backup og meta

วิตามินเอช่วยอะไร และข้อควรระวังในการบริโภค

วิตามินเอช่วยอะไร และข้อควรระวังในการบริโภค

วิตามินเอช่วยอะไร อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย โดยปกติวิตามินเอเป็นสารอาหารที่ละลายในไขมัน และจำเป็นต่อการเจริญเติบโต สุขภาพดวงตา สุขภาพผิว ระบบภูมิคุ้มกัน การแบ่งเซลล์และการสืบพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องร่างกายจากการทำร้ายของอนุมูลอิสระ เช่น ควัน มลภาวะ ฝุ่น และอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ได้อีกด้วย

วิตามินเอสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น ตับ เครื่องใน ปลาแซลมอน ไข่ ผักใบเขียว ส้ม บร็อคโคลี่ แครอท มะเขือเทศ ฟักทอง พริกหยวก แคนตาลูป แอปริคอต มะม่วง มะละกอ นม โยเกิร์ต ชีส ซีเรียล

วิตามินเอช่วยอะไร

วิตามินเอเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของวิตามินเอในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพดวงตา

วิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคจุดภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age related Macular Degeneration หรือ AMD) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของจุดรับภาพในดวงตาเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุตามัว สูญเสียความคมชัดในการมองเห็น โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร  Clinical Interventions in Aging เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับสารอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพดวงตาที่อาจเสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้น พบว่า เบต้าแคโรทีนเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคจุดภาพชัดเสื่อมในผู้สูงอายุ

  1. อาจช่วยส่งเสริมการเจริญพันธุ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์

วิตามินเอมีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของร่างกายทั้งการพัฒนากระดูก เซลล์และเนื้อเยื่อ จึงสำคัญต่อสุขภาพและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงยังจำเป็นต่อการสืบพันธุ์เนื่องจากวิตามินเออาจช่วยพัฒนาตัวอสุจิของผู้ชายและไข่ของผู้หญิง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับวิตามินเอต่อระบบสืบพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ พบว่า วิตามินเอมีบทบาทสำคัญในระบบสืบพันธุ์ของทั้งผู้ชายและผู้หญิง ช่วยสร้างอสุจิและไข่ให้แข็งแรง ทั้งยังช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านสายตาของตัวอ่อนในครรภ์

  1. อาจช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

วิตามินเอมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ปกป้องร่างกายจากการติดเชื้อและความเจ็บป่วย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Clinical Medicine เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2561 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินเอที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน พบว่า วิตามินเอมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อเซลล์และส่งเสริมกระบวนการสร้างที-เซลล์ (T-cells) ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิต้านทานชนิดหนึ่ง มีหน้าที่ในการหาเซลล์ที่ติดเชื้อหรือเชื้อโรคต่าง ๆ แล้วกำจัดออกจากร่างกาย ซึ่งอาจช่วยรักษาโรคติดเชื้อได้หลายชนิด เช่น วัณโรค โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคติดเชื้อในเด็ก

  1. อาจช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิด

วิตามินเอเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่พบได้มากในผักและผลไม้ ซึ่งเป็นสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่อาจมีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิด โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BioMed Research International เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินเอในการรักษาและป้องกันมะเร็ง พบว่า อนุพันธ์เรตินอลและวิตามินเอมีอิทธิพลต่อการเพิ่มจำนวนและการตายของเซลล์ การทำงานของภูมิคุ้มกัน และการกระตุ้นยีนต้านเนื้องอก อาจช่วยป้องกันมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งช่องจมูก มะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ปริมาณวิตามินเอที่เหมาะสมในแต่ละวัย

การขาดวิตามินเอเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียสุขภาพ ได้แก่

  • อาการซีโรฟาธาลเมีย (Xerophthalmia) คือ อาการตาแห้งรุนแรง ไม่สามารถมองเห็นได้ในที่แสงน้อยและอาจทำให้ตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษา
  • โรคตาบอดกลางคืน (Night Blindness) เป็นอาการที่ทำให้มองไม่เห็นในตอนกลางคืนหรือในที่แสงสลัว
  • มองเห็นจุดขาวในดวงตาทำให้สีดวงตาดูไม่สม่ำเสมอ
  • ผิวแห้งและผมแห้ง

ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจึงควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ตามปริมาณที่แนะนำอย่างเหมาะสม ดังนี้

  • เด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรได้รับวิตามินเอ 400 ไมโครกรัม/วัน
  • ทารกอายุ 7-12 เดือน ควรได้รับวิตามินเอ 500 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 300 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 400 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 9-13 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 600 ไมโครกรัม/วัน
  • ผู้หญิงอายุ 14 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินเอ 700 ไมโครกรัม/วัน และผู้ชายควรได้รับวิตามินเอ 900 ไมโครกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์อายุ 14-18 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 750 ไมโครกรัม/วัน และอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินเอ 770 ไมโครกรัม/วัน
  • หญิงให้นมบุตรอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรได้รับวิตามินเอ 1,200 ไมโครกรัม/วัน และอายุ 19 ปีขึ้นไป ควรได้รับวิตามินเอ 1,300 ไมโครกรัม/วัน

ข้อควรระวังในการบริโภควิตามินเอ

ควรพิจารณาการรับประทานวิตามินเออย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้

  • การรับประทานวิตามินเอมากกว่า 200,000 ไมโครกรัมใน 1 ครั้ง อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ บ้านหมุน มองเห็นไม่ชัด และการรับประทานวิตามินเอมากกว่า 100,000 ไมโครกรัม/วัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้มีอาการกระดูกบาง ตับเสียหาย ปวดหัว ท้องเสีย คลื่นไส้ ผิวหนังระคายเคือง ปวดข้อ ปวดกระดูก
  • การรับประทานวิตามินเอร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาละลายลิ่มเลือด เบซาโรทีน (Bexarotene) เรตินอยด์ ยาลดน้ำหนัก (Orlistat) ยาคุมกำเนิดบางชนิด ยารักษามะเร็ง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อสุขภาพ เช่น เลือดออกง่าย ผิวแห้ง คัน โรคตับ ลดการดูดซึมสารอาหาร
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับตับ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอ เนื่องจาก วิตามินเออาจสะสมในตับมากเกินไปและไม่ถูกขับออกซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อตับ

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vitamin A. https://www.nhs.uk/conditions/vitamins-and-minerals/vitamin-a/. Accessed March 22, 2022

Vitamin A. https://ods.od.nih.gov/factsheets/VitaminA-Consumer/. Accessed March 22, 2022

Vitamin A – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-964/vitamin-a. Accessed March 22, 2022

Vitamin A (Retinoid). https://www.webmd.com/a-to-z-guides/supplement-guide-vitamin-a. Accessed March 22, 2022

Vitamin A. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-vitamin-a/art-20365945. Accessed March 22, 2022

Vitamin A. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamin-a/. Accessed March 22, 2022

Nutrients for the aging eye. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3693724/.

Vitamin A, Cancer Treatment and Prevention: The New Role of Cellular Retinol Binding Proteins. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4387950/. Accessed March 22, 2022

Vitamin A in Reproduction and Development. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3257687/. Accessed March 22, 2022

Role of Vitamin A in the Immune System. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6162863/#:~:text=Vitamin%20A%20(VitA)%20is%20a,role%20in%20enhancing%20immune%20function. Accessed March 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/03/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เกลือแร่มีอะไรบ้าง และมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา