backup og meta

หัวไชเท้า ประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

    หัวไชเท้า ประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวังในการบริโภค

    หัวไชเท้า เป็นพืชหัว อยู่ในตระกูลกะหล่ำ รูปทรงคล้ายแครอทแต่มีสีขาว อวบอ้วน และยาวกว่า คนไทยนิยมนำหัวไชเท้ามาทำแกงจืด แกงส้ม ต้มจับฉ่าย หัวไชเท้ามีคาร์โบไฮเดรตต่ำ กากใยสูง และอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี หัวไชเท้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิด บำรุงหัวใจ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความดันโลหิต

    คุณค่าทางโภชนาการของ หัวไชเท้า

    หัวไชเท้าปรุงแล้ว 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 38 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

    • คาร์โบไฮเดรต 3.3 กรัม
    • ไขมัน 2.63 กรัม
    • โปรตีน 0.67 กรัม
    • โพแทสเซียม 226 มิลลิกรัม
    • โซเดียม 160 มิลลิกรัม
    • แคลเซียม 25 มิลลิกรัม
    • ฟอสฟอรัส 20 มิลลิกรัม
    • สังกะสี 0.27 มิลลิกรัม
    • เบต้าแคโรทีน (β-Carotene) 9 ไมโครกรัม
    • ซีลีเนียม (Selenium) 0.6 ไมโครกรัม

    นอกจากนี้ หัวไชเท้ายังประกอบด้วยวิตามินต่าง ๆ เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ หัวไชเท้า

    หัวไชเท้าอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของหัวไชเท้า ดังนี้

    1. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

    พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น หัวไชเท้า มีสารประกอบกำมะถันชื่อ กลูโคซิโนเลต (Glucosinolate) เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะย่อยสลายเป็นสารไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanate) ซึ่งมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งกระตุ้นร่างกายให้ผลิตสารไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ส่งผลให้การหมุนเวียนโลหิตดีขึ้น และยับยั้งการอักเสบของผนังหลอดเลือด

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของกลูโคซิโนเลตต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ เผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Pharmacology ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งทำการค้นคว้างานวิจัยทั้งที่มีหลักฐานในเชิงประจักษ์และทำการทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่า กลูโคซิโนเลตในผักตระกูลกะหล่ำ อาจช่วยลดการเกิดโรคเรื้อรัง ชะลอการพัฒนาตัวเองของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เนื่องจากในผักตระกูลกะหล่ำอุดมไปด้วยสารกลูโคซิโนเลตซึ่งมีคุณสมบัติช่วยควบคุมระดับไขมันหลอดเลือด และความดันเลือด อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคดังกล่าว ทั้งนี้ ควรมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไปเพื่อยืนยันคุณสมบัติของหัวไชเท้าในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

  • อาจช่วยต้านมะเร็งได้

  • หัวไชเท้ารวมถึงพืชตระกูลกะหล่ำอื่น ๆ มีสารกลูโคซิโนเลต ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดมะเร็ง โดยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง การบริโภคหัวไชเท้าจึงอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิดได้

    ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคผักตระกูลกะหล่ำและความเสี่ยงมะเร็งลำไส้  เผยแพร่ในวารสาร Official Journal of the European Society for Medical Oncology ปี พ.ศ. 2556 โดยได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์งานวิจัยจำนวน 11 ชิ้น และศึกษากลุ่มอาสาสมัครจำนวน 24 รายทั้งที่เป็นมะเร็งลำไส้และไม่เป็นมะเร็งลำไส้ พบว่า มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การบริโภคผักตระกูลกะหล่ำในปริมาณสูง อาจช่วยลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้และมะเร็งลำไส้ใหญ่ในมนุษย์ได้

    1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

    หัวไชเท้าเป็นผักที่อุดมไปด้วยกากใยและมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

    ผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำและการมีส่วนช่วยลดน้ำหนักและรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการออกกำลังกาย เผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Medicine ปี พ.ศ. 2564 โดยทดลองกับกลุ่มอาสาสมัครที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน แบ่งเป็นกลุ่มคาร์โบไฮเดรตต่ำและกลุ่มออกกำลังกาย รวมระยะเวลาทดลอง 3 สัปดาห์ พบว่า ว่า ทั้งสองกลุ่มมีระดับไตรกลีเซอไรด์หรือไขมันชนิดไม่ดีลดลง ในขณะที่ค่าดัชนีน้ำตาลของกลุ่มคาร์โบไฮเดรตต่ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยนี้จึงสรุปว่า การบริโภคอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ อาจช่วยลดน้ำหนักและรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีกว่าการออกกำลังกายในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน

    นอกจากนั้น การศึกษาชิ้นนี้ยังระบุเพิ่มเติมว่า การรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำ และการออกกำลังกาย มีส่วนช่วยลดระดับไขมันในหลอดเลือดและไขมันใต้ผิวหนังได้เช่นเดียวกัน

    1. อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

    พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น หัวไชเท้า กะหล่ำดอก มีสารชัลโฟราเฟน (Sulforaphane) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในการช่วยลดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด รวมถึงระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารได้ การรับประทานหัวไชเท้าจึงอาจมีส่วนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน

    ผลการศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภคพืชตระกูลกะหล่ำ และผลไม้ตระกูลส้ม ต่อความเสี่ยงโรคเบาหวาน ตีพิมพ์ในวารสาร Primary Care Diabetes ปี พ.ศ. 2559 นักวิจัยทำการวิจัยโดยการสังเกต เก็บข้อมูล และวิเคราะห์บทความงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า จากกลุ่มอาสาสมัครในงานวิจัยทั้งหมดจำนวน 306,723 ราย พบผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 16,544 ราย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การบริโภคพืชตระกูลกะหล่ำ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่การบริโภคผลไม้ตระกูลส้ม ไม่ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

    ข้อควรระวังในการบริโภค หัวไชเท้า

    โดยทั่วไป หัวไชเท้า สามารถบริโภคได้โดยปราศจากอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หัวไชเท้ามีสารกอยโตรเจน (Goitrogen) เช่นเดียวกับพืชตระกูลกะหล่ำอื่น ๆ ดังนั้น การบริโภคหัวไชเท้าสด จึงอาจขัดขวางการดูดซึมไอโอดีนไปยังต่อมไทรอยด์ เพื่อใช้ผลิตฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine) และไตรไอโอโดไธโรนีน (Triiodothyronine) ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย

    ทั้งนี้ กอยโตรเจนจะมีปริมาณลดลงหลังปรุงสุก ดังนั้น ก่อนบริโภคหัวไชเท้าหรือผักอื่น ๆ ในตระกูลกะหล่ำ จึงควรปรุงให้สุกเสียก่อน

    ผู้ที่มีอาการแพ้ผัก เช่น บรอกโคลี กะหล่ำดาว กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ผักกาดหัว ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหัวไชเท้าเพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกัน

    สตรีมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร สามารถบริโภคหัวไชเท้าได้ตามปกติ แต่ควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า หัวไชเท้าและผักในตระกูลกะหล่ำได้รับการปรุงสุกเรียบร้อยก่อนบริโภค

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 27/05/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา