backup og meta

เลซิติน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

เลซิติน ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

เลซิติน (Lecithin) เป็นไขมันชนิดหนึ่งในกลุ่มฟอสโฟลิพิด (Phospholipid) ที่สามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ผักใบเขียว อาหารทะเล เลซิตินมีความจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ในร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท สมอง และหัวใจ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทานเลซิตินในรูปแบบอาหารเสริม เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องร่วง ปวดท้องรุนแรง

[embed-health-tool-bmi]

เลซิติน คืออะไร

เลซิติน คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ไข่ จมูกข้าวสาลี ถั่วลิสง ตับ เมล็ดทานตะวัน น้ำมันคาโนลา เนื้อแดง ผักใบเขียว อาหารทะเล เลซิตินอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาท สมอง หัวใจ และการไหลเวียนโลหิต อีกทั้งยังอาจช่วยลด คอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ และลดความเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

ปัจจุบันมีเลซิตินในรูปแบบอาหารเสริมแบบแคปซูลและซอฟเจล เพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลโภชนาการของเลซิตินหรือขอคำแนะนำจากคุณหมอก่อนรับประทานเพื่อความปลอดภัย

ประโยชน์ของเลซิติน

เลซิตินมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเลซิตินในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • อาจช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดและป้องกันโรคหัวใจ

การรับประทานเลซิตินอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่เป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดโรคหัวใจ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cholesterol เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของเลซิตินในถั่วเหลืองต่อภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งทดลองในอาสาสมัครจำนวน 30 คน อายุ 58-70 ปี ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานยาหลอก 500 มิลลิกรัม และกลุ่มที่รับประทานเลซิตินจากถั่วเหลืองแบบแคปซูล 500 มิลลิกรัม เป็นเวลา 1-2 เดือน จากนั้นเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อนำมาวิเคราะห์ พบว่า กลุ่มที่ได้รับประทานเลซิตินจากถั่วเหลืองมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ การรับประทานเลซิตินจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจได้

  • อาจช่วยบรรเทาอาการโรคอัลไซเมอร์

เลซิตินเป็นสารอาหารที่มีส่วนช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับความจำอื่น ๆ จากการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Therapy เมื่อปี พ.ศ. 2557 ที่ศึกษาฟอสฟาติดิลซีรีน (Phosphatidylserine) ซึ่งเป็นคือสารเคมีชนิดหนึ่ง ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย และ กรดฟอสฟาติทิดิก (Phosphatidic Acid) ซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่งของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมองที่ได้จากเลซิตินของถั่วเหลือง ไข่ โดยนักวิจัยศึกษาผลของสารเหล่านี้ต่อความจำ และอารมณ์ในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานฟอสฟาติดิลซีรีน 100 มิลลิกรัม และกรดฟอสฟาติดิก 80 มิลลิกรัม พบว่า ผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจ และสภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น แต่ยังคงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวต่อไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แน่ชัด

  • อาจช่วยป้องกันลำไส้ใหญ่อักเสบ

เลซิติน อาจมีส่วนช่วยป้องกันภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบ ที่เป็นสาเหตุทำให้ปวดท้องหรือขับถ่ายผิดปกติ จากการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Digestive Diseases and Sciences เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการรักษาภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลของฟอสฟาติดิลโคลีน (Phosphatidylcholine) ที่พบในเลซิติน พบว่า ฟอสฟาติดิลโคลีน มีส่วนช่วยลดสารแรงตึงผิวในลำไส้ ป้องกันการอักเสบ และอาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดแผลในลำไส้ใหญ่ลงได้ถึง 70%

  • อาจช่วยป้องกันโรคตับจากพิษของแอลกอฮอล์

เลซิติน อาจมีส่วนช่วยบำรุงตับและป้องกันโรคตับจากพิษของแอลกอฮอล์ เช่น ไขมันพอกตับ เซลล์เสื่อมสภาพ เนื้อเยื่อของตับเสียหาย จากการศึษาหนึ่งในวารสาร Indian Journal of Clinical Biochemistry เมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเลซิตินในการรักษาความเป็นพิษต่อตับที่เกิดจากอนุมูลอิสระในเอทานอล พบว่า เลซิตินเป็นสารในกลุ่มฟอสโฟลิพิดและมีโคลีนที่อาจช่วยบำรุงตับ และช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระจากเอทานอลที่ส่งผลให้ตับเสียหาย อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมให้แน่ชัด ถึงประสิทธิภาพของเลซิตินต่อการป้องกันโรคตับจากพิษแอลกอฮอล์

ข้อควรระวังในการบริโภคเลซิติน

สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้เลซิติน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเสริมเลซิติน รวมถึงอาหารที่มีเลซิติน เช่น ไข่ ถั่วเหลือง อาหารทะเล เพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้รุนแรง เช่น ลิ้นบวม ผื่นขึ้น หายใจลำบาก หมดสติ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ ควรรับประทานเลซิติน 20-30 กรัม/วัน สำหรับผู้ใหญ่และไม่ควรรับประทานเกิน 5,000 มิลลิกรัม/วัน หากสังเกตว่ามีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องร่วง รู้สึกอิ่มไว ควรหยุดรับประทานและควรแจ้งให้คุณหมอทราบทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Health Benefits of Lecithin. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-lecithin#1.Accessed September 21, 2022

Lecithin.https://www.urmc.rochester.edu/encyclopedia/content.aspx?contenttypeid=19&contentid=lecithin.Accessed September 21, 2022

Lecithin – Uses, Side Effects, And More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-966/lecithin.Accessed September 21, 2022

Influence of Soy Lecithin Administration on Hypercholesterolemia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3065734/.Accessed September 21, 2022

Positive Effects of Soy Lecithin-Derived Phosphatidylserine plus Phosphatidic Acid on Memory, Cognition, Daily Functioning, and Mood in Elderly Patients with Alzheimer’s Disease and Dementia. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4271139/.Accessed September 21, 2022

Phosphatidylcholine (lecithin) and the mucus layer: Evidence of therapeutic efficacy in ulcerative colitis?. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20926877/.Accessed September 21, 2022

Effect of lecithin in the treatment of ethanol mediated free radical induced hepatotoxicity. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23105571/.Accessed September 21, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

22/03/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ผลไม้ ที่มีน้ำตาลน้อย เหมาะสำหรับคนเป็น เบาหวาน

5 อาหารที่มีแคลเซียม ประโยชน์ และข้อควรระวังในการรับประทาน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 22/03/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา