backup og meta

โกจิเบอร์รี่ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

โกจิเบอร์รี่ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

โกจิเบอร์รี่ คือผลไม้ที่มีลักษณะเป็นวงรีเล็ก ๆ มีผลสีส้มอมแดง สามารถรับประทานในรูปแบบผลสดหรืออบแห้ง หรืออาจนำมาประกอบอาหาร เช่น ซุป ชาสมุนไพร น้ำผลไม้ โกจิเบอร์รี่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี และธาตุเหล็ก ที่อาจช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เข้ามาทำลายเซลล์เนื้อเยื่อในร่างกาย และอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่และจอประสาทตาเสื่อมได้

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของโกจิเบอร์รี่

โกจิเบอร์รี่ 100 กรัม มีพลังงาน 349 แคลอรี่ และมีสารอาหาร ดังต่อไปนี้

นอกจากนี้ โกจิเบอร์รี่ยังมีวิตามินเอและธาตุเหล็ก ที่อาจช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกาย อีกทั้งยังอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ให้สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้

ประโยชน์ของโกจิเบอร์รี่

โกจิเบอร์รี่ มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของโกจิเบอร์รี่ในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน

โกจิเบอร์รี่อุดมไปด้วยวิตามินซีที่มีคุณสมบัติช่วยเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ จากการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างวิตามินซีและระบบภูมิคุ้มกัน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nutrients ปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและเซลล์ในร่างกาย และการบริโภควิตามินซีอย่างน้อย 100-200 มิลลิกรัมต่อวัน อาจสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยได้

นอกจากนี้ ยังมีอีกการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medicinal Food ปี พ.ศ. 2552 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากการบริโภคน้ำโกจิเบอร์รี่ต่อระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งทำการทดลองในกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่จำนวน 60 คน อายุเฉลี่ย 55-72 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้ดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่ 120 มิลลิลิตร/วัน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอกเป็นเวลา 30 วัน พบว่ากลุ่มที่ดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่มีจำนวนเม็ดเลือดขาว และอิมมูโนโกลบูลิน จี (Immunoglobulin G) ที่เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านสิ่งแปลกปลอมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่กลุ่มที่ใช้ยาหลอกไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ

  • อาจช่วยบำรุงสายตา

โกจิเบอร์รี่มีวิตามินเอ รวมถึงลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ที่อาจช่วยปกป้องดวงตาจากการถูกอนุมูลอิสระทำลายเนื้อเยื่อและเซลล์ จนส่งผลให้การมองเห็นเปลี่ยนแปลง ตาแห้ง และเกิดโรคตาอื่น ๆ จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Clin Ophthalmo ปี พ.ศ. 2562 ที่ศึกษาเกี่ยวกับผลของการรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอในระยะสั้นต่อฟิล์มน้ำตาในผู้ป่วย ที่มีอาการตาแห้ง จำนวน 30 คน อายุ 18-38 ปี โดยให้ผู้เข้ารับการทดสอบ รับประทานอาหารเสริมวิตามินเอ ขนาด 1,500 มิลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3 วัน พบว่า การรับประทานอาหารเสริมวิตามินเอในระยะสั้นอาจช่วยคงความชุ่มชื้นของน้ำตาในดวงตา และช่วยลดอาการตาแห้งได้ แต่อาจไม่สามารถกระตุ้นให้ผลิตน้ำตาเพิ่มได้

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร ​​​Optometry and Vision Science  ปี พ.ศ.2554 ที่ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของโกจิเบอร์รี่ต่อจุดภาพชัดของดวงตาและระดับของสารต้านอนุมูลอิสระในพลาสมา โดยให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี อายุ 65-70 ปี จำนวน 150 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับประทานโกจิเบอร์รี่ และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก เป็นเวลา 90 วัน พบว่า กลุ่มที่รับประทานโกจิเบอร์รี่มีระดับของซีแซนทีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของจอตา และมีระดับของสารต้านอนุมูลอิสระภายในเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจสามารถช่วยลดการสร้างเม็ดสีบริเวณส่วนกลางเรตินาของดวงตา และลดการสะสมของไขมันหรือที่เรียกว่าดรูเซน (Drusen) ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลให้เกิดจุดสีเหลืองบริเวณจุดภาพชัดของตา ที่อาจนำไปสู่โรคจอประสาทตาเสื่อมได้

  • อาจช่วยลดน้ำตาลในเลือด

การรับประทานโกจิเบอร์รี่อาจสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และเพิ่มระดับของอินซูลินในเลือดได้ ซึ่งอาจมีประโยชน์ต่อการควบคุมอาการของโรคเบาหวาน  จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicinal Chemistry ปี พ.ศ. 2558 ที่ทำการทดสอบประสิทธิภาพของของโกจิเบอร์รี่ต่อการต้านเบาหวานในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 67 ราย โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับประทานโกจิเบอร์รี่ 30 คน และกลุ่มที่ได้รับยาหลอก 37 คน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า กลุ่มที่ได้รับประทานโกจิเบอร์รี่มีระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีระดับของอินซูลินในเลือดและระดับของคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มขึ้นอีกด้วย

  • อาจปรับปรุงการนอนหลับ

การรับประทานโกจิเบอร์รี่อาจช่วยเพิ่มคุณภาพของการนอนหลับให้ดีขึ้น เนื่องจากโกจิเบอร์รี่อาจช่วยลดความวิตกกังวล และลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและอาการทางจิตที่รบกวนต่อการนอนหลับ  การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Alternative and Complementary Medicine ปี พ.ศ. 2551 ได้ทำศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของน้ำโกจิเบอร์รี่ โดยสุ่มทดลองให้ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงดื่มน้ำโกจิเบอร์รี่ 120 มิลลิตร เป็นเวลา 14 วัน และให้ตอบแบบสอบถามเพื่อวัดผล พบว่า การรับประทานโกจิเบอร์รี่ อาจช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบประสาทและจิตใจ ทำให้สามารถนอนหลับง่ายขึ้นและตื่นง่ายขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดความเหนื่อยล้าและความเครียดได้ อย่างไรก็ตาม อาจจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันสรรพคุณของโกจิเบอร์รี่ในการช่วยเรื่องการนอนหลับ

ข้อควรระวังในการบริโภคโกจิเบอร์รี่

การรับประทานโกจิเบอร์รี่อาจมีความปลอดภัยหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม โกจิเบอร์รี่อาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ได้ ดังนั้น หากรับประทานโกจิเบอร์รี่เป็นครั้งแรก ควรรับประทานในปริมาณน้อยและหากสังเกตพบอาการแพ้ เช่น ผื่น อาการคัน คอบวม หายใจลำบาก ควรหยุดรับประทานในทันที และเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด

นอกจากนี้ โกจิเบอร์รี่อาจมีปฏิกิริยากับยารักษาโรคเบาหวาน ยาลดความดันโลหิต และยาต้านการแข็งตัวของเลือด อีกทั้งสตรีตั้งครรภ์อาจจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการรับประทานโกจิเบอร์รี่ เนื่องจากมีสารบีเทน (Betaine) ที่อาจกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์และเพิ่มความเสี่ยงแท้งบุตร

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Goji Berries. https://www.webmd.com/diet/goji-berries-health-benefits-and-side-effects. Accessed April 27, 2022 

Vitamin C and Immune Function. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5707683/. Accessed April 27, 2022 

Immunomodulatory effects of a standardized Lycium barbarum fruit juice in Chinese older healthy human subjects. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19857084/. Accessed April 27, 2022 

Goji berry effects on macular characteristics and plasma antioxidant levels. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/21169874/. Accessed April 27, 2022 

Practical Application of Antidiabetic Efficacy of Lycium barbarum Polysaccharide in Patients with Type 2 Diabetes. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4475782/. Accessed April 27, 2022 

A randomized, double-blind, placebo-controlled, clinical study of the general effects of a standardized Lycium barbarum (Goji) Juice, GoChi.https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18447631/. Accessed April 27, 2022 

Effects of short-term oral vitamin A supplementation on the ocular tear film in patients with dry eye. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6462169/ . Accessed April 27, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/01/2024

เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

สารอาหาร และปริมาณที่ควรได้รับ

ลูกท้อ สารอาหาร ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 08/01/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา