backup og meta

สมุนไพร แก้เบาหวาน สรรพคุณ มีอะไรบ้าง

สมุนไพร แก้เบาหวาน สรรพคุณ มีอะไรบ้าง

สมุนไพร แก้เบาหวาน สรรพคุณ หมายถึง สมุนไพรที่มีส่วนช่วยบรรเทาอาการเบาหวาน โดยผู้ป่วยเบาหวานมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเนื่องจากความบกพร่องของตับอ่อนในการผลิตฮอร์โมนอินซูลินสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลของร่างกาย ทั้งนี้ สมุนไพร แก้เบาหวาน มีสรรพคุณที่สำคัญ ได้แก่ การช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดระดับไขมันในเลือด และช่วยควบคุมระดับความดันโลหิต โดยสมุนไพรที่อาจมีสรรพคุณดังกล่าว ได้แก่ ขิง ว่านหางจระเข้ อบเชย ใบกะเพรา

[embed-health-tool-bmr]

เบาหวานคืออะไร

เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดบกพร่อง ส่งผลให้น้ำตาลสะสมในกระแสเลือดมากขึ้นเรื่อย ๆ

โดยปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีสุขภาพดีจะอยู่ระหว่าง 70-100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หากตรวจพบว่าระดับน้ำตาลสูงกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อาจหมายความว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน

หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ผนังหลอดเลือดมักเกิดความเสียหาย และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเบาหวานขึ้นตา ปลายประสาทอักเสบ

สมุนไพร แก้เบาหวาน สรรพคุณ

ในประเทศไทย มีสมุนไพรหลายชนิดที่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ว่าอาจช่วยต้านหรือบรรเทาโรคเบาหวานได้ โดยสมุนไพร แก้เบาหวาน ได้แก่

  1. ขิง

ขิงมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยควบคุมการทำงานอวัยวะส่วนต่าง ๆ รวมถึงหัวใจให้เป็นปกติ นอกจากนี้ ขิงยังมีคุณสมบัติยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อัลฟาอะไมเลส (α-amylase) และอัลฟากลูโคซิเดส (α-glucosidase) ที่เกี่ยวข้องกับการย่อยสลายและเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตที่บริโภคเป็นพลังงาน รวมถึงการมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

การศึกษาชิ้นหนึ่ง ตีพิมพ์ในวารสาร Iranian Journal of Pharmaceutical Research ปี พ.ศ. 2558 ว่าด้วยประสิทธิภาพของการรับประทานขิงต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นักวิจัยทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่เป็ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 41 ราย โดยสุ่มให้บางรายรับประทานขิงในรูปแบบอาหารเสริมที่เป็นขิงผง หรือบางรายรับประทานยาหลอก ในปริมาณ 2 กรัม/วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ แล้วเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ตอนก่อนการทดลองและหลังการทดลองระหว่าง 2 กลุ่ม ผลปรากฏว่าผู้ที่รับประทานขิง มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารลดลง อย่างไรก็ตาม ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

  1. อบเชย

อบเชยมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการตอบสนองต่ออินซูลินของเซลล์ในร่างกาย จึงช่วยให้เซลล์ดูดซึมน้ำตาลในเลือดได้มากขึ้น และทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริโภคอบเชย จึงอาจช่วยต้านเบาหวานได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ว่าด้วยผลจากการบริโภคอบเชยต่อการจัดการน้ำตาลของร่างกาย ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetes, Obesity and Metabolism ปี พ.ศ. 2560 นักวิจัยให้อาสาสมัครเพศชายอายุประมาณ 26 ปี จำนวน 7 ราย ทดสอบระดับน้ำตาลในเลือดแบบการตรวจเบาหวานโดยใช้น้ำตาลกลูโคส(Oral Glucose Tolerance Test) 3 ครั้ง โดยในแต่ละครั้ง นักวิจัยให้อาสาสมัครรับประทานของกินที่แตกต่างกัน โดยครั้งแรกเป็นยาหลอก 5 กรัม ครั้งที่ 2 เป็นอบเชยปริมาณ 5 กรัม ส่วนครั้งที่ 3 เป็นอบเชย 5 กรัม โดยรับประทาน 12 ชั่วโมงก่อนการทดสอบระดับน้ำตาล

เมื่อสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยพบว่า การบริโภคอบเชยอาจมีส่วนช่วยให้อาสาสมัครมีระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และมีการตอบสนองต่ออินซูลินในร่างกายดีขึ้น ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของอบเชยต่อระดับน้ำตาลในเลือดและการตอบสนองของอินซูลินนอกจากจะเกิดขึ้นในทันทีหลังบริโภคอบเชยแล้ว ยังส่งผลต่อร่างกายเป็นระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมงด้วย อย่างไรก็ตาม ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

  1. กะเพรา

ใบกะเพรา มีสารยูจีนอล (Eugenol) โพลีฟีนอล (Polyphenols) และกรดคาเฟอิก (Caffeic Acid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงจัดเป็นหนึ่งใน สมุนไพร แก้เบาหวาน สรรพคุณที่สำคัญคือการช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในผู้ป่วยเบาหวาน

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง หัวข้อเรื่องประสิทธิภาพของผงกะเพราที่มีต่อระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน ตีพิมพ์ในวารสาร Plant Foods for Human Nutrition ปี พ.ศ. 2540 นักวิจัยได้ให้หนูทดลองบริโภคผงกะเพรา เป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อทดสอบฤทธิ์ของกะเพราต่อระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร ผลปรากฏว่า กะเพราช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในตับของหนูที่ป่วยเป็นเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญ จึงสรุปได้ว่า การบริโภคใบกะเพราอาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในหนูที่ป่วยเป็นเบาหวานได้

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรทำการทดลองเพิ่มเติมเพื่อยืนยันถึงประสิทธิภาพของกะเพราในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของมนุษย์

  1. ว่านหางจระเข้

สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดเลือดเสียหาย และนำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและภาวะไตวาย

ว่านหางจระเข้ นับว่าเป็นหนึ่งในสมุนไพร แก้เบาหวาน เนื่องจากมีสารอะโลอีโมนดิน (Aloe-Emodin) และอะโลอิน (Aloin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงจนเกินไป และลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Trigleceride) ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของความดันโลหิตสูง

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง หัวข้อเรื่องประสิทธิภาพของว่านหางจระเข้ต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Food Science and Technology ปี พ.ศ. 2557 นักวิจัยแบ่งผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งพาอินซูอินจำนวน 90 ราย ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานผงว่านหางจระเข้จำนวน 100 มิลลิกรัม กลุ่มที่รับประทานผงว่านหางจระเข้จำนวน 200 มิลลิกรัม และกลุ่มที่ไม่รับประทานผงว่านหางจระเข้เลย โดยทำการทดลองเป็นเวลา 6 เดือน

หลังสิ้นสุดการทดลอง นักวิจัยพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มที่ 1 และ 2 มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ยิ่งกว่านั้น ผู้ป่วยเบาหวานกลุ่มดังกล่าว ยังมีระดับไขมันเลวอย่างคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The Effects of Ginger on Fasting Blood Sugar, Hemoglobin A1c, Apolipoprotein B, Apolipoprotein A-I and Malondialdehyde in Type 2 Diabetic Patients. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4277626/. Accessed July 1, 2022

Effects of short-term cinnamon ingestion on in vivo glucose tolerance. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/17924872/. Accessed July 1, 2022

Effect of Tulasi (Ocimum sanctum) leaf powder supplementation on blood sugar levels, serum lipids and tissue lipids in diabetic rats. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/9198110/. Accessed July 1, 2022

Hypoglycemic and hypolipidemic effect of Aloe vera L. in non-insulin dependent diabetics. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3857397/. Accessed July 1, 2022

Antidiabetic activity of Aloe vera L. juice. I. Clinical trial in new cases of diabetes mellitus. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23195077/. Accessed July 1, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/08/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

5 สมุนไพร แก้เบาหวาน และข้อควรระวังในการบริโภค

ว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/08/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา