก 48% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • ทองแดง 33% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • วิตามินเค 29% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • แมกนีเซียม 29% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • แคลเซียม 22% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • วิตามินซี 22% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • โพแทสเซียม 21% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • สังกะสี 20% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน
    • ซีลีเนียม 13% ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน

    นอกจากสารอาหารเหล่านี้แล้ว นัตโตะยังมีสารต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบจากพืชที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย

    ประโยชน์ของนัตโตะ

    นัตโตะเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการหมักทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่มากกว่าถั่วเหลือง ที่สำคัญ นัตโตะเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรไบโอติกซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย เช่น ช่วยในการย่อย ช่วยให้ลำไส้ดูดซึมสารอาหารได้ง่าย นอกจากนี้ ถั่วเน่าญี่ปุ่น ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนี้

    อาจมีส่วนช่วยปรับปรุงระบบย่อยอาหาร

    นัตโตะเป็นอาหารที่มีแบคทีเรียชนิดดี ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพในหลาย ๆ ด้าน เช่น ช่วยย่อยอาหารให้ดีขึ้น ที่สำคัญโปรไบโอติกที่มีในนัตโตะ ยังทำหน้าที่เป็นด่านแรกในการป้องกันลำไส้จากสารพิษและแบคทีเรียที่เป็นอันตรายอีกด้วย นอกจากนี้ ถั่วเหลืองยังมีสารต้านอนุมูลอิสระตามธรรมชาติ

    อาจช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก

    วิตามินเคที่พบในนัตโตะอาจมีส่วนช่วยในการจัดการกับสภาวะต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และโรคข้อเข่าเสื่อม วิตามินเคเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกระดูก ที่สำคัญยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า อาหารเสริมวิตามินเคอาจช่วยชะลอการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูกและอาจช่วยลดความเสี่ยงของกระดูกหักบางประเภทได้

    อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด

    Nattokinase เป็นเอนไซม์ที่พบได้ในนัตโตะระหว่างกระบวนการหมัก ซึ่งมีส่วนช่วยต้านการแข็งตัวของเลือด ช่วยป้องกันการก่อตัวของคราบจุลินทรีย์ในหลอดเลือด นักวิจัยพบว่า Nattokinase มีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้การบริโภคนัตโตะยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

    อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

    นัตโตะมีสารอาหารหลายชนิดที่อาจช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะโปรไบโอติกที่พบได้ในนัตโตะนั้น มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเมื่อป่วย นอกจากนี้ในนัตโตะยังอุดมไปด้วยวิตามินซี ธาตุเหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และทองแดง ซึ่งสารอาหารเหล่านี้อาจมีบทบาทสำคัญในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

    อาจช่วยลดความดันโลหิต

    การศึกษาเกี่ยวกับนัตโตะซึ่งมีผู้เข้าร่วม 79 คน ที่มีความดันโลหิตสูงพบว่า การบริโภคนัตโตะมีความสัมพันธ์กับการลดความดันโลหิตทั้งในชายและหญิง

    นัตโตะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย การรับประทานนัตโตะเป็นประจำมีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันและกระดูก นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและช่วยให้ย่อยอาหารได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย ชลธิชา จันทร์วิบูลย์ · แก้ไขล่าสุด 07/12/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา