backup og meta

ไอโอดีน คือ อะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

ไอโอดีน คือ อะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร

ไอโอดีน คือ แร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ซึ่งทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมนควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยทั่วไปไอโอดีนจะพบมากที่สุดในอาหารทะเล ปลา หอย ปู กุ้ง และอาจพบในในอาหารอื่น ๆ เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้ ในปริมาณเล็กน้อย หากร่างกายขาดไอโอดีน ในคนทั่วไปอาจเกิดภาวะทางสุขภาพ เช่น โรคคอพอก ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ ส่วนในหญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของเด็กทั้งในช่วงที่อยู่ในครรรภ์และในอนาคต จึงควรรับประทานไอโอดีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อให้ต่อมไทรอยด์สามารถทำงานได้เป็นปกติ

[embed-health-tool-bmi]

ไอโอดีน คือ อะไร

ไอโอดีน (Iodine) คือ แร่ธาตุไม่ละลายน้ำที่เป็นส่วนประกอบของไทรอยด์ฮอร์โมนซึ่งจำเป็นต่อระบบการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยปกติแล้วร่างกายไม่สามารถสร้างไอโอดีนขึ้นเองได้ จึงต้องได้รับจากอาหารหรืออาหารเสริม เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เกลือเสริมไอโอดีน

คนส่วนใหญ่จะได้รับไอโอดีนจากอาหารที่รับประทานเพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวันอยู่แล้ว ไอโอดีนที่อยู่ในอาหารส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปเกลือไอโอไดด์ (Iodide) ลักษณะเป็นสีขาวและละลายน้ำได้ดี สามารถดูดซึมเข้าสู่กระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว ไอโอดีนที่เหลือในกระแสเลือดส่วนใหญ่จะถูกขับออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ มีเพียงส่วนน้อยที่ขับออกทางอุจจาระและเหงื่อ

นอกจากนี้ ไอโอดีนยังถูกนำไปใช้เป็นยาฆ่าเชื้ออ่อน ๆ สำหรับแผลภายนอก เช่น ยาเหน็บ ทิงเจอร์ไอโอดีน ยาขี้ผึ้งได้ด้วย

ไอโอดีน หน้าที่ และความสำคัญต่อร่างกาย

ไอโอดีน เป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์ไทรอยด์ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ได้แก่ ฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine) และฮอร์โมนไตรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine) ฮอร์โมนที่ถูกสร้างขึ้นจะช่วยในการสร้างโปรตีนและการทำงานของเอ็นไซม์ มีอิทธิพลต่ออัตราการเต้นของหัวใจ ควบคุมปริมาณแคลเซียมในเลือด รวมทั้งควบคุมระบบการเผาผลาญพลังงานให้เป็นปกติ หากร่างกายได้รับไอโอดีนน้อยกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเหล่านี้น้อยลง และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพบางประการ เช่น โรคคอพอก (Goiter) ที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ที่อยู่บริเวณลำคอโตผิดปกติ และภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroidism) ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยลง ผู้ที่มีภาวะนี้จะมีอาการเซื่องซึม  น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว และง่วงนอนบ่อย

ไอโอดีน มีอะไรบ้าง

ไอโอดีนจากอาหาร อาจมีดังนี้

  • อาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลากะพง หอยนางรม หอยแมลงภู่ กุ้ง ปู สาหร่ายทะเล เป็นแหล่งอาหารที่มีไอโอดีนมากที่สุด
  • เนื้อสัตว์และเครื่องใน เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ ตับวัว
  • ผัก เช่น ปวยเล้ง ผักกาด กระเทียม
  • ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล สับปะรด ส้ม
  • นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น น้ำนม ชีส โยเกิร์ต
  • อาหารที่เสริมไอโอดีน เช่น เกลือ  น้ำมัน น้ำปลา ขนมปัง เครื่องดื่ม
  • ไอโอดีนในรูปแบบอาหารเสริม (Iodine supplements)

ปริมาณไอโอดีนที่ร่างกายควรได้รับ

ปริมาณไอโอดีนที่แนะนำต่อวันสำหรับคนแต่ละช่วงวัย มีดังนี้

  • เด็กอายุ 0-5 ปี ควรได้รับไอโอดีน 90 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 6-12 ปี ควรได้รับไอโอดีน 120 ไมโครกรัม/วัน
  • คนอายุ 12 ปีขึ้นไป ควรได้รับไอโอดีน 150 ไมโครกรัม/วัน
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรได้รับไอโอดีน 250 ไมโครกรัม/วัน

อันตรายจากการขาดไอโอดีน

หากได้รับไอโอดีนน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะสุขภาพ ดังนี้

ทารกในครรภ์และเด็กแรกเกิด

  • การแท้ง
  • ภาวะทารกตายคลอด (Stillbirth) หรือทารกที่คลอดออกมาแล้วไม่มีสัญญาณชีพ
  • ภาวะผิดปกติแต่กำเนิด เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่ ภาวะหลอดประสาทไม่ปิด ความผิดปกติของแขนขา
  • เสี่ยงเกิดโรคเอ๋อหรือเครทินิซึม (Cretinism) เนื่องจากขาดฮอร์โมนไทรอยด์ในระหว่างที่ตัวอ่อนกำลังพัฒนา ทำให้ทารกมีรูปร่างเล็ก มีความบกพร่องทางสติปัญญา กระดูกเสื่อม และมีความสามารถในการเผาผลาญพลังงานต่ำ
  • โรคคอพอกในทารกแรกเกิด
  • ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิด (Congenital Hypothyroidism)
  • ภาวะสมองเสื่อม

เด็กและวัยรุ่น

  • โรคคอพอกจากการขยายตัวของต่อมไทรอยด์
  • โรคของต่อมไทรอยด์ไม่ปรากฏอาการเนื่องจากต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (Subclinical hypothyroidism)
  • ความผิดปกติด้านสติปัญญาและอารมณ์
  • พัฒนาการทางร่างกายล่าช้า

ผู้ใหญ่

  • โรคคอพอกที่อาจมาพร้อมกับภาวะแทรกซ้อน เช่น หัวใจเต้นแรงผิดปกติ ปัญหาเกี่ยวกับการกลืนและการหายใจ
  • ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ (Hypothyroidism) เป็นภาวะที่ร่างกายขาดไทรอยด์ฮอร์โมนเป็นเวลานาน จนความสามารถในการเผาผลาญพลังงานลดลง
  • ความผิดปกติด้านสติปัญญาและอารมณ์
  • ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) ที่เกิดขึ้นเองในช่วงวัยสูงอายุ
  • ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดจากการได้รับไอโอดีนมากเกินไปจากการรักษาโรค และไอโอดีนไหลเข้าสู่ต่อมไทรอยด์ เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อย

หญิงตั้งครรภ์

  • การขาดไอโอดีนในหญิงตั้งครรภ์อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ของคุณแม่และทารกในครรภ์ผิดปกติ ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และส่งผลต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารก

ผลข้างเคียงของการได้รับไอโอดีนมากเกินไป

ความเข้มข้นของไอโอดีนในอาหารที่บริโภคในชีวิตประจำวันไม่มากพอที่จะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เนื่องจากร่างกายสามารถขับไอโอดีนส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ร่างกายไวต่อไอโอดีนรับประทานยาที่มีส่วนประกอบของไอโอดีน อาจทำให้มีไข้ ตาแดง มีลมพิษ ผิวหนังพุพอง และปอดบวม หากได้รับไอโอดีนมากกว่า 2,000 ไมโครกรัม (0.002 กรัม) /วัน ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไป จนเกิดความผิดปกติ เช่น คอบวม น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ เหงื่อออกผิดปกติ ทนร้อนไม่ค่อยได้ และหากรับประทานไอโอดีนโดยตรงมากกว่า 2 กรัมภายในครั้งเดียว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไตวาย หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

The Iodine Deficiency Disorders. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK285556/. Accessed October 3, 2022

Hyperthyroidism (overactive thyroid). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hyperthyroidism/symptoms-causes/syc-20373659#:~:text=Overview,treatments%20are%20available%20for%20hyperthyroidism. Accessed October 3, 2022

Health Benefits of Iodine. https://www.webmd.com/diet/health-benefits-iodine#1. Accessed October 3, 2022

Iodine and your health. https://www.healthdirect.gov.au/iodine#. Accessed October 3, 2022

Iodine – Uses, Side Effects, and More. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-35/iodine. Accessed October 3, 2022

Iodine. https://www.hsph.harvard.edu/nutritionsource/iodine/. Accessed October 3, 2022

ไอโอดีนกับสุขภาพ. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/391/ไอโอดีนกับสุขภาพ/.  Accessed October 3, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/10/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารเพิ่มไอโอดีน สารอาหารสำคัญที่อย่ามองข้าม

การกินอาหารไอโอดีนต่ำ อีกหนึ่งวิธีรับมือโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 18/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา