backup og meta

เห็ดออรินจิ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เห็ดออรินจิ ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เห็ดออรินจิ หรือเห็ดนางรมหลวง นิยมนำมาบริโภค ทั้งในแบบสดและแบบผง หรือสารสกัด เนื่องจากมีแคลอรี่ต่ำ อุดมไปด้วยคุณค่าโภชนาการ มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด การบริโภคเห็ดออรินจิให้ประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคเห็ดออรินจิในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของ เห็ดออรินจิ

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture หรือ USDA)  ระบุว่า เห็ดออรินจิ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 41 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 6.94 กรัม
  • โปรตีน 2.9 กรัม
  • ไขมัน 0.19 กรัม
  • โพแทสเซียม 282 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 86 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 13.9 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 1 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ เห็ดออรินจิโดยังมีสังกะสี ทองแดง เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินบี 7 ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การรับประทานเห็ดออรินจิในปริมาณที่เหมาะสมจึงอาจส่งผลดีต่อสุขภาพหลายประการ อีกทั้งเห็ดออรินจิยังมีพลังงานและแคลลอรี่ต่ำ จึงเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปและผู้ป่วยที่มีไขมันในเลือดสูง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ เห็ดออรินจิ

เห็ดออรินจิอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของเห็ดออรินจิ ดังนี้

อาจช่วยในการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

เห็ดออรินจิ อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases) ที่เกิดจากโรคทางคาร์ดิโอเมตาบอลิก (Cardiometabolic diseases) เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วน ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ  ได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ช่วยลดลดน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีมีประสิทธิภาพ

โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 ศึกษาเรื่อง ผลของการบริโภคเห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดนางรมหลวงหรือที่เรียกว่าเห็ดออรินจิต่อปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและเมแทบอลิค หรือคาร์ดิโอเมตาบอลิก (Cardiometabolic diseases) โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่มีสุขภาพดี กลุ่มที่ 2 คือผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมอาหาร รับประทานสารสกัดจากเห็ดออรินจิในปริมาณ 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่า สารสกัดเห็ดออรินจิมีส่วนช่วยเพิ่มการดูดซึมกลูโคสในลำไส้ แต่ในขณะเดียวกันก็ลดระดับกลูโคสในซีรัม ทั้งยังกระตุ้นการหลั่งอินซูลินที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของระดับกลูโคสในเลือด จึงอาจสรุปได้ว่า เห็ดออรินจิมีประโยชน์ในการควบคุมน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ศึกษาเรื่อง การยับยั้งการอักเสบและการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดของสารสกัดเมทานอลของเห็ดสกุลนางรม พบว่า สารสกัดจากเห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดนางรมหลวงหรือเห็ดออรินจิสามารถเยียวยาการอักเสบเฉียบพลันและการอักเสบเรื้อรังได้ เมื่อรับประทานในปริมาณ 500 และ 1000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม จึงอาจกล่าวได้ว่า เห็ดออรินจิมีศักยภาพในการรักษาโรคความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น ภาวะหลอดเลือดอุดตัน ได้

อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

เห็ดออรินจิประกอบไปด้วยสารกลุ่มเบต้ากลูแคนส์ (Beta-glucans) ที่พบได้ทั่วไปในสิ่งมีชีวิตตระกูลเห็ด รา ยีสต์ เบต้ากลูแคนส์ช่วยเคลื่อนย้ายเม็ดเลือดขาวให้ไปยังบริเวณที่เกิดการอักเสบและส่งเสริมการทำงานของสารต้านจุลชีพ เห็ดออรินจิจึงมีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ โดยกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองต่ออาการอักเสบของเซลล์ภายในร่างกาย

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrition เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554  ศึกษาเรื่อง ฤทธิ์ต้านการอักเสบของเห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดออรินจิที่เกิดขึ้นจากความสามารถในการยับยั้งการส่งสัญญาณของโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบและการเกิดมะเร็งอย่าง NF-κB และ AP-1  พบว่า สารประกอบของเห็ดออรินจิ เช่น เมทานอล สเตียรอยด์ กรดฟีนอลิก ไทโรซีน (Tyrosine) วิตามินบี 2 มีฤทธิ์ในการยับยั้งอาการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาจสรุปได้ว่า เห็ดสกุลนางรม รวมถึงเห็ดออรินจิเป็นอาหารที่มีประโยชน์ในการยับยั้งอาการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย

อาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันได้

เห็ดออรินจิ มีส่วนประกอบของสารพอลิแซ็กคาไรด์ (Polysaccharides) ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้นกัน โดยสารชนิดนี้จะทำงานร่วมกับเม็ดเลือดขาวแมกโครฟาจ (Macrophage) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ภูมิคุ้มกัน (Dendritic cells) ซึ่งมีหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพในการต้านเชื้อโรคได้

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ศึกษาเรื่องความรู้และมุมมองต่อสารพอลิแซ็กคาไรด์ในเห็ดสกุลนางรม พบว่า สารพอลิแซ็กคาไรด์ที่พบในเห็ดสกุลนางรม มีส่วนช่วยลดความเสียหายจากการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากอนุมูลอิสระได้ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ ควบคุมความสมดุลของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานเห็ดออรินจิหรือเห็ดนางรมหลวง ซึ่งเป็นเห็ดสกุลนางรมชนิดหนึ่ง อาจมีส่วนช่วยให้ระบบร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันได้

ข้อควรระวังในการบริโภค เห็ดออรินจิ

เห็ดออรินจิอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ แต่หากรับประทานมากเกินไป หรือรับประทานผิดวิธี ก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนี้

  • เห็ดมีทั้งชนิดที่กินได้และเป็นพิษ และบางครั้งอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกันมากจนอาจทำให้เข้าใจผิดได้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพจากการบริโภคเห็ดพิษ ควรเลือกซื้อเห็ดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และหลีกเลี่ยงการบริโภคเห็ดที่ไม่คุ้นเคย
  • หากรับประทานเห็ดออรินจิหรือเห็ดอื่น ๆ แล้วมีอาการแพ้ เช่น วิงเวียนศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย ควรหยุดรับประทานทันทีแล้วรีบไปพบคุณหมอ และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ดชนิดนั้น ๆ อีกในอนาคต
  • เห็ดออรินจิมีส่วนประกอบของสารอราบิทอล (Arabitol) ในปริมาณเล็กน้อย สารชนิดนี้เป็นน้ำตาลแอลกอฮอล์ที่อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน จึงควรบริโภคอย่างระวัง และหยุดบริโภคทันทีหากพบอาการดังกล่าว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Mushroom, oyster. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/1999627/nutrients. Accessed May 11, 2022

Polysaccharides from edible fungi Pleurotus spp.: advances and perspectives. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2772566922000027. Accessed May 11, 2022

Methanol extract of the oyster mushroom, Pleurotus florida, inhibits inflammation and platelet aggregation. https://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/ptr.1355. Accessed May 11, 2022

Effect of the Intake of Oyster Mushrooms (Pleurotus ostreatus) on Cardiometabolic Parameters—A Systematic Review of Clinical Trials. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7230384/. Accessed May 11, 2022

Oyster mushroom (pleurotus species); A natural functional food. https://www.researchgate.net/publication/321883054_Oyster_mushroom_pleurotus_species_A_natural_functional_food. Accessed May 11, 2022

Anti-inflammatory activity of edible oyster mushroom is mediated through the inhibition of NF-κB and AP-1 signaling. https://nutritionj.biomedcentral.com/articles/10.1186/1475-2891-10-52. Accessed May 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

31/05/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

เห็ดเข็มทอง ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

เห็ดหอม ประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 31/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา