backup og meta

หม่าล่า ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

หม่าล่า ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

หม่าล่า เป็นคำภาษาจีนที่ใช้บอกรสชาติความเผ็ดฉุนที่ทำให้รู้สึกชา ซึ่งคนไทยนำมาเรียกเป็นชื่ออาหารที่มีส่วนผสมของซอสหม่าล่าที่ให้รสชาติเผ็ดร้อน โดยหม่าล่ามีส่วนผสมของวัตถุดิบสมุนไพรหลายชนิด เช่น โป๊ยกั๊ก อบเชย ขิง กานพลู เม็ดยี่หร่า พริกไทยเสฉวน พริกแห้ง พริกป่น ซอสโต้วป้านเจี้ยง กระเทียม กระวานดำ เกลือ น้ำตาล ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร อาจช่วยลดอาการท้องอืด อาจดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน อาจช่วยลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และอาจช่วยลดอาการไซนัสได้ อย่างไรก็ตาม หม่าล่ามีรสชาติเผ็ดร้อนมากหากรับประทานมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ประโยชน์ของหม่าล่าที่มีต่อสุขภาพ

หม่าล่า เป็นเครื่องปรุงอาหารที่ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิดซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของหม่าล่าในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร

แคปไซซิน (Capsaicin) เป็นสารประกอบที่พบมากในพริก ซึ่งหม่าล่ามีทั้งพริกไทยเสฉวนและพริกแห้งเป็นส่วนประกอบ การรับประทานหม่าล่าจึงอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหารได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Experimental Cell Research เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของแคปไซซินในอาหารต่อสุขภาพทางเดินอาหารและโรค พบว่า แคปไซซินเป็นสารประกอบที่พบมากในพริก ซึ่งมีทั้งประโยชน์และโทษต่อสุขภาพหากรับประทานในปริมาณเกินไป ในปัจจุบันมีการศึกษาการรับประทานแคปไซซินในปริมาณที่เหมาะสม พบว่า ส่วนใหญ่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทางเดินอาหาร และในการศึกษาบางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าการบริโภคอาหารรสเผ็ดอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ได้ เนื่องจากการบริโภคแคปไซซินในปริมาณต่ำอาจมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการทำงานของลำไส้ของมนุษย์ ทั้งยังป้องกันความเสียหายของเยื่อเมือกในกระเพาะอาหารและลำไส้

  1. อาจดีต่อระบบภูมิคุ้มกัน

หม่าล่ามีส่วนผสมของสมุนไพรและเครื่องเทศหลายชนิด เช่น โป๊ยกั๊ก อบเชย ขิง กานพลู เม็ดยี่หร่า พริกไทยเสฉวน พริกแห้ง พริกป่น กระเทียม กระวานดำ ซึ่งสมุนไพรและเครื่องเทศเหล่านี้อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและต้านเชื้อก่อโรคต่าง ๆ ได้ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Integrative medicine เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 ศึกษาเกี่ยวกับสมุนไพรและเครื่องเทศในการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยทำการศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติการรักษาของสมุนไพรในวงศ์กะเพราและเครื่องเทศ เช่น กานพลู ขิง ขมิ้น พริก พริกไทยดำ ยี่หร่า อบเชย กระเทียม หัวหอม พบว่า การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งสมุนไพรและเครื่องเทศ อาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโดยการต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้

ดังนั้น การรับประทานหม่าล่าที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศหลายชนิด จึงอาจมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้

  1. อาจช่วยลดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอล

สมุนไพรและเครื่องเทศในหม่าล่าหลายชนิด เช่น โป๊ยกั๊ก อบเชย พริกไทยเสฉวน พริกแห้ง พริกป่น กระวานดำ อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ปรับปรุงการทำงานของเมตาบอลิซึม จึงอาจช่วยปกป้องสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง ช่วยลดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในเลือดได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Cardiology Reviews เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องเทศอินเดียเพื่อสุขภาพหัวใจ พบว่า เครื่องเทศหลายชนิด เช่น น้ำมันและเมล็ดยี่หร่า เมล็ดกระวาน เปลือกอบเชย กานพลู เมล็ดผักชี กระเทียม รากขิง รากชะเอม น้ำมันสะระแหน่ หัวหอม พริกไทยดำ อาจมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันและรักษาระบบการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด อาจช่วยให้สุขภาพหัวใจแข็งแรงมากขึ้น โดยช่วยต้านความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ต้านการแข็งตัวของเลือด ต้านหลอดเลือดตีบ ภาวะไขมันในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ต้านการอักเสบ ต้านข้ออักเสบ ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล รวมถึงยังช่วยต้านอนุมูลอิสระและปรับปรุงการทำงานของเมตาบอลิซึมที่เป็นระบบการเผาผลาญในร่างกายให้เป็นปกติ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

ดังนั้น การรับประทานหม่าล่าที่มีส่วนประกอบของสมุนไพรและเครื่องเทศเหล่านี้จึงอาจมีส่วนช่วยบำรุงสุขภาพหัวใจ ลดความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลได้

  1. อาจช่วยลดอาการไซนัส

รสชาติเผ็ดร้อนที่เป็นเอกลักษณ์ของหม่าล่า ซึ่งได้จากวัตถุดิบหลักอย่างพริกไทยเสฉวนและพริกแห้ง มีสารประกอบแคปไซซินที่มีคุณสมบัติในการช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและอาการปวดจากไซนัสได้

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร University of Cincinnati Academic Health Center เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับความเผ็ดร้อนในพริกและสรรพคุณในการบรรเทาอาการซนัส พบว่า พริกมีสารแคปไซซินที่ทำให้เกิดความรู้สึกเผ็ดร้อน โดยสารแคปไซซินเป็นสารที่อาจช่วยระงับหรือบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว รวมถึงอาจช่วยบรรเทาอาการของโรคจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก ไซนัส อาการปวด

ดังนั้น การรับประทานหม่าล่าที่มีส่วนประกอบของพริกไทยเสฉวนและพริกแห้ง ที่มีสารแคปไซซินเป็นส่วนประกอบ จึงอาจช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและอาการปวดจากไซนัสได้

ข้อควรระวังในการบริโภคหม่าล่า

หม่าล่ามีรสชาติเผ็ดร้อนและจัดจ้าน การรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนี้

  • อาการเสียดท้อง อาการแสบร้อนกลางอก พริกในหม่าล่ามีสารแคปไซซินที่มีฤทธิ์เป็นกรด เมื่อรับประทานมากเกินไปอาจทำให้กระเพาะอาหารและทางเดินอาหารระคายเคือง ส่งผลให้เกิดอาการเสียดท้องและเกิดอาการแสบร้อนกลางอกได้
  • แผลในกระเพาะอาหาร กรดในกระเพาะอาหารและกรดจากอาหารรสเผ็ดที่รับประทานมากเกินไป อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดเมื่อกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองจากอาหารรสเผ็ด
  • โรคกรดไหลย้อน (GERD) กรดไหลย้อนอาจทำให้ทางเดินอาหารระคายเคืองและอาจทำลายเยื่อบุหลอดอาหาร โดยเฉพาะหากรับประทานอาหารรที่มีรสเผ็ด อาจส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องส่วนบนและเสียดท้อง
  • อาการลำไส้แปรปรวน (IBS) การรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดมากเกินไปและเป็นเวลานานอาจมีความเสี่ยงในการเกิดอาการลำไส้แปรปรวนมากขึ้น รวมถึงอาจทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องร่วง และท้องผูกได้

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Opportunities for Health Promotion: Highlighting Herbs and Spices to Improve Immune Support and Well-being. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7815254/. Accessed July 7, 2022

Indian Spices for Healthy Heart – An Overview. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3083808/. Accessed July 7, 2022

Heat in chili peppers can ease sinus problems, research shows. https://www.sciencedaily.com/releases/2011/08/110825164933.htm#:~:text=Summary%3A,certain%20types%20of%20sinus%20inflammation. Accessed July 7, 2022

Beneficial effects of dietary capsaicin in gastrointestinal health and disease. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0014482722002208#:~:text=Detailed%20studies%20in%20humans%20have,promoting%20healing%20of%20peptic%20ulcers. Accessed July 7, 2022

Living Better newsletter. https://www.piedmont.org/living-better/the-health-benefits-of-spicy-foods#:~:text=Spicy%20foods%20have%20been%20shown,by%20up%20to%205%20percent.%E2%80%9D. Accessed July 7, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/07/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารอาหารที่ให้พลังงานได้แก่อะไรบ้าง

พริก ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 12/07/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา