backup og meta

เนื้อวัว ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เนื้อวัว ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เนื้อวัว เป็นสารอาหารหลักประเภทโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อการบำรุงรักษามวลกล้ามเนื้อ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและให้พลังงานแก่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่อาจช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน บำรุงเลือด และปรับปรุงการทำงานของร่างกายในส่วนต่าง ๆ เช่น ระบบประสาท การเต้นของหัวใจ

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อวัว

เนื้อวัวปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 250 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • โปรตีน 26 กรัม
  • ไขมัน 15 กรัม
  • คอเลสเตอรอล 90 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 72 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ เนื้อวัวยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม เหล็ก แมงกานีส โพแทสเซียม ทองแดง ซีลีเนียม (Selenium) สังกะสี

ประโยชน์ของเนื้อวัวที่มีต่อสุขภาพ

เนื้อวัวมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเนื้อวัวในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อุดมไปด้วยโปรตีนที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

เนื้อวัวอุดมไปด้วยโปรตีนที่อาจช่วยพัฒนากล้ามเนื้อและรักษามวลกล้ามเนื้อในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 ศึกษาเกี่ยวกับโปรตีนในอาหารและมวลกล้ามเนื้อ พบว่า การบริโภคโปรตีนที่ไม่ติดมันในปริมาณที่เหมาะสม คือ 0.66 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต พัฒนากล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รักษามวลกล้ามเนื้อและส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้น การรับประทานเนื้อวัวที่อุดมไปด้วยโปรตีนจึงสามารถช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อได้ อย่างไรก็ตาม ควรเลือกรับประทานเนื้อวัวที่ไม่ติดมัน ไม่ผ่านการแปรรูป เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับไขมันและโซเดียมส่วนเกินที่อาจเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด

  1. อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่ดีต่อร่างกาย

เนื้อวัวอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพร่างกาย เช่น

  • วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 และวิตามินบี 12 ช่วยในกระบวนการสร้างพลังงาน ลดความเหนื่อยล้าและความอ่อนเพลีย
  • สังกะสี มีความสำคัญที่ช่วยให้ผม เล็บ และผิวหนังสุขภาพดี สนับสนุนการเจริญพันธุ์และการสืบพันธุ์ ทั้งยังช่วยรักษาระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในเลือดให้เป็นปกติ
  • แคลเซียมและฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุที่ช่วยรักษาและส่งเสริมกระดูกและฟันให้แข็งแรง นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการแข็งตัวของเลือด ช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวได้ดี ปรับปรุงเยื่อหุ้มเซลล์ กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจและส่งเสริมการทำงานของเส้นประสาทให้เป็นปกติ
  1. อาจช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง

เนื้อวัวอุดมไปด้วยธาตุเหล็กและสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามินบี 2 วิตามินบี 12 วิตามินเอ โฟเลต (Folate) ทองแดง ซึ่งช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและป้องกันโรคโลหิตจาง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Research in Medical Sciences เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของธาตุเหล็กที่มีความสำคัญต่อสุขภาพ พบว่า โรคโลหิตจางเป็นโรคที่พบบ่อยเพราะร่างกายขาดธาตุเหล็ก อาจมีสาเหตุมาจากแผลในกระเพาะอาหารหรือการรับประทานอาหารที่ธาตุเหล็กต่ำ นอกจากธาตุเหล็ก ร่างกายควรได้รับสารอาหารอื่น ๆ อย่างวิตามินบี 2 วิตามินบี 12 วิตามินเอ โฟเลต และทองแดง เพื่อช่วยในการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สามารถช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางได้ ดังนั้น การรับประทานเนื้อวัวที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กและสารอาหารที่สำคัญต่อการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง จึงอาจช่วยบำรุงสุขภาพเลือดและป้องกันโรคโลหิตจางได้

  1. อาจช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกัน

เนื้อวัวอุดมไปด้วยสังกะสี ที่ช่วยรักษาความสมดุลการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และช่วยปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันที่อาจช่วยป้องกันโรค เช่น การติดเชื้อ โรคมะเร็ง โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Age (Dordr) เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับการบริโภคอาหารและผลของการเสริมสังกะสีต่อการทำงานของภูมิคุ้มกันในผู้สูงอายุ พบว่า แร่ธาตุสังกะสีเป็นสารอาหารที่ช่วยรักษาความสมดุลของร่างกายในหลายส่วน รวมทั้งส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่อาจขาดสังกะสีเนื่องจากปัญหาการบดเคี้ยว กระบวนการย่อยหรือการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันแย่ลงและเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพตามมา เช่น โรคมะเร็ง การติดเชื้อ จึงควรเสริมอาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี เช่น เนื้อแดง ชีสแข็ง

ข้อควรระวังในการบริโภคเนื้อวัว

ข้อควรระวังบางประการที่ควรรู้ก่อนบริโภคเนื้อวัว มีดังนี้

  • เนื้อแดงที่ไม่ผ่านการแปรรูป เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู อาจอุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว อาจทำให้ระดับไขมันไม่ดี (LDL) และคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • การบริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ ไส้กรอก เบคอน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก นอกจากนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อน
  • เนื้อวัวอุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ผู้ที่รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงอาจเสี่ยงในการเกิดภาวะธาตุเหล็กเกิน เนื่องจากร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กมากเกินไป อาจนำไปสู่โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และปัญหาตับ นอกจากนี้ ยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Zinc: dietary intake and impact of supplementation on immune function in elderly. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3636409/. Accessed April 25, 2022

Review on iron and its importance for human health. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3999603/. Accessed April 25, 2022

Red Meat and Processed Meat Consumption. https://progressreport.cancer.gov/prevention/red_meat. Accessed April 25, 2022

Red and processed meat linked to increased risk of heart disease, Oxford study shows. https://www.ox.ac.uk/news/2021-07-21-red-and-processed-meat-linked-increased-risk-heart-disease-oxford-study-shows#:~:text=Overall%2C%20the%20evidence%20from%20the,coronary%20heart%20disease%20by%209%25. Accessed April 25, 2022

Dietary Protein and Muscle Mass: Translating Science to Application and Health Benefit. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6566799/. Accessed April 25, 2022

B Vitamins. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/vitamins/vitamin-b/. Accessed April 25, 2022

Zinc. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/zinc/. Accessed April 25, 2022

Phosphorus. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/phosphorus/. Accessed April 25, 2022

Calcium. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/calcium/. Accessed April 25, 2022

Beef: Health Benefits, Nutrition, and How to Prepare It. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-beef. Accessed April 25, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/05/2024

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ

โปรตีน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/05/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา