backup og meta

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ

สารอาหาร เป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการในทุกวันและจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ หากขาดสารอาหารหรือได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพออาจส่งผลต่อระบบการทำงานในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ซึ่งสารอาหารที่จำเป็นมีด้วยกัน 6 ชนิด คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน น้ำ วิตามินและแร่ธาตุ โดยปริมาณของสารอาหารแต่ละชนิดอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับเพศและอายุของบุคคลด้วย

สารอาหาร คืออะไร

สารอาหาร คือ อาหารที่ให้พลังงานและเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายต้องการเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต การเจริญเติบโตของร่างกายและการสืบพันธุ์ โดยแบ่งเป็นสารอาหารหลัก (Macronutrients) และสารอาหารรอง (Micronutrients) ที่ให้พลังงานช่วยหล่อเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย รวมถึงสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวของกับระบบการทำงานอื่น ๆ เช่น การสร้างพลังงาน การย่อยสารอาหาร หากขาดสารอาหารหรือได้รับในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็อาจส่งผลต่อระบบการทำงานในร่างกายโดยรวมได้

สารอาหารมีอะไรบ้าง

สารอาหารแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สารอาหารหลักและสารอาหารรอง ดังนี้

สารอาหารหลัก

สารอาหารหลัก คือ สารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายในปริมาณมาก แบ่งเป็น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสารอาหารที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเพื่อใช้เป็นพลังงานให้กับเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย

โปรตีน

โปรตีนเป็นสารอาหารหลักที่เซลล์ต้องการใช้เป็นพลังงานและช่วยเสริมสร้างส่วนต่าง ๆ  ของร่างกาย เนื่องจากโปรตีนมีส่วนช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต พัฒนากล้ามเนื้อ กระดูก ผิวหนัง และผม ช่วยสร้างแอนติบอดีและฮอร์โมน นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งพลังงานให้กับเซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกาย ซึ่งแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน ได้แก่

  • เนื้อแดงไม่ติดมัน
  • สัตว์ปีก
  • ปลาและอาหารทะเล
  • ไข่
  • นม และผลิตภัณฑ์จากนม
  • พืชตระกูลถั่วและธัญพืชบางชนิด

ปริมาณของโปรตีนที่ร่างกายต้องการประมาณ 0.8 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผู้ชายโดยเฉลี่ยควรรับประทานโปนตีนประมาณ 56 กรัม/วัน และผู้หญิงควรรับประทานโปรตีนประมาณ 46 กรัม/วัน

คาร์โบไฮเดรต

คาร์โบไฮเดรตมีความจำเป็นต่อร่างกาย อุดมไปด้วยน้ำตาล แป้ง และไฟเบอร์ เป็นแหล่งให้พลังงานหลักกับเซลล์และเนื้อเยื่อทั้งหมด โดยสามารถแบ่งคาร์โบไฮเดรตเป็น 2 ประเภท คือ

  • คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว เช่น ขนมปังขาว เส้นพาสต้า เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือข้าวขัดสี ผู้คนควรจำกัดการบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยวให้น้อยลง เพราะแป้งและน้ำตาลอาจย่อยสลายและถูกใช้เป็นพลังงานอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลทำให้หิวง่ายและอ้วนง่าย
  • คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น คีนัว ข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวโอ๊ต ผักและผลไม้ เหล่านี้เป็นคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยสลายเป็นพลังงานช้า เพราะมีเส้นใยจำนวนมาก จึงทำให้รู้สึกอิ่มนานเหมาะกับคนที่กำลังลดน้ำหนัก นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบขับถ่าย ช่วยในการย่อยอาหาร การทำงานของสมองและระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้มีพลังงานในการทำกิจกรรมได้ยาวนานขึ้น

ปริมาณของคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายต้องการคิดเป็น 45-65% ของแคลอรี่ทั้งหมดต่อวัน ดังนั้น การคำนวณปริมาณการรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่เหมาะสมอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับเพศ ระดับการใช้พลังงาน และสุขภาพของแต่ละคน เช่น หากได้รับพลังงานโดยรวม2,000 แคลอรี่/วัน ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตประมาณ 900-1,300 แคลอรี่ หมายความว่าร่างกายควรได้รับคาร์โบไฮเดรตต่อวันประมาณ 225-325 กรัม/วัน   หรือ สำหรับผู้ที่เป็นนักกีฬาต้องการพลังงาน 2,400 แคลอรี่/วัน ควรได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตประมาณ 60-70% เทียบเท่ากับคาร์โบไฮเดรต 360- 420 กรัม/วัน

ไขมัน

ไขมันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย เพราะไขมันเป็นส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมนในร่างกาย ช่วยปรับปรุงการทำงานของสมอง โดยไขมันแบ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ผู้คนควรบริโภคไขมันไม่อิ่มตัวที่สามารถพบได้ในปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า วอลนัท อะโวคาโด และเมล็ดแฟลกซ์ ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6

ส่วนไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์มักพบในอาหารแปรรูป มันฝรั่งทอด เค้ก และคุกกี้ หากรับประทานไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากอาจเพิ่มความเสี่ยงคอเลสเตอรอลสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคอ้วนได้ สำหรับหน้าที่และประโยชน์ของไขมันต่อร่างกาย มีดังนี้

  • ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ และการสร้างเซลล์ใหม่
  • ช่วยในการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ
  • ช่วยในการทำงานของสมอง
  • มีส่วนช่วยผลิตฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกัน
  • การแข็งตัวของเลือด
  • ช่วยดูดซึมแร่ธาตุและวิตามิน
  • ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและเบาหวานชนิดที่ 2 ช่วยปรับสมดุลน้ำตาลในเลือด

ปริมาณของไขมันทั้งหมดที่ร่างกายต้องการประมาณ 20-35% หรือควรน้อยกว่า 70 กรัม/วัน สำหรับการรับประทานไขมันอิ่มตัว ผู้ชายไม่ควรเกิน 30 กรัม/วัน และผู้หญิงไม่เกิน 20 กรัม/วัน นอกจากนี้ ไม่ควรมีไขมันทรานส์เกิน 5 กรัม/วัน

น้ำ

มนุษย์มีน้ำประมาณ 50-70% ของร่างกาย การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะหากร่างกายขาดน้ำเพียงไม่กี่วันอาจส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายในทุกส่วน จิตใจบกพร่อง และอาจทำให้มีอาการปวดหัวได้ และน้ำยังมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ดังนี้

  • ให้ความชุ่มชื้นและล้างสารพิษ
  • ดูซับแรงกระแทกของอวัยวะในร่างกาย
  • ช่วยลำเลียงอาหาร
  • ป้องกันอาการท้องผูก

แหล่งน้ำที่ดีควรเป็นน้ำเปล่าสะอาดหรือน้ำจากผลไม้ ควรหลีกเลี่ยงน้ำหวานหรือน้ำที่ใส่สารให้ความหวานอื่น ๆ เช่น กาแฟ ชารสหวาน นมหวาน น้ำอัดลม และน้ำผลไม้แปรรูป

ปริมาณของน้ำที่ร่างกายต้องการอย่างเพียงพอ คือ ผู้ชายควรดื่มน้ำประมาณ 3.7 ลิตร/วัน และผู้หญิงควรดื่มน้ำ 2.7 ลิตร/วัน โดยสามารถจิบน้ำเพิ่มได้ตลอดทั้งวันหากรู้สึกกระหายน้ำ หรือร่างกายสูญเสียน้ำจากการออกกำลังกาย

สารอาหารรอง

เป็นสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายเช่นกัน แต่อาจต้องการในปริมาณที่น้อยกว่าสารอาหารหลัก แบ่งเป็น วิตามิน 13 ชนิด และแร่ธาตุ 16 ชนิด ซึ่งมีส่วนช่วยในการทำงานของเอนไซม์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานของร่างกายทุกในด้าน ตั้งแต่การสร้างพลังงาน การย่อยสารอาหาร หรือสร้างโมเลกุลอื่น ๆ ในร่างกาย

วิตามิน

วิตามินมีส่วนช่วยควบคุมการเผาผลาญ สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง สังเคราะห์เนื้อเยื่อกระดูก การมองเห็น การทำงานของระบบประสาท การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และประโยชน์ต่อร่างกายอื่น ๆ ดังนี้

  • ป้องกันหรือชะลอการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • เสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน
  • ช่วยดูดซึมแคลเซียม
  • บำรุงสุขภาพผิว

วิตามินแบ่งเป็น 13 ชนิด เป็นสารประกอบอินทรีย์ สามารถละลายได้ในน้ำและไขมัน ได้แก่

วิตามินที่ละลายในน้ำ

  • วิตามินซี ช่วยสร้างและรักษากระดูก ผิวหนัง และหลอดเลือด และเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบได้ในส้ม มะเขือเทศ สตรอเบอร์รี่ ผักโขม เกรปฟรุต ควรได้รับไม่เกิน 2,000 มก./วัน
  • วิตามินบี 1 หรือไทอามีน (Thiamine) ช่วยให้ร่างกายใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานได้ ช่วยในการทำงานของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ และหัวใจ พบได้ในกะหล่ำ ตับ ส้ม ไข่ มันฝรั่ง หน่อไม้ฝรั่งและผักคะน้า ควรได้รับไม่เกิน 1.4 มก./วัน
  • วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) ช่วยเผาผลาญสารอาหารและดูดซับสารอาหารอื่น ๆ และบำรุงรักษาเนื้อเยื่อ พบได้ในปลา เนื้อ สัตว์ปีก อะโวคาโดถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนม  ควรได้รับไม่เกิน 1.6 มก./วัน
  • วิตามินบี 3 หรือไนอาซิน (Niacin) ช่วยให้ร่างกายใช้โปรตีนและไขมัน ช่วยให้ผิว ผม และระบบประสาทแข็งแรง พบได้ในเนื้อ อกไก่ย่าง ถั่ว แซลมอน ข้าวกล้อง ควรได้รับไม่เกิน 35 มก./วัน
  • วิตามินบี 5 หรือกรดแพนโทธีนิก (Pantothenic acid) ช่วยผลิตพลังงานโดยสลายไขมันและคาร์โบไฮเดรต และส่งเสริมสุขภาพผิว ผม ดวงตา และตับ พบได้ในเนื้อสัตว์ แซลมอน ธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่วและผักต่าง ๆ ควรได้รับไม่เกิน 7 มก./วัน
  • วิตามินบี 6 หรือไพรอกซิดีน (Pyroxidine) มีประโยชน์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและการเผาผลาญช่วยสร้างสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) และโดปามีน (Dopamine) พบได้ในอกไก่ย่าง เต้าหู้ ถั่ว กล้วย มันฝรั่ง ควรได้รับไม่เกิน 100 มก./วัน
  • วิตามินบี 7 หรือไบโอติน (Biotin) ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไขมัน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และวิตามินที่ละลายในน้ำไม่ได้ พบได้ในหอยนางรม ไข่สุก เนื้อ รำข้าวสาลี ยีสต์ขนมปัง ควรได้รับไม่เกิน 30 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินบี9 หรือโฟเลต (Folate) ควรได้รับไม่เกิน 500 มก./วัน กรดโฟลิก (Folic acid) ควรได้รับไม่เกิน 1,000 มก./วัน จำเป็นต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาว ช่วยเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงาน และผลิต DNA และ RNA พบได้ในถั่ว อะโวคาโด ผักกาดหอม เห็ด กล้วย บรอกโคลี
  • วิตามินบี 12 หรือไซยาโนโคบาลามิน (Cyanocobalamin) ช่วยเสริมสร้างสุขภาพของเนื้อเยื่อประสาท การทำงานของสมอง และการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง พบได้ในเนื้อวัว เนื้อหมู ทูน่า ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อแกะ ควรได้รับไม่เกิน 2.8 ไมโครกรัม/วัน

วิตามินที่ละลายในไขมัน

  • วิตามินเอ ช่วยในการมองเห็น การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การสืบพันธ์ และช่วยควบคุมการทำงานของปอด ไต และการเต้นของหัวใจ แหล่งอาหาร เช่น ตับ ปลาทูน่า นม ชีส และไข่ ควรได้รับไม่เกิน 3,000 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินดี ช่วยรักษาความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ควบคุมระดับอินซูลิน ส่งเสริมภูมิคุ้มกัน พบได้ในแสงแดด เห็ด ไข่แดง ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาทูน่า  ควรได้รับไม่เกิน 100 ไมโครกรัม/วัน
  • วิตามินอี ช่วยต้านอนุมุลอิสระ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน สุขภาพหลอดเลือด และการรักษาผิวให้อ่อนเยาว์ พบได้ในเมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ ถั่วลิสง อะโวคาโด ควรได้รับไม่เกิน 1,000 มก./วัน
  • วิตามินเค ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ช่วยให้กระดูกแข็งแรง และควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด พบได้ในผักชีฝรั่ง นัตโตะ ผักโขม น้ำมันถั่วเหลือง ไข่ลวก ควรได้รับไม่เกิน 120 มก./วัน

ทั้งนี้ วิตามินที่ควรได้รับต่อวันอาจแตกต่างกันในแต่ละเพศและช่วงอายุ

แร่ธาตุ

แร่ธาตุมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ เช่น ช่วยปรับระดับน้ำให้สมดุล บำรุงสุขภาพผิว ผม และเล็บ เสริมสร้างกระดูก ป้องกันฟันผุ ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ช่วยลำเลียงออกซิเจน เสริมภูมิคุ้มกัน และปรับสมดุลความดันโลหิต ปริมาณของแร่ธาตุที่ควรได้รับในแต่ละวันอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุและเพศด้วย

แร่ธาตุพบในแหล่งอาหารจำพวกเนื้อแดง อาหารทะเล เกลือ นม ผักและผลไม้ ไข่แดง ธัญพืช พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น ซึ่งแร่ธาตุเป็นสารอนินทรีย์มีด้วยกัน 16 ชนิด ได้แก่

  • แร่ธาตุหลัก ควรได้รับมากกว่า 100 มก./วัน คือ แมกนีเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส กำมะถัน โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์
  • แร่ธาตุรอง ควรได้รับน้อยกว่า 100 มก./วัน คือ เหล็ก ซีลีเนียม สังกะสี แมงกานีส โครเมียม ทองแดง ไอโอดีน ฟลูออไรด์ โมลิบดีนัม

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What Are Nutrients?. https://med.libretexts.org/Courses/American_Public_University/APUS%3A_An_Introduction_to_Nutrition_(Byerley)/Text/01%3A_Nutrition_and_You-_An_Introduction_and_How_to_Achieve_a_Healthy_Diet/1.03%3A_What_Are_Nutrients. Accessed October 19, 2021

Nutrients 101 – What Are Nutrients Anyway?. https://www.healthstartfoundation.org/hsblog/what-are-nutrients-anyway. Accessed October 19, 2021

Important Nutrients to Know: Proteins, Carbohydrates, and Fats. https://www.nia.nih.gov/health/important-nutrients-know-proteins-carbohydrates-and-fats. Accessed October 19, 2021

How Much Protein Is Simply Too Much?. https://www.sclhealth.org/blog/2019/07/how-much-protein-is-simply-too-much/. Accessed October 19, 2021

Carbohydrates: How carbs fit into a healthy diet. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/carbohydrates/art-20045705. Accessed October 19, 2021

Water: How much should you drink every day?. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/nutrition-and-healthy-eating/in-depth/water/art-20044256. Accessed October 19, 2021

Vitamins and Minerals: How Much Should You Take?. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/vitamins-minerals-how-much-should-you-take. Accessed October 19, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/10/2021

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเพิ่มน้ำหนัก มีอะไรบ้างที่ควรรับประทาน

อาหารบำรุงกระดูก มีอะไรบ้าง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 25/10/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา