backup og meta

มะระ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

มะระ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

มะระ เป็นผักชนิดหนึ่งที่มีรสขม ผลสีเขียวยาวประมาณ 4-12 นิ้ว ผิวขรุขระ ในประเทศไทย นิยมนำมะระไปต้ม แกง หรือผัด โดยมะระมีสารอาหาร แร่ธาตุ และวิตามินหลากหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินซี โฟเลต เหล็ก

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ มะระ

มะระปรุงสุก 100 กรัม ให้พลังงาน 41 กิโลแคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 4.19 กรัม
  • ไขมัน 2.71 กรัม
  • โปรตีน 0.82 กรัม
  • โพแทสเซียม 309
  • โซเดียม 128 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 31.9 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 16 มิลลิกรัม
  • โคลีน (Choline) 10.7 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 9 มิลลิกรัม
  • เบตา แคโรทีน (Beta-carotene) 71 ไมโครกรัม
  • โฟเลต (Folate) 19 ไมโครกรัม
  • วิตามินเอ 17 ไมโครกรัม
  • วิตามินเค 7 ไมโครกรัม
  • นอกจากนี้ มะระยังอุดมไปด้วยธาตุอาหารอย่างเหล็ก สังกะสี และซีลีเนียม (Selenium) รวมถึงวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินอี

ประโยชน์ของ มะระ ต่อสุขภาพ

มะระ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของมะระ ดังนี้

  1. อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

มะระมีสารพอลิเปปไทด์ พี (Polypeptide-p) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนอินซูลินที่ผลิตจากตับอ่อน มีคุณสมบัติช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการลำเลียงน้ำตาลไปยังเซลล์ต่าง ๆ เพื่อเป็นพลังงานแก่ร่างกาย การบริโภคมะระ จึงอาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป และอาจช่วยป้องกันโรคเบาหวาน รวมทั้งภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับการบริโภคมะระเพื่อเพิ่มการหลั่งอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medicinal Food ปี พ.ศ. 2561 นักวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างจำนวน 24 รายออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกให้บริโภคอาหารเสริมสารสกัดจากมะระทุกวัน วันละ 2,000 มิลลิกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ส่วนอีกกลุ่มให้บริโภคยาหลอก ในระยะเวลา 3 เดือนเท่ากัน

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยตรวจร่างกายของผู้เข้าร่วมการทดลองทั้ง 2 กลุ่ม พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่บริโภคอาหารเสริมสารสกัดจากมะระ มีระดับน้ำตาลสะสมในเลือด น้ำหนัก ค่าดัชนีมวลกาย และอัตราส่วนไขมันในร่างกายที่ลดลง นอกจากนี้ ร่างกายของกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว ยังหลั่งอินซูลินได้ในปริมาณมากขึ้นด้วย จึงสรุปว่า การบริโภคสารสกัดจากมะระอาจมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด น้ำหนัก ค่าดัชนีมวลกาย และสัดส่วนของไขมันในร่างกาย

  1. อาจช่วยต้านมะเร็งได้

สารสกัดจากใบและผลมะระมีคุณสมบัติยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยออกฤทธิ์ขัดขวางการรักษาสมดุลพลังงานของเซลล์มะเร็งซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเองในเวลาต่อมา การบริโภคมะระ จึงอาจมีส่วนช่วยต้านมะเร็งได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดจากมะระในการเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง เผยแพร่ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2555 นักวิจัยได้ทดสอบคุณสมบัติของสารสกัดจากมะระต่อการต้านมะเร็ง โดยทดสอบกับเซลล์มะเร็งในกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด และมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก ในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน พบว่า สารสกัดจากมะระสามารถเหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งทุกชนิดทำลายตัวเองได้ และสรุปได้ว่า มะระมีสารที่ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาข้างต้น ยังคงเป็นแค่การวิจัยในห้องปฏิบัติการ ควรมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของมะระต่อการทำลายเซลล์มะเร็ง

  1. อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

มะระมีสารพฤกษเคมีหลายชนิด เช่น ซาโปนิน (Saponin) แอนทราควิโนน (Anthraquinone) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด การบริโภคมะระจึงอาจช่วยลดระดับไขมันไม่ดีในร่างกาย อย่างคอเลสเตอรอลความหนาแน่นต่ำ (LDL) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของสารสกัดจากมะระ ในการลดไขมันในร่างกายของชาวญี่ปุ่น เผยแพร่ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างชาวญี่ปุ่น จำนวน 43 ราย ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง รับประทานยาหลอก และกลุ่มที่สองรับประทานสารสกัดจากมะระ 100 กรัม วันละ 3 มื้อ เป็นเวลา 30 วันเท่า ๆ กัน

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยตรวจร่างกายของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม และพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่บริโภคสารสกัดจากมะระ มีระดับคอเลสเตอรอลความหนาแน่นต่ำที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่บริโภคยาหลอก

ทั้งนี้ นักวิจัยเสริมว่า การบริโภคสารสกัดมะระ ไม่ส่งผลต่อค่าดัชนีมวลกาย ความดันโลหิต หรือระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในร่างกายของกลุ่มตัวอย่างที่บริโภคสารสกัดมะระ

  1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

มะระมีใยอาหารสูง การบริโภคมะระจึงทำให้อิ่มท้องได้นาน และมีส่วนช่วยลดการนำพลังงานส่วนเกินเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น การบริโภคมะระจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องประสิทธิภาพของมะระต่อความอ้วนและระดับไขมันในร่างกายของหนูที่บริโภคอาหารไขมันสูง เผยแพร่ใน Nutrition Research and Practice ปี พ.ศ. 2558 นักวิจัยแบ่งหนูทดลองจำนวน 42 ตัว ออกเป็น 6 กลุ่ม โดยให้หนูกลุ่มแรกบริโภคอาหารปกติและน้ำกลั่น และกลุ่มที่ 2 บริโภคอาหารไขมันสูงและน้ำกลั่น เป็นเวลา 7 สัปดาห์ กลุ่มที่สามและกลุ่มที่สี่บริโภคสารสกัดมะระที่สกัดด้วยน้ำ ในอัตรา 0.5 และ 1.0 กรัม/น้ำหนักตัว/วัน ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มที่ 5 และกลุ่มที่ 6 บริโภคสารสกัดมะระที่สกัดด้วยเอทานอล ในอัตรา 0.5 และ 1.0 กรัม/น้ำหนักตัว/วัน ตามลำดับ จากนั้นวัดความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย พบว่า หนูทดลองที่บริโภคสารสกัดจากมะระทั้ง 2 แบบ มีน้ำหนักตัวและน้ำหนักของอวัยวะภายในที่ลดลง นอกจากนี้ ระดับไขมันในเลือด ตับ และอุจจาระของหนูทดลองยังลดลงอีกด้วย

ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า สารสกัดจากมะระอาจมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการทดลองในมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงคุณสมบัติของมะระในการช่วยควบคุมน้ำหนักของมะระ

ข้อควรระวังในการบริโภค มะระ

การบริโภคมะระ มีข้อควรระวังในการบริโภค ดังนี้

  • การบริโภคมะระในปริมาณมากเกินไป หรือบริโภคติดต่อกันนานเกินไป อาจทำให้เกิดอาการท้องผูก อาเจียน และปวดท้องได้
  • หญิงตั้งครรภ์ควรบริโภคมะระด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรบริโภคในปริมาณมาก เพราะยังไม่มีผลการศึกษาที่รับรองถึงความปลอดภัยในการบริโภคมะระ และผลจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารเคมีบางชนิดที่อยู่ในมะระสามารถทำให้ช่องคลอดมีภาวะเลือดออกผิดปกติ และทำให้เกิดภาวะแท้งได้
  • ผู้ป่วยเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจบริโภคมะระ เพราะมะระมีคุณสมบัติลดระดับน้ำตาลในเลือด การบริโภคร่วมกับยาต้านเบาหวานอาจทำให้ระดับน้ำตาลลดลงเกินกว่าเกณฑ์ปลอดภัยได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Bitter melon, cooked. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/1103462/nutrients. Accessed July 19, 2022

Momordica charantia Administration Improves Insulin Secretion in Type 2 Diabetes Mellitus. https://www.liebertpub.com/doi/10.1089/jmf.2017.0114. Accessed July 19, 2022

Momordica charantia Extract Induces Apoptosis in Human Cancer Cells through Caspase- and Mitochondria-Dependent Pathways. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3471438/. Accessed July 19, 2022

Effect of Bitter Melon Extracts on Lipid Levels in Japanese Subjects: A Randomized Controlled Study. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30532795/#:~:text=Several%20experimental%20studies%20suggest%20that,treatment%20period%20in%20Japanese%20adults. Accessed July 19, 2022

The effects of Momordica charantia on obesity and lipid profiles of mice fed a high-fat diet. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4575961/. Accessed July 19, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

01/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

มะระขี้นก ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

ชามะระขี้นก เครื่องดื่มสมุนไพร ที่อาจช่วยต่อสู้กับ โรคเบาหวาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 01/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา