backup og meta

ผักอบกรอบ ประโยชน์และข้อควรระวังในการรับประทาน

ผักอบกรอบ ประโยชน์และข้อควรระวังในการรับประทาน

ผักอบกรอบ เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผ่านการแปรรูป อาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่รักสุขภาพหรือผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผักสด ให้ได้รับประทานผักง่ายขึ้นและยังคงได้สารอาหารที่หลากหลายจากผักแต่ละชนิด รวมถึงผักอบกรอบยังอาจมีประโยชน์ในการช่วยควบคุมน้ำหนัก และอุดมไปด้วยใยอาหารที่อาจดีต่อสุขภาพทางเดินอาหารอีกด้วย

ประโยชน์ของผักอบกรอบที่มีต่อสุขภาพ

ผักอบกรอบ อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของผักอบกรอบในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. ดีต่อสุขภาพทางเดินอาหาร

ผักอบกรอบ เป็นผักที่ผ่านการแปรรูปโดยการดูดน้ำออกจึงทำให้ผักแห้งและกรอบขึ้น แต่ยังคงใยอาหารสูงของผักแต่ละชนิดอยู่ ซึ่งใยอาหารมีความสำคัญต่อสุขภาพทางเดินอาหารและลำไส้ ดังนั้น การรับประทานผักอบกรอบจึงอาจช่วยเสริมใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของใยอาหารต่อสุขภาพ พบว่า ใยอาหารเป็นสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ไม่สามารถย่อยได้ พบมากในผักและผลไม้หลายชนิด โดยเส้นใยอาหารส่งผลดีต่อสุขภาพทางเดินอาหารและลำไส้ เพราะเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์ในลำไส้ และช่วยให้กระบวนการย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การเผาผลาญและการย่อยอาหารในระบบทางเดินอาหารที่ดีก็อาจส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายโดยรวมได้ เช่น อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เสริมสุขภาพลำไส้ใหญ่และการเคลื่อนไหวของลำไส้ที่ดีขึ้น

ดังนั้น การรับประทานผักอบกรอบจึงอาจช่วยให้ร่างกายได้รับใยอาหารที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหารและลำไส้ อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานผักและผลไม้สดที่หลากหลายร่วมด้วยเพื่อให้ร่างกายได้รับใยอาหารอย่างเพียงพอมากขึ้น

  1. ได้สารอาหารจากผักที่หลากหลาย

ผักและผลไม้อุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่หลากหลาย เช่น วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี โพแทสเซียม แคลเซียม ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพและอาจช่วยในการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อาจส่งผลดีต่อสุขภาพผิว ดวงตา สมอง และอาจมีส่วนช่วยในการป้องกันโรค เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งบางชนิด

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Nutrition เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ต่อสุขภาพของผักและผลไม้ พบว่า ผักและผลไม้อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย เช่น ใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซี วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี โพแทสเซียม แคลเซียม เบต้าแคโรทีน สารต้านการอักเสบ ไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ไฟโตเคมิคอล (Phytochemicals) ซึ่งล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน โรคมะเร็งลำไส้

ดังนั้น การรับประทานผักอบกรอบโดยเลือกผักหลากหลายชนิดและหลายสีสันจึงอาจช่วยให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผักที่ผ่านความร้อนจะมีปริมาณวิตามินบางชนิดลดลง โดยเฉพาะวิตามินที่ละลายในน้ำ เช่น วิตามินซี วิตามินบี 1

  1. อาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผักสด

สำหรับผู้ที่ไม่ชอบกลิ่น สี รสชาติหรือลักษณะเนื้อสัมผัสของผักสด การเลือกรับประทานผักอบกรอบอาจเป็นตัวเลือกที่ดีที่จะช่วยเสริมคุณประโยชน์และสารอาหารจากผักให้กับร่างกายได้ เนื่องจากผักอบกรอบที่ผ่านการแปรรูปอาจมีรสชาติ เนื้อสัมผัส กลิ่นและสีที่แตกต่างกันออกไป จึงอาจช่วยให้ผู้บริโภครับประทานผักได้ง่ายมากขึ้น โดยยังคงสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุบางส่วนได้

อย่างไรก็ตาม ผักอบกรอบบางชนิด เช่น มันฝรั่ง ข้าวโพด ฟักทอง มันเทศ เผือก อาจมีแป้งและให้พลังงานสูง การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ และควรรับประทานผักและผลไม้สดร่วมด้วยเพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารจากแหล่งอาหารอื่น ๆ

การรับประทานผักอบกรอบให้สุขภาพดี

เพื่อให้ได้ประโยชน์จาก ผักอบกรอบ อาจเลือกรับประทาน ดังนี้

  • ควรเลือกรับประทานผักอบกรอบที่ผ่านกระบวนการแช่เยือกแข็ง (Freeze Drying) หรือแบบทอดในสุญญากาศ (Vacuum Frying) เพื่อป้องกันการรับประทานผักที่มีน้ำมันมากเกินไป
  • ควรอาจฉลากทุกครั้งก่อนเลือกซื้อผักอบกรอบและควรสังเกตฉลากจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • ควรเลือกซื้อผักอบกรอบที่ไม่เติมน้ำตาล เกลือ เครื่องปรุงรส
  • ไม่ควรรับประทานผักอบกรอบแทนการรับประทานผักสด
  • ควรเลือกรับประทานผักอบกรอบหลากหลายชนิดและหลายสีสันเพื่อให้ได้รับสารอาหารและประโยชน์ที่หลากหลาย
  • ควรเลือกชนิดผักอบกรอบที่มีผักเส้นใยอาหารสูงและพลังงานต่ำ เช่น แครอท กระเจี๊ยบเขียว ผักใบเขียว ถั่วฝักยาว
  • ควรรับประทานผักอบกรอบในปริมาณที่พอดี เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป

ข้อควรระวังในการรับประทานผักอบกรอบ

ผักอบกรอบ อาจมีข้อควรระวังบางประการที่ควรรู้ก่อนรับประทาน ดังนี้

  • ผักอบกรอบและผลไม้อบกรอบยังคงมีน้ำตาลและแป้งในปริมาณเท่ากับผักและผลไม้สด เมื่อผ่านกระบวนการอบกรอบจะทำให้ผักมีน้ำหนักเบาลง เคี้ยวเพลิน อร่อยและกรุบกรอบมากขึ้น จึงอาจทำให้บริโภคในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับแคลอรี่มากขึ้นและอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • ผลิตภัณฑ์ผักอบกรอบบางยี่ห้ออาจใช้วิธีการทอดผักด้วยน้ำมันแล้วค่อยรีดน้ำมันออกทีหลัง จึงอาจทำให้ผักอบกรอบมีพลังงานสูง
  • ผลิตภัณฑ์ผักอบกรอบอาจผ่านการปรุงแต่งด้วยเกลือ น้ำตาล และเครื่องปรุงรส ในปริมาณที่สูง ซึ่งหากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
  • ผักบางชนิดเมื่อผ่านกระบวนการอบกรอบอาจทำให้สูญเสียสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุบางส่วนไป จึงอาจทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่ต้องการเท่าที่ควร จึงไม่ควรรับประทานผักอบกรอบแทนผักและผลไม้สดบ่อยเกินไป

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ผักและผลไม้อบกรอบรับประทานอย่างไรให้เกิดประโยชน์. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/line/%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B8%A3/. Accessed July 7, 2022

The Health Benefits of Dietary Fibre. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7589116/. Accessed July 7, 2022

Weight loss effects from vegetable intake: a 12-month randomised controlled trial. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4086735/. Accessed July 7, 2022

Health Benefits of Fruits and Vegetables. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3649719/. Accessed July 7, 2022

Vegetables and Fruits. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/what-should-you-eat/vegetables-and-fruits/#:~:text=A%20diet%20rich%20in%20vegetables,help%20keep%20appetite%20in%20check. Accessed July 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารแคลน้อย ประโยชน์และข้อควรระวัง

5 ผลไม้ไทย เพื่อสุขภาพ ที่คนนิยมรับประทาน


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา