backup og meta

ไซเลี่ยมฮัสค์ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ไซเลี่ยมฮัสค์ ประโยชน์ต่อสุขภาพ และข้อควรระวังในการบริโภค

ไซเลี่ยมฮัสค์ (Psyllium Husk) เป็นเส้นใยอาหารตามธรรมชาติจากเมล็ดต้นเทียนเกล็ดหอยที่นิยมใช้บรรเทาอาการท้องผูกเนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย โดยเส้นใยไซเลี่ยมฮัสค์จะดูดซับของเหลวภายในลำไส้และขยายตัวใหญ่ขึ้น จึงช่วยเพิ่มปริมาณกากอาหารในลำไส้ (Bulk-forming laxatives) ช่วยให้อุจจาระจับตัวกันเป็นก้อน เพิ่มขนาดอุจจาระ ทำให้ขับอุจจาระออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ทั้งยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอล จึงอาจลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้ อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคไซเลี่ยมฮัสค์อย่างระมัดระวัง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น อาการแพ้ คลื่นไส้ อาเจียน

ไซเลี่ยมฮัสค์ (Psyllium Husk) คืออะไร

ไซเลี่ยมฮัสค์ เป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำได้ ทำมาจากเปลือกหุ้มเมล็ดไซเลี่ยมฮัสค์ หรือต้นเทียนเกล็ดหอย  (Plantago Ovata) มีลักษณะเป็นเกล็ดเล็ก ๆ สีขาวขุ่น ไม่มีรสชาติและแทบไม่มีกลิ่น มักใช้เป็นยาระบาย โดยนำไปละลายกับน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ  ไซเลี่ยมฮัสค์จะกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย นอกจากนี้ ยังใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารทั่วไป เช่น ซีเรียล และใช้เป็นอาหารเสริมในรูปแบบแคปซูล ผงสำหรับชงดื่ม

อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจใช้ยาระบายเพื่อแก้ไขปัญหาท้องผูก ควรดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่าย ออกกำลังกายและขยับร่างกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้

คุณค่าทางโภชนาการของไซเลี่ยมฮัสค์

ไซเลี่ยมฮัสค์ประมาณ 100 กรัม ให้พลังงานประมาณ 220.5 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ เช่น

  • คาร์โบไฮเดรต 63 กรัม
  • โปรตีน 15.8 กรัม
  • ไขมัน 4.3 กรัม
  • โซเดียม 2 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 1,190.7 มิลลิกรัม

ประโยชน์ต่อสุขภาพของ ไซเลี่ยมฮัสค์

อาจช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้

ไซเลี่ยมฮัสค์อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารละลายน้ำและมิวซิเลจ (Mucilage) ซึ่งเป็นชั้นเหนียวของเส้นใยที่ละลายน้ำ ที่ช่วยในการยับยั้งการดูดซึมไขมันและน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด จึงอาจช่วยลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และอาจช่วยควบคุมโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Ethnopharmacology เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ศึกษาเกี่ยวกับคุณสมบัติในการลดระดับกลูโคสและค่าน้ำตาลสะสมในเลือดในผู้ป่วยเบาหวานของไซเลี่ยมฮัสค์ โดยการแบ่งกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวน 36 คน ออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานไซเลี่ยมฮัลค์ ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้รับประทานยาหลอก เป็นเวลา 8 สัปดาห์ แล้ววัดระดับน้ำตาลในเลือดทุก ๆ 2 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ในปริมาณ 5.1 กรัม สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี และไซเลี่ยมฮัสค์เป็นอาหารเสริมที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียง อย่างไรก็ตาม ยังเป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อาจช่วยลดระดับคอเรสเตอรอล

เส้นใยที่ละลายในน้ำสามารถลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลไม่ดี (LDL) และไตรกลีเซอไรด์เข้าสู่กระแสเลือดได้ และช่วยขับไขมันออกจากร่างกายก่อนจะถูกดูดซึมไปใช้ จึงอาจเป็นประโยชน์ในการควบคุมระดับคอเรสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และอาจลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Nutrition เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2550 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอาหารเสริมไฟเบอร์ต่อองค์ประกอบของร่างกาย ไขมัน กลูโคส อินซูลิน และปัจจัยเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิซึมอื่น ๆ ในผู้ที่มีน้ำหนักเกินและผู้ที่เป็นโรคอ้วน เมื่อเปรียบเทียบกับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ จากการทดลองเป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่รับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ และกลุ่มตัวอย่างที่รับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ควบคู่กับการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพมีน้ำหนักตัวและลดลง ไขมันในร่างกายลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก โดยการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพร่วมกับการรับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ช่วยให้ร่างกายได้รับเส้นใยอาหารตั้งแต่ 31-59 กรัม จึงอาจสรุปได้ว่า การบริโภคไซเลี่ยมฮัสค์ควบคู่กับการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นวิธีลดระดับคอเลสเตอรอลที่ดีต่อผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกิน อย่างไรก็ตาม ยังเป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

อาจช่วยให้อิ่มได้นานขึ้น

ไซเลี่ยมฮัสค์มีเส้นใยอาหารสูง ช่วยชะลอการทำงานของระบบย่อยอาหารและการเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้ จึงอาจเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว เพราะช่วยให้อิ่มได้นานขึ้น โดยไม่ต้องรับประทานอาหารเพิ่มระหว่างมื้อ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Appetite เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ศึกษาเกี่ยวกับความอิ่มจากการรับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ในกลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพแข็งแรง โดยแบ่งการทดลองเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม แล้วให้รับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ในปริมาณ 3.4 กรัม 6.8 กรัม และ 10.2 กรัมตามลำดับ ก่อนอาหารเช้าและอาหารกลางวันเป็นเวลา 3 วัน ส่วนการทดลองที่ 2 แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้รับประทานไซเลี่ยมฮัสค์และยาหลอกในปริมาณ 6.8 กรัม ก่อนอาหารเช้าและอาหารกลางวันในวันที่ 1 และ 2 และก่อนอาหารเช้าในวันที่ 3 ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้รับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ในปริมาณ 6.8 กรัม แล้วจึงรับประทานอาหารเช้าแบบจำกัดแคลอรี่ เป็นเวลา 3 วัน ผลการทดลองพบว่า การทดลองที่ 1 กลุ่มที่รับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ทั้ง 3 กลุ่มมีความอยากอาหารและความหิวลดลง และมีความอิ่มระหว่างมื้ออาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้ยาหลอก ส่วนกลุ่มตัวอย่างในการทดลองที่ 2 ก็มีผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน จึงอาจสรุปได้ว่า การรับประทานไซเลี่ยมฮัสค์ซึ่งเป็นเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำอาจช่วยเพิ่มความรู้สึกอิ่มระหว่างมื้ออาหาร และอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม ยังเป็นงานวิจัยขนาดเล็ก ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

ข้อควรระวังในการบริโภคไซเลี่ยมฮัสค์

ข้อควรระวังในการบริโภคไซเลี่ยมฮัสค์ อาจมีดังนี้

  • การบริโภคไซเลี่ยมฮัสค์ หรือการหายใจเอาผงไซเลี่ยมฮัสค์เข้าจมูกอาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น หายใจลำบาก ปวดท้อง กลืนลำบาก ผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน หากบริโภคหรือเผลดสูดดมแล้วเกิดอาการดังกล่าว ควรหยุดบริโภคแล้วไปพบคุณหมอทันที
  • ไซเลี่ยมฮัสค์ออกฤทธิ์เป็นยาระบาย จึงควรบริโภคอย่างระมัดระวัง
  • ผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยโรคไตควรบริโภคไซเลี่ยมฮัสค์อย่างระมัดระวังและปรึกษาคุณหมอทุกครั้งก่อนบริโภค เพราะอาจทำให้เกิดภาวะไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย (Electrolyte imbalances) ได้

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Psyllium decreased serum glucose and glycosylated hemoglobin significantly in diabetic outpatients. https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0378874105003983?via%3Dihub. Accessed July 25, 2022

The effect of a fibre supplement compared to a healthy diet on body composition, lipids, glucose, insulin and other metabolic syndrome risk factors in overweight and obese individuals. https://www.cambridge.org/core/journals/british-journal-of-nutrition/article/effect-of-a-fibre-supplement-compared-to-a-healthy-diet-on-body-composition-lipids-glucose-insulin-and-other-metabolic-syndrome-risk-factors-in-overweight-and-obese-individuals/DDE90317EE5D477C1E0594B6E2B1AA79. Accessed July 25, 2022

Satiety effects of psyllium in healthy volunteers. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/27166077/. Accessed July 25, 2022

Psyllium. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601104.html. Accessed July 25, 2022

Psyllium Husk Fibre Oral Powder – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-56088/psyllium-husk-fibre-oral/details. Accessed July 25, 2022

Psyllium. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a601104.html. Accessed July 25, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

30/09/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

ธัญพืช ประโยชน์จากธรรมชาติ

ซีเรียล อาหารเช้าที่ดีต่อสุขภาพจริงหรือไม่


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

นายแพทย์ภควัต ตั้งจาตุรนต์รัศมี

โภชนาการเพื่อสุขภาพ · โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 30/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา