backup og meta

มะขามป้อม ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

มะขามป้อม ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

มะขามป้อม ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการโรคต่าง ๆ มากว่า 1,000 ปีแล้ว จัดอยู่ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ขึ้นชื่อว่ามีวิตามินซีสูง ช่วยป้องกันและบรรเทาโรคหวัดหรืออาการไอ เจ็บคอ นอกจากนั้น ยังประกอบไปด้วยสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินต่าง ๆ มากมาย ซึ่งอาจมีสรรพคุณช่วยบรรเทากรดไหลย้อน เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ลดไขมันไม่ดีในร่างกาย และลดระดับน้ำตาลในเลือด

[embed-health-tool-bmr]

คุณค่าทางโภชนาการของ มะขามป้อม

มะขามป้อมครึ่งถ้วย ให้พลังงานประมาณ 33 กิโลแคลอรี่ และประกอบไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 8 กรัม
  • โปรตีน น้อยกว่า 1 กรัม
  • ไขมัน น้อยกว่า 1 กรัม

นอกจากนี้ มะขามป้อมยังอุดมไปด้วย วิตามินเอ วิตามินอี แคลเซียม เหล็ก

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ มะขามป้อม

มะขามป้อมอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติของมะขามป้อม ดังนี้

  1. อาจช่วยบรรเทาโรคกรดไหลย้อน

มะขามป้อม มีสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพ ออกฤทธิ์ช่วยบรรเทาแผลในกระเพาะอาหาร ต้านการอักเสบ การรับประทานมะขามป้อม จึงอาจช่วยป้องกันและบรรเทาโรคกรดไหลย้อน

ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับคุณสมบัติของมะขามป้อมต่อผู้ป่วยกรดไหลย้อนประเภทไม่รุนแรง (Non-Erosive Reflux Disease) ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Integrative Medicine ปี พ.ศ. 2561 ได้ทำการทดลองโดยแบ่งอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองจำนวน 68 รายออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งให้รับประทานมะขามป้อมในรูปแบบอาหารเสริม วันละ 2 มื้อ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ส่วนอีกกลุ่ม ให้รับประทานยาหลอก ในระยะเวลาเท่ากัน

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยได้ตรวจสอบอาการของโรคกรดไหลย้อนในทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า กลุ่มที่บริโภคมะขามป้อม อาเจียนและรู้สึกแสบร้อนกลางอกลดลง และอาการรุนแรงน้อยลงเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่บริโภคยาหลอก

จึงสรุปได้ว่า มะขามป้อมอาจมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกและอาเจียนในผู้ป่วยกรดไหลย้อนประเภทไม่รุนแรง

  1. อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

มะขามป้อม มีคุณสมบัติกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด  การรับประทานมะขามป้อม จึงอาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และป้องกันความเสี่ยงโรคเบาหวานได้

การวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมะขามป้อมต่อระดับน้ำตาลและไขมันเลือด เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Food Sciences and Nutrition ปี พ.ศ. 2554 นักวิจัยแบ่งอาสาสมัครที่เป็นและไม่เป็นเบาหวานออกเป็นกลุ่มย่อย แล้วให้บริโภคผงมะขามป้อมในปริมาณต่างกัน คือ 1, 2 และ 3 กรัม/วัน จากนั้นตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดในวันที่ 8, 15 และ 21 ของการทดลอง

ในวันที่ 21 นักวิจัยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับระดับน้ำตาลในวันเริ่มต้นการทดลอง ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร และหลังจากอดอาหารไปแล้ว 2 ชั่วโมงล้วนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะบริโภคผงมะขามป้อมในปริมาณ 1, 2 หรือ 3 กรัม/วัน จึงสรุปได้ว่า มะขามป้อม อาจมีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานได้

  1. อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของตับ

มะขามป้อมอุดมไปด้วยวิตามินซี ซึ่งช่วยลดการอักเสบ บำรุงตับ ช่วยลดระดับไขมันไม่ดี อย่างคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในร่างกายซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับ รวมทั้ง กรดโคริลำจิน (Corilagin) ซึ่งช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับตับ การบริโภคมะขามป้อมจึงอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของตับ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะไขมันพอกตับได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งว่าด้วยประสิทธิภาพของมะขามป้อมในการช่วยป้องกันไขมันสะสมในตับ เผยแพร่ทางวารสาร Climacteric ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยแบ่งสัตว์ทดลองออกเป็นกลุ่มที่บริโภคมะขามป้อม และกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคมะขามป้อม เป็นเวลา 18 สัปดาห์ เพื่อเปรียบเทียบว่า มะขามป้อมสามารถป้องกันไขมันสะสมในตับได้หรือไม่ ผลการทดลองพบว่า สัตว์ทดลองกลุ่มที่บริโภคมะขามป้อมมีปริมาณโปรตีนที่ส่งเสริมการทำงานของตับเพิ่มขึ้น ช่วยเผาผลาญไขมันได้ดีขึ้น และมีภาวะไขมันในเลือดลดลง

จึงสรุปว่า การรับประทานมะขามป้อม อาจช่วยป้องกันไขมันสะสมในตับ รวมถึงภาวะไขมันในเลือดสูงได้

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะขามป้อม ในการส่งเสริมสุขภาพตับ

  1. อาจช่วยป้องกันความผิดปกติเกี่ยวกับไต

มะขามป้อมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี เควอซิทิน (Quercetin) กรดเอลลาจิก (Ellagic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติส่งเสริมสุขภาพไต ช่วยคงการทำงานของไตให้เป็นปกติ รวมถึงป้องกันความเสียหายของไตจากอนุมูลอิสระ การบริโภคมะขามป้อมจึงอาจช่วยป้องกันความผิดปกติเกี่ยวกับไตได้

ผลการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติของสารสกัดมะขามป้อม ในการป้องกันภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันจากสารทึบรังสี ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2557

ได้ทำการทดลองโดยแบ่งสัตว์ทดลองออกเป็นหลายกลุ่ม มีทั้งกลุ่มที่บริโภคเพียงน้ำ และกลุ่มที่บริโภคสารสกัดจากมะขามป้อมในปริมาณแตกต่างกัน เป็นระยะเวลา 5 วันเท่า ๆ กัน จากนั้นนำสัตว์ทดลองทั้งหมดไปกระตุ้นให้มีภาวะบาดเจ็บเฉียบพลันจากสารทึบรังสีผลคือ สัตว์ทดลองที่บริโภคสารสกัดมะขามป้อม ปริมาณ 250 และ 500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว/วัน มีการทำงานของไตที่ยังเป็นปกติ รวมถึงมีความเสียหายบริเวณไตที่รุนแรงน้อยกว่าสัตว์ทดลองกลุ่มอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ นักวิจัยจึงสรุปว่า สารสกัดมะขามป้อม อาจมีประสิทธิภาพป้องกันความผิดปกติเกี่ยวกับไตอย่างภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันจากสารทึบรังสีได้

อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะขามป้อมในการส่งเสริมสุขภาพไต

ข้อควรระวังในการบริโภค มะขามป้อม

แม้มะขามป้อมจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ และอาจมีสรรพคุณในการป้องกันและบรรเทาปัญหาสุขภาพได้ แต่ควรระมัดระวังในการบริโภคโดยเฉพาะบุคคลเหล่านี้

  1. ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานในปริมาณจำกัด ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอ
  2. ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานมะขามป้อมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนวันผ่าตัด เพื่อป้องกันเลือดออกมากเกินไประหว่างผ่าตัด
  3. ผู้ป่วยโรคไตและผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อน เนื่องจากมะขามป้อมมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
  4. หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงในระยะให้นมบุตร ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่ระบุว่าสามารถรับประทานเป็นยาได้อย่างปลอดภัย จึงควรจำกัดปริมาณในการบริโภค

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Role of N-Acetylcysteine in Prevention of Contrast-Induced Acute Kidney Injury. http://www.smj.ejnal.com/e-journal/showdetail/?show_detail=T&art_id=1892#:~:text=%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5-,%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%9A%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B6%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B5%20(contrast%2Dinduced,%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%20SCr. Accessed May 23, 2022

Antioxidant effect of Phyllanthus emblica extract prevents contrast-induced acute kidney injury. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4045981/. Accessed May 23, 2022

Health Benefits of Amla (Indian Gooseberry). https://www.webmd.com/diet/health-benefits-amla#:~:text=Calories%3A%2033,Carbohydrates%3A%208%20grams. Accessed May 23, 2022

Indian Gooseberry – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-784/indian-gooseberry. Accessed May 23, 2022

Efficacy and safety of Amla (Phyllanthus emblica L.) in non-erosive reflux disease: a double-blind, randomized, placebo-controlled clinical trial. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/29526236/. Accessed May 23, 2022

Amla prevents fructose-induced hepatic steatosis in ovariectomized rats: role of liver FXR and LXRα. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/24940994/. Accessed May 23, 2022

Effect of Amla fruit (Emblica officinalis Gaertn.) on blood glucose and lipid profile of normal subjects and type 2 diabetic patients. https://www.researchgate.net/publication/51053902_Effect_of_Amla_fruit_Emblica_officinalis_Gaertn_on_blood_glucose_and_lipid_profile_of_normal_subjects_and_type_2_diabetic_patients. Accessed May 23, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/06/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารที่ย่อยง่าย มีอะไรบ้าง ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

โรคขาดสารอาหาร สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/06/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา