backup og meta

เลม่อน ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เลม่อน ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เลม่อนเป็นผลไม้ตระกูลส้ม ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ผลมีลักษณะกลมรี เปลือกสีเหลือง มีกลิ่นหอม อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจ ควบคุมน้ำหนัก ป้องกันโรคนิ่วในไต อาจลดความเสี่ยงมะเร็ง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

คุณค่าทางโภชนาการของเลม่อน

เลม่อนปริมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 29 กิโลแคลอรี่ และประกอบด้วยสารอาหารต่าง ๆ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 9.32 กรัม
  • ไฟเบอร์ 2.8 กรัม
  • โปรตีน 1.1 กรัม
  • ไขมัน 0.3 กรัม
  • วิตามินซี 53 มิลลิกรัม
  • โคลีน 5.1 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ เลม่อนยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินบี 5 วิตามินบี 6 วิตามินบี 9 แคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม แมงกานีส ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม สังกะสี นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย ฟลาโวนอยด์  (Flavonoid) โพลีฟีนอล (Polyphenols) กรดซิตริก (Citric Acid) ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อและเซลล์ที่เกิดจากการทำลายของอนุมูลอิสระ

ประโยชน์ของเลม่อนที่มีต่อสุขภาพ

เลม่อนมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของเลม่อนในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจ

เลม่อนเป็นผลไม้ตระกูลส้ม มีรสเปรี้ยว วิตามินซีสูงและมีสารฟลาโวนอยด์ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยลดการอักเสบ ลดความดันโลหิต ทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of Internal Medicine เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของผักและผลไม้ในการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่า การบริโภคผักและผลไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผักใบเขียวและผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง อย่างส้ม เลม่อน อาจมีผลในการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Opinion in Lipidology เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับสารสกัดจากพืชตระกูลส้มหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวและการเผาผลาญไขมัน พบว่า สารฟลาโวนอยด์จากพืชตระกูลส้ม รวมทั้งนารินจิน (Naringin) เฮสเพอริดิน (Hesperidin) โนบิเลทิน (Nobiletin) อาจส่งผลดีในการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะไขมันพอกตับ โรคอ้วน ลดความดันโลหิต ต้านการอักเสบและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. อาจช่วยควบคุมน้ำหนัก

เลม่อนมีสารประกอบโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่อาจมีบทบาทในการช่วยควบคุมการสลายไขมันที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเกินไป โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Clinical Biochemistry and Nutrition เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ศึกษาเกี่ยวกับโพลีฟีนอลในเลม่อน ในการช่วยยับยั้งโรคอ้วน พบว่า เลม่อนมีสารประกอบโพลีฟีนอลที่ช่วยยับยั้งการเพิ่มของน้ำหนักตัวและการสะสมของไขมันในร่างกาย โดยการปรับการเผาผลาญไขมันและป้องกันกลุ่มอาการเมตาบอลิซึมที่เกี่ยวกับการเผาผลาญในร่างกายที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไป นอกจากนี้ ยังช่วยปรับปรุงระดับอินซูลิน ระดับน้ำตาลในเลือดและปรับระดับฮอร์โมนเลปติน (Leptin) หรือฮอร์โมนความหิว จึงอาจช่วยป้องกันโรคอ้วนและปรับปรุงภาวะดื้อต่ออินซูลิน

  1. อาจช่วยป้องกันนิ่วในไต

เลม่อนอุดมไปด้วยกรดซิตริก (Citric Acid) ซึ่งเป็นสารช่วยยับยั้งการเกิดนิ่วในไต โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Archivio Italiano di Urologia e Andrologia เมื่อเดือน พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมอาหารและปัจจัยเสี่ยงในการเกิดนิ่วในไต พบว่า ผักและผลไม้ตระกูลส้ม เช่น มะนาว ส้ม เกรปฟรุต เลม่อน และผลไม้ที่ไม่ใช่รสเปรี้ยว เช่น แตง เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยซิตริกซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มระดับซิเตรต (Citrate) ในปัสสาวะ ซึ่งเป็นสารยับยั้งนิ่วในไตตามธรรมชาติ ช่วยให้การขับแคลเซียมในปัสสาวะลดลง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันความเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไตได้

  1. อาจลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง

สารประกอบในเลม่อนหลายชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ (Alkaloids) ลิโมนอยด์ (Limonoids) คูมาริน (Coumarins) แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) กรดฟีนอลิก (Phenolic Acids) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยต้านการอักเสบของเซลล์และเนื้อเยื่อซึ่งอาจช่วยต้านมะเร็งได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Chemistry Central Journal เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอาจให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ พบว่า ผลไม้รสเปรี้ยวจากพืชตระกูลส้มมีสารประกอบหลายชนิด ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ ลิโมนอยด์ คูมาริน แคโรทีนอยด์ กรดฟีนอลิก น้ำมันหอมระเหย ซึ่งออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านมะเร็ง ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ปรับปรุงระบบประสาท

  1. อาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

เลม่อนเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Indian Journal of Clinical Biochemistry เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของวิตามินซีในการป้องกันและรักษาโรค พบว่า วิตามินซีมีบทบาทสำคัญในการทำงานของเมตาบอลิซึมซึ่งเป็นระบบเผาผลาญของร่างกาย ทั้งยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ปกป้องร่างกาย ใช้เป็นยารักษาโรคและความผิดปกติต่าง ๆ ช่วยปกป้องระบบภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงของอาการแพ้และช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ

ข้อควรระวังในการบริโภคเลม่อน

เลม่อนอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่การรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ดังนี้

  • เลม่อนมีความเป็นกรดสูง ซึ่งอาจทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันกร่อน อาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก และเกิดอาการเสียดท้อง ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเลม่อนในปริมาณที่มากจนเกินไป
  • เลม่อนมีรสเปรี้ยวและมีกรดสูง การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน หรือทำให้อาการแย่ลง เช่น อาการเสียดท้อง ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนกลางอก แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย
  • เลม่อนมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ การรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลให้ปัสสาวะมากขึ้น ร่างกายขาดน้ำและขาดแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Vitamin C in Disease Prevention and Cure: An Overview. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3783921/. Accessed April 5, 2022

Lemon Polyphenols Suppress Diet-induced Obesity by Up-Regulation of mRNA Levels of the Enzymes Involved in β-Oxidation in Mouse White Adipose Tissue. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2581754/. Accessed April 5, 2022

Citrus flavonoids and lipid metabolism. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/23254473/. Accessed April 5, 2022

The effect of fruit and vegetable intake on risk for coronary heart disease. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/11412050/. Accessed April 5, 2022

Dietary treatment of urinary risk factors for renal stone formation. A review of CLU Working Group. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26150027/. Accessed April 5, 2022

Citrus fruits as a treasure trove of active natural metabolites that potentially provide benefits for human health. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26705419/. Accessed April 5, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

12/04/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ใยอาหาร ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

จำปาดะ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค 


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 12/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา