backup og meta

ใบหม่อน ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/12/2023

    ใบหม่อน ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

    ต้นหม่อน (Mulberry) เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีใบขนาดใหญ่ สีเขียวเข้ม ขอบใบหยัก ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารของตัวไหมแล้ว คนยังนิยมนำ ใบหม่อน มาตากแห้งและทำเป็นเครื่องดื่มแก้กระหายและบำรุงสุขภาพ รวมถึงนำใบหม่อนไปสกัดเป็นอาหารเสริม เนื่องจากอาจมีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเซลล์ในร่างกาย และอาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพหัวใจ ทั้งนี้ ควรบริโภคใบหม่อนในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ท้องอืด ท้องเสีย อาการแพ้

    ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ใบหม่อน

    หม่อนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ทั้ง ใบ ราก ผล กิ่ง เมล็ด โดยเฉพาะ  มีทั้งสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น สารดีเอนเจ (DNJ) โพลีฟีนอล (Polyphenols) เควอซิติน (Quercetin) แคมพ์เฟอรอล (Kaempferol) รูติน (Rutin) ที่ช่วยในการต้านการอักเสบ ช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงอาจป้องกันการเกิดโรคเบาหวานได้ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของ ใบหม่อน ดังนี้

    อาจลดระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินได้

    ใบหม่อน มีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ (Alkaloids) ได้แก่ สาร 1-ดีออกซีโนจิริไมซิน(1-deoxynojirimycin) หรือที่เรียกว่าสารดีเอนเจ  ที่มีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อัลฟากลูโคซิเดส (α-glucosidase) ที่ย่อยน้ำตาลโมเลกุลคู่ให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว สารชนิดนี้ช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายย่อยคาร์โบไฮเดรตไปเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก จึงอาจลดระดับน้ำตาลในเลือดรวมถึงระดับของอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหาร

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS One เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดจากหม่อนในการเพิ่มความทนทานต่อน้ำตาลกลูโคสและลดความเข้มข้นของอินซูลินในผู้ใหญ่ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ โดยการให้กลุ่มตัวอย่างวัย 19-59 ปีจำนวน 37 คนรับประทานผงแป้งมอลโทเดกซ์ทริน (Maltodextrin) ที่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด 50 กรัม หลังจากนั้นแบ่งกลุ่มตัวอย่างและให้รับประทานสารสกัดจากใบหม่อนที่มีส่วนประกอบของสารดีเอนเจ 5% ในปริมาณ 500 มิลลิกรัม 250 มิลลิกรัม และ 125 มิลลิกรัม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งรับประทานยาหลอก เมื่อครบ 120 นาทีจึงวัดระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลิน ผลปรากฏว่า ผู้ที่รับประทานสารสกัดจากใบหม่อนในปริมาณ 250 หรือ 500 มิลลิกรัม มีระดับน้ำตาลในเลือดและระดับอินซูลินต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานยาหลอกอย่างเห็นได้ชัด

    อาจช่วยส่งเสริมสุขภาพหัวใจได้

    สารดีเอนเจในใบหม่อนมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ จึงอาจช่วยปรับปรุงสุขภาพหัวใจโดยการลดระดับคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต ลดการอักเสบ และป้องกันภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งเป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงเกิดการอักเสบจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือดจนทำให้หลอดเลือดอุดตันหรือแข็ง ใบหม่อนจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Phytotherapy Research เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของยาเม็ดใบหม่อนในผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงระดับเบา โดยการให้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงระดับเบาชาวไทย รับประทานสารสกัดจากใบหม่อนครั้งละ 280 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในเลือดของผู้ป่วยลดลงประมาณ 5.6% และระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 19.7% จึงอาจสรุปได้ว่าใบหม่อนมีส่วนประกอบอาจช่วยปกป้องสุขภาพของหัวใจได้

    อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้

    ใบหม่อนมีสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ลดภาวะเครียดออกซิเดชันที่ส่งผลเสียต่อเซลล์ และช่วยต้านอักเสบของเซลล์ในร่างกาย จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้

    งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร BioMed Research International เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและระดับโปรตีนซีรีแอคทีฟ (C-reactive) ในผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดสูงระดับเบาของใบหม่อน โดยให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 24 คน รับประทานใบหม่อนผงก่อนอาหารครั้งละ 280 มิลลิกรัม 3 ครั้ง/วัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์พบว่า ระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดของกลุ่มตัวอย่างลดลง และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งมีระดับโปรตีนซีรีแอคทีฟ (CRP) ที่บ่งชี้ว่าอาจมีการอักเสบในหลอดเลือดจากภาวะไขมันในเลือดผิดปกติลดลงทุกเดือน จึงอาจสรุปได้ว่า ใบหม่อนผงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีศักยภาพในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี โดยไม่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรง

    ข้อคววรระวังในการบริโภค ใบหม่อน

    ใบหม่อนอุดมไปด้วยสารอาหารที่ประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย แต่ก็ควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพที่อาจตามมา โดยข้อควรระวังในการบริโภคใบหม่อน อาจมีดังนี้

    • การบริโภคใบหม่อนอาจทำให้วิงเวียนศีรษะ ท้องอืด ท้องเสีย หรือท้องผูกได้
    • สำหรับผู้ที่ใช้ใบหม่อนเพื่อรักษาหรือป้องกันโรค ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 12 สัปดาห์ เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้งานที่เพียงพอ
    • ใบหม่อนมีสรรพคุณในการลดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด ควรงดการบริโภค 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนกกระทบต่อการห้ามเลือด
    • หากบริโภคใบหม่อนแล้วมีอาการแพ้หรือเกิดความผิดปกติกับร่างกาย ควรหยุดบริโภคทันที

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 27/12/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา