backup og meta

ใบสะระแหน่ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

    ใบสะระแหน่ ประโยชน์ และข้อควรระวังในการบริโภค

    ใบสะระแหน่ เป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอม นิยมนำไปใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งนำไปประกอบอาหาร สกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย สกัดเป็นแคลซูลเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อาจช่วยบำรุงสมอง ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และอาจช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดอาการปวดประจำเดือนได้

    คุณค่าโภชนาการของ ใบสะระแหน่

    ใบสะระแหน่ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 48 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม
  • ไฟเบอร์ 3 กรัม
  • โซเดียม 20 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 30 มิลลิกรัม
  • นอกจากนี้ ใบสะระแหน่ยังมีวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 วิตามินซี วิตามินอี เบตาแคโรทีน แคลเซียม สังกะสี และเหล็ก ทั้งยังมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหย เช่น เมนทอล (Menthol) ซิทรัล (Citral) กรดโรสมารินิก (Rosmarinic acid) ที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท หากใช้อย่างถูกวิธีอาจช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความเครียด และลดอาการปวดได้

    ประโยชน์ทางสุขภาพของใบสะระแหน่

    ใบสะระแหน่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของใบสะระแหน่ ดังนี้

    อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ

    ใบสะระแหน่ะมีสารประกอบที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น เทอร์พีนอยด์ (Terpenoids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เควอซิทิน (Quercetin) ควอซิทริน (Quercitrin รูติน (Rutin) กรดแกลลิก (Gallic acid) ซึ่งสามารถยับยั้งหรือชะลอการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระ ป้องกันการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคอัลไซเมอร์

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเรื่อง สารต้านอนุมูลอิสระในสะระแหน่ โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัยในกลุ่มตัวอย่างในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง พบว่า สารสกัดจากสะระแหน่ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด ได้แก่ เควอซิทิน รองลงมา คือกรดกาลิก ควอซิทริน และรูติน ตามลำดับ สารประกอบเหล่านี้สามารถป้องกันการผลิตสารออกฤทธิ์ทางเคมีและอาจขัดขวางการเกิดกระบวนการลิพิดเปอร์ออกซิเดชัน (Lipid peroxidation) ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระได้

    อาจช่วยบำรุงสมองได้

    ใบสะระแหน่ มีสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายและมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) เควอซิทิน (Quercetin) รูติน (Rutin) กรดแกลลิก (Gallic acid) ที่อาจมีประโยชน์ต่อระบบสมองและความจำ เนื่องจากสามารถยับยั้งการทำงานของแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส (Acetylcholinesterase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำลายสารสื่อประสาทสมองหรือแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ที่สำคัญต่อการจดจำ หากมีสารชนิดนี้น้อยเกินไป อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ โรคนี้เกิดจากอนุมูลอิสระออกซิเจน (Radical oxygen species หรือ ROS) ร่วมกับองค์ประกอบอื่น ๆ ไปทำลายองค์ประกอบของเซลล์ ทำให้เกิดการอักเสบ สารต้านอนุมูลอิสระจึงอาจมีประโยชน์ในการรักษาและชะลอโรคที่เกิดจากกระบวนการอักเสบภายในเซลล์สมองเช่นนี้ได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549  ศึกษาเกี่ยวกับการยับยั้งเอนไซม์อะเซทิลโคลีนเอสเตอเรสและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของพืชสมุนไพรจากประเทศโปรตุเกส พบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากสะระแหน่ มีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำงานของแอซิติลโคลีนเอสเตอเรส และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง จึงอาจสรุปได้ว่าใบสะระแหน่เป็นทางเลือกอาจนำมารักษาภาวะสมองเสื่อมหรือที่เรียกว่าโรคอัลไซเมอร์ได้

    อาจบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

    น้ำมันหอมระเหยในใบสะระแหน่มีสารซิทรัล (Citral) เช่น  ลินาลูล (Linalool) ซิททรอเนลลา (Citronella) ที่อาจช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตัวและลดอาการปวดประจำเดือนและกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nursing and Midwifery Studies เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดจากสะระแหน่ต่อความรุนแรงของอาการก่อนมีประจำเดือน โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนหญิงระดับมัธยมปลายจำนวน 100 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกรับประทานสารสกัดจากสะระแหน่วันละ 2 ครั้ง ๆ ละ 600 มิลลิกรัม ส่วนอีกกลุ่มรับประทานยาหลอก เป็นเวลา 3 รอบเดือน พบว่า กลุ่มที่รับประทานสารสกัดจากสะระแหน่มีระดับความรุนแรงของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก จึงอาจกล่าวได้ว่า สารสกัดจากสะระแหน่ช่วยบรรเทาอาการก่อนมีประจำเดือนได้ ทั้งนี้ ยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้ได้ข้อมูลแน่ชัดขึ้น

    ข้อควรระวังในการบริโภค ใบสะระแหน่

    ข้อควรระวังในการบริโภคใบสะระแหน่ อาจมีดังนี้

    • การรับประทานใบสะระแหน่ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงสำหรับบางคน เช่น กระตุ้นให้อยากอาหาร คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ หายใจมีเสียงหวีด หากรับประทานใบสะระแหน่แล้วมีอาการดังกล่าว หรือพบความผิดปกติใด ๆ ควรหยุดรับประทาน แล้วปรึกษาคุณหมอทันที
    • การใช้สะระแหน่เพื่อเสริมสุขภาพ ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและไม่ใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเกินไป ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า การใช้สะระแหน่ติดต่อกันนานเกิน 6 เดือนจะปลอดภัยต่อสุขภาพ และปริมาณในการใช้งานที่ปลอดภัยอาจอยู่ที่ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/วัน ติดต่อกันไม่เกิน 6 เดือน
    • ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานใบหรือสารสกัดจากสะระแหน่ในช่วงที่เตรียมตัวเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากฤทธิ์ของใบสะระแหน่อาจไปลดประสิทธิภาพของยาที่ใช้ในช่วงผ่าตัดและหลังการผ่าตัด หรืออาจส่งผลเสียต่อสุขภาพเมื่อใช้ร่วมกับยาบางชนิด
    • น้ำมันที่สกัดจากใบสะระแหน่อาจมีความเข้มข้นของเมนทอลสูง จนก่อให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้บางราย เช่น ผิวหนังอักเสบ ผื่นแดง ลมพิษ หากใช้แล้วเกิดอาการเหล่านี้ควรหยุดใช้โดยทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 07/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา