backup og meta

เชอร์รี่ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

เชอร์รี่ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

เชอร์รี่ เป็นผลไม้ตระกูลพรุนที่นิยมบริโภคอย่างแพร่หลายทั่วโลก ผลของเชอร์รี่มีลักษณะกลม เล็ก สีแดงสด มีทั้งรสหวานและรสหวานอมเปรี้ยว เป็นแหล่งของไฟเบอร์ วิตามิน แร่ธาตุ และอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น อาจช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบ อาจช่วยฟื้นตัวหลังออกกำลังกายได้

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ เชอร์รี่

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA) ระบุว่า เชอร์รี่ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 63 กิโลแคลอรี่ มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 82.2 กรัม และอุดมไปด้วยสารอาหาร  เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 16 กรัม
  • โปรตีน 1.06 กรัม
  • โพแทสเซียม 222 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 21 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 13 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 11 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ เชอร์รี่ยังมีแมงกานีส สังกะสี ทองแดง เหล็ก วิตามินบี 3 วิตามินซี และเบต้าแคโรทีน อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านการอักเสบ ทั้งยังมีแคลอรี่ต่ำและไม่มีโซเดียม การบริโภคเชอร์รี่ในปริมาณที่เหมาะสมจึงอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ เชอร์รี่

เชอร์รี่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของเชอร์รี่ ดังนี้

อาจช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับ

ในเชอร์รี่มีสารเมลาโทนิน (Melatonin) ตามธรรมชาติในปริมาณสูง เมลาโทนินเป็นสารที่ช่วยควบคุมวงจรการนอนหลับของมนุษย์ ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่ในเวลากลางคืน อันเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโต การสร้างเซลล์ใหม่ การเติบโตของกล้ามเนื้อและกระดูก การเผาผลาญน้ำตาลและไขมัน และการทำงานของหัวใจ การบริโภคเชอร์รี่จึงอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการนอนหลับให้เพียงพอหรือมีปัญหานอนไม่หลับ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Nutrition เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาเกี่ยวกับผลของน้ำทาร์ตเชอร์รี่ (Prunus cerasus) ต่อระดับเมลาโทนินและการเพิ่มคุณภาพการนอนหลับ โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างจำนวน 20 คน เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคน้ำทาร์ตเชอร์รี่เข้มข้น

ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้บริโภคยาหลอก หลังทดลอง 7 วัน พบว่า กลุ่มที่บริโภคน้ำเชอร์รี่มีปริมาณเมลาโทนินในปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังใช้เวลานอนบนเตียงมากขึ้น สามารถนอนหลับได้นานขึ้น และมีประสิทธิภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น ในขณะที่ในกลุ่มที่บริโภคยาหลอกไม่พบการเปลี่ยนแปลง

อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคข้ออักเสบได้

เชอร์รี่มีสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น แอนโธไซยานิน (Anthocyanins) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ไปรบกวนกระบวนการออกซิเดชันและช่วยกำจัดอนุมูลอิสระ จึงช่วยยับยั้งความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับอาการข้ออักเสบ เช่น โรคเกาต์ ที่เกิดจากมีกรดยูริกสะสมมากจนทำให้เกิดอาการบวม อักเสบ และปวดข้ออย่างรุนแรง

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคเชอร์รี่เพื่อช่วยลดปริมาณกรดยูริกในเลือดของผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงอายุ 22-40 ปี จำนวน 10 คน เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างบริโภคเชอร์รี่ 2 มื้อ/วัน (ปริมาณ 280 กรัม)

การวิจัยพบว่า ระดับความเข้มข้นของโปรตีนซีรีแอคทีฟ (CRP) และไนตริกออกไซด์ (NO) ที่มักใช้ในการบ่งชี้อาการอักเสบ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และหลังจากบริโภคเชอร์รี่ไปแล้ว 5 ชั่วโมง ระดับกรดยูริกก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยปกติแล้ว การมีกรดยูริกมากเกินไปอาจทำให้ข้อต่อต่าง ๆ อักเสบ จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคเชอร์รี่ที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบมีเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคข้ออักเสบ เช่น โรคเกาต์

อาจช่วยให้ฟื้นตัวหลังออกกำลังกายได้เร็วขึ้น

เชอร์รี่มีสารประกอบฟีนอล เช่น สารแอนโธไซยานิน สารไฮดรอกซีซินนาเมท (Hydroxycinnamates) สารคาเทชิน (Catechin) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ โดยจะพบสารประกอบเหล่านี้ในเชอร์รี่รสเปรี้ยวมากกว่าเชอร์รี่รสหวาน การบริโภคเชอร์รี่จึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ความเสียหาย และการอักเสบที่เกิดจากการออกกำลังกายได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร European Journal of Sport Science เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับเชอร์รี่เปรี้ยวต่อการช่วยให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวจากความเสียหายที่เกิดจากการออกกำลังกายในผู้หญิง

โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างผู้หญิงที่ออกกำลังกาย จำนวน 20 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้บริโภคยาหลอก ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้บริโภคน้ำเชอร์รี่เปรี้ยว ปริมาณ 60 มิลลิกรัม 2 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 8 วัน พบว่า กลุ่มที่บริโภคน้ำเชอร์รี่สามารถฟื้นฟูร่างกายจากการวิ่งได้รวดเร็วกว่า กล้ามเนื้อเสียหายและมีอาการปวดน้อยกว่ากลุ่มที่ใช้ยาหลอก จึงอาจสรุปได้ว่า เชอร์รี่มีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวหลังการออกกำลังกายได้เร็วขึ้น

ข้อควรระวังในการบริโภค เชอร์รี่

ข้อควรระวังในการบริโภคเชอร์รี่ มีดังนี้

  • เชอร์รี่เป็นผลไม้ขนาดเล็ก นิยมบริโภคทั้งผล จึงควรล้างเชอร์รี่ให้สะอาดก่อนบริโภคเสมอ เพื่อกำจัดยาฆ่าแมลงหรือสารปนเปื้อนอื่น ๆ ที่อาจยังตกค้างอยู่
  • เชอร์รี่เป็นแหล่งของซาลิไซเลต (Salicylate) ตามธรรมชาติ ผู้ที่มีอาการแพ้ซาลิไซเลตควรระมัดระวังในบริโภคเชอรี่
  • เชอร์รี่มีใยอาหารสูง การบริโภคผลไม้ชนิดนี้มากเกินไปอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา เช่น ท้องอืด ท้องเสีย จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ
  • ไม่ควรบริโภคเชอร์รี่มากเกินไป เพราะเชอร์รี่มีสารซอร์บิทอล (Sorbitol) ที่ออกฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการท้องเสียได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Cherries, sweet, raw. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/171719/nutrients. Accessed July 8, 2022

Effect of tart cherry juice (Prunus cerasus) on melatonin levels and enhanced sleep quality. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22038497/. Accessed July 8, 2022

Consumption of cherries lowers plasma urate in healthy women. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/12771324/. Accessed July 8, 2022

Montmorency tart cherry (Prunus cerasus L.) supplementation accelerates recovery from exercise-induced muscle damage in females. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/30058460/. Accessed July 8, 2022

Cherry Antioxidants: From Farm to Table. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6259571/. Accessed July 8, 2022

Tart Cherry Juice: Is It Good for You?. https://www.webmd.com/diet/tart-cherry-juice-good-for-you. Accessed July 8, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/10/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้ ที่มีน้ำตาลน้อย เหมาะสำหรับคนเป็น เบาหวาน

ผลไม้ตระกูลซิตรัส ผลไม้รสเปรี้ยว ที่มาพร้อมประโยชน์สุขภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/10/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา