backup og meta

เชอรี่ ประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวัง

เชอรี่ ประโยชน์ต่อสุขภาพและข้อควรระวัง

เชอรี่ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถช่วยลดระดับไนตริกออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับโรคข้อเข่าเสื่อมและโรครูมาตอยด์ ผลการวิจัยพบว่า การรับประทานเชอรี่นานกว่าช่วงเวลา 2 วัน สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง 35% ในการเกิดอาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันเนื่องจากโรคเกาต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานเชอรี่ นอกจากนั้น เชอรี่ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ อาทิ วิตามินซี วิตามินเอ แคลเซียม ธาตุเหล็ก ซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

[embed-health-tool-bmi]

ข้อมูลทางโภชนาการของเชอรี่

เชอรี่ 1 ถ้วยประมาณ 140 กรัม หรือประมาณ 21 ลูก ให้พลังงาน 90 แคลอรี่ และมีสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • วิตามินซี 15% ของปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • โพแทสเซียม 350 มิลลิกรัมถือเป็น 10% ของปริมาณโพแทสเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • วิตามินเอ 2% ของปริมาณวิตามินเอที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • แคลเซียม 2% ของปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • ธาตุเหล็ก 2% ของปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • ไฟเบอร์ 1 กรัม
  • โปรตีน 1 กรัม
  • น้ำตาล 16 กรัม สำหรับเชอรี่ชนิดหวาน

ประโยชน์สุขภาพของเชอรี่

ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคข้ออักเสบและโรคเก๊าท์

เชอรี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถช่วยลดระดับไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide) ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับโรคข้อเข่าเสื่อมและโรครูมาตอยด์

การศึกษาระยะสั้นจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานเชอรี่กับความเสี่ยงของอาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันเนื่องจากโรคเกาต์กำเริบ งานวิจัยนี้ได้สังเกตกลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคเกาต์จำนวน 633 คนเป็นเวลา 1 ปี โดยนักวิจัยได้ขอให้ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองรายงานอาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันเนื่องจากโรคเก๊าท์ (Gout Attact) รวมถึงการรับประทานเชอรี่และสารสกัดเชอรี่ทุกวัน

ผลการวิจัยพบว่า การรับประทานเชอรี่นานกว่าช่วงเวลา 2 วัน สัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลง 35% ในการเกิดอาการปวดข้ออย่างเฉียบพลันเนื่องจากโรคเกาต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานเชอรี่ นอกจากนี้ความเสี่ยงในการเป็นโรคเกาต์ยังลดลง 75% ด้วยเมื่อรับประทานเชอรี่ควบคู่กับการใช้ยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) ซึ่งเป็นยารักษาโรคเกาต์

ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน

เชอรี่มีสารต้านอนุมูลอิสระแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นสารสีธรรมชาติ ที่ให้สีแก่ผลไม้ และยังมีประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า แอนโทไซยานินเพิ่มการผลิตอินซูลิน 50% แต่ยังไม่มีการทดสอบกับมนุษย์ นอกจากนี้ นักวิจัยยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าให้จำกัดปริมาณเวลารับประทานลูกกวาดรสเชอรี่ เนื่องจากมีน้ำตาลมากและมีประโยชน์จากเม็ดสีของเชอรี่น้อย

ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ

เชอรี่รสเปรี้ยวอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด และอาจเหมือนกับยาที่ใช้เพื่อช่วยควบคุมไขมันและกลูโคสในผู้ป่วยกลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ห้องปฏิบัติการวิจัยและป้องกันหัวใจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ข้อมูลว่า เชอรี่รสเปรี้ยวช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แม้ว่าพวกเขาจะรับประทานยาตามที่คุณหมอสั่ง

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่เผยแพร่ในงาน Experimental Biology 2013 เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ทำการทดลองกับหนูทดลอง โดยให้หนูที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองรับประทานเชอรี่รสเปรี้ยว ควบคู่กับการได้รับยาไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ผลการวิจัยพบว่ามีการปรับสมดุลและช่วยลดความดันโลหิตได้

ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

สถาบันวิจัยโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (AICR, The American Institute For Cancer Research) ให้ข้อมูลว่า ใยอาหารในเชอรี่อาจช่วยควบคุมน้ำหนักด้วย การมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากจนเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง โดยสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง 7 ชนิด

งานวิจัยในมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างการรับประทานเชอรี่รสเปรี้ยวของหนูทดลอง กับเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ผลการทดสอบพบว่าหนูที่รับประทานเชอรี่ที่มีสารแอนโทไซยานินหรือไซยาไนดิง (Cyaniding) มีเนื้องอกน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับหนูที่รับประทานอาหารที่มีการควบคุม

ในการศึกษาครั้งที่ 2 อาหารของหนูทดลองเป็นแบบเดียวกับอาหารของมนุษย์ ซึ่งผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานเชอรี่รสเปรี้ยวที่มีแอนโทไซยานินและไซยาไนดิง อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น

เชอร์อุดมไปด้วยแอนโทไซยานินที่อาจช่วยเพิ่มความจำ เนื่องจากงานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Neuroscience ให้ข้อมูลว่าแอนโทไซยานินในเชอรี่ช่วยทำให้ความจำและการเคลื่อนที่ของหนูทดลองดีขึ้น

ช่วยทำให้นอนหลับสบาย

การรับประทานเชอรี่รสเปรี้ยวก่อนนอน จะช่วยเพิ่มช่วงเวลาการนอนหลับและคุณภาพการนอนหลับ เนื่องจาก เชอรี่รสเปรี้ยวเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารที่เสริมสร้างฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมวงจรการนอนหลับและการตื่นนอน

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ได้ทำการศึกษานิสัยการนอนหลับของผู้ใหญ่ 15 คน ที่ดื่มน้ำเชอรี่รสเปรี้ยวปริมาณ 8 ออนซ์ในตอนเช้าและตอนเย็นเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่งที่ดื่มน้ำผลไม้ 8 ออนซ์โดยไม่มีส่วนผสมของเชอรี่

ผลการวิจัยพบว่าอาการนอนไม่หลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ผู้เข้าร่วมการทดลองดื่มน้ำเชอรี่ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพบอีกว่าโดยเฉลี่ยแล้วกลุ่มตัวอย่างสามารถประหยัดเวลาได้ประมาณ 17 นาทีหลังจากตื่นนอนเมื่อพวกเขาดื่มน้ำเชอรี่

ช่วยลดไขมันในร่างกาย

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการดื่มน้ำเชอรี่รสเปรี้ยวอาจช่วยลดคอเลสเตอรอล รวมถึงลดไขมันแอลดีแอล (LDL) หรือที่เรียกว่า ไขมันเลว ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเนื่องจากทุกๆ 1% ในการลดคอเลสเตอรอล สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ 2% และการมีไขมันแอลดีแอลสูงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวาย

บรรเทาความเจ็บปวดหลังออกกำลังกาย

เชอรี่สามารถทำให้ความเจ็บปวดหลังการออกกำลังกายแบบ HIIT (High Intensity Interval Training) รุนแรงน้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันการสึกหรอและการฉีดขาดของกล้ามเนื้อเนื่องจากการออกกำลังกาย และช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อ ด้วยเหตุนี้เอง เชอรี่รสเปรี้ยวจึงเป็นที่นิยมในหมู่นักกีฬามืออาชีพ และกลุ่มคนเล่นกีฬา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

7 Health Benefits of Cherries. https://www.health.com/nutrition/health-benefits-cherries. Accessed on September 14, 2018.

SWEET CHERRY. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1142/sweet-cherry. Accessed on September 14, 2018.

The Health Benefits of Cherries. https://jamaicahospital.org/newsletter/the-health-benefits-of-cherries/. Accessed November 18, 2021

A Review of the Health Benefits of Cherries. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5872786/. Accessed November 18, 2021

Top Health Benefits of Cherries & How to Enjoy Them. https://foodrevolution.org/blog/benefits-of-cherries/. Accessed November 18, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/12/2022

เขียนโดย Sopista Kongchon

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

โทงเทงฝรั่ง คุณค่าทางโภชนาการ และประโยชน์ต่อสุขภาพ

วินเทอร์เชอร์รี่ (Winter Cherry)


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 31/12/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา