backup og meta

ทับทิม ผลไม้สีสวยสดใสที่งานวิจัยยืนยันแล้วว่า..ประโยชน์เพียบ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/04/2022

    ทับทิม ผลไม้สีสวยสดใสที่งานวิจัยยืนยันแล้วว่า..ประโยชน์เพียบ

    ทับทิม ผลไม้สีแดงสดที่เรารู้จักกันดี แม้จะมีถิ่นกำเนิดมาจากดินแดนที่หนาวเย็น แต่ทุกวันนี้ทับทิมก็หากินได้ไม่ยากในบ้านเรา แต่ทับทิมที่มาจากพื้นที่หนาวเย็นจะมีสีแดงสดใสที่ดูน่ากินกว่า นอกจากสีสันอันสวยงามและรูปลักษณ์แปลกตา ทับทิมยังเป็นผลไม้มากประโยชน์ อุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุหลากหลายชนิด แถมยังแคลอรี่ต่ำอีกต่างหาก มากินทับทิมแล้วรับประโยชน์หลากหลายพวกนี้กันได้เลยค่ะ

    ข้อมูลโภชนาการของ ทับทิม

    เมล็ดทับทิมปริมาณ 1 ถ้วย (174 กรัม) ให้พลังงาน 144 แคลอรี่ และมีสารอาหารต่างๆ ดังนี้

    • วิตามินซี 30% ของปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
    • วิตามินเค 36% ของปริมาณวิตามินเคที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • โฟเลต 16% ของปริมาณโฟเลตที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • โพแทสเซียม 12% ของปริมาณโพแทสเซียมที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน
  • ไฟเบอร์ 7 กรัม
  • โปรตีน 3 กรัม
  • น้ำตาล 24 กรัม
  • สารพัดประโยชน์ของทับทิม

    1. ทัมทิมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

    การอักเสบเรื้อรังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคร้ายแรง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอัลไซเมอร์ และโรคอ้วน คุณสมบัติต้านอาการอักเสบของทับทิม มาจากสารต้านอนุมูลอิสระในทับทิมที่มีชื่อว่า พูนิคาลาจิน (punicalagins) ซึ่งจากการศึกษาในหลอดทดลองแสดงให้เห็นว่า สารพูนิคาลาจินสามารถลดการอักเสบในทางเดินอาหารได้

    นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยที่ใช้เวลา 12 สัปดาห์ โดยให้กลุ่มผู้ทดลองที่เป็นโรคเบาหวานดื่มน้ำทับทิมปริมาณ 1.1 ถ้วย (250 มิลลิลิตร) ต่อวัน ผลการวิจัยพบว่าการดื่มน้ำทับทิมช่วยลดการอักเสบทำให้โปรตีน CPR และสารอินเตอร์คิวลิน-6 (interleukin-6) ลดลง 32% และ 30% ตามลำดับ ซึ่งโปรตีน CPR หรือ C-reactive protein เป็นโปรตีนที่ตอบสนองต่อการอักเสบ เช่นเดียวกันกับสารอินเตอร์คิวลิน-6 (interleukin-6) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อการอักเสบ

    2. ทับทิมมีส่วนช่วยในการต่อสู้กับมะเร็งต่อมลูกหมาก

    มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นชนิดของมะเร็งที่พบบ่อย และมีการศึกษาวิจัยในห้องทดลองที่พบว่า  สารสกัดทับทิมอาจชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และอาจทำให้เกิดภาวะอะพอพโทซิส (apoptosis) หรือภาวะการตายของเซลล์มะเร็ง เพิ่มเติมไปกว่านั้นยังมีหลักฐานเบื้องต้นจากการวิจัยที่บ่งชี้ว่า น้ำทับทิมอาจมีประโยชน์ต่อผู้ชายที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก รวมถึงมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต

    3. ทับทิมอาจช่วยต้านมะเร็งเต้านม

    มะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในชนิดของมะเร็ง ที่พบได้มากที่สุดในผู้หญิง โดยสารสกัดทับทิมอาจช่วยป้องกันการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม หรืออาจทำให้เซลล์มะเร็งตายได้ แต่อย่างไรก็ตามมีหลักฐานงานวิจัยอย่างจำกัด ดังนั้น การศึกษาเรื่องประโยชน์ของทับทิมต่อมะเร็งเต้านมจึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

    4. ทับทิมอาจช่วยลดความดันเลือด

    ภาวะความดันเลือดสูง (High blood pressure) เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดหัวใจ มีงานวิจัยหนึ่งที่พบว่า ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีความดันโลหิตลดลงอย่างมีนัยสำคัญหลังจากกินน้ำทับทิม 5 ออนซ์ (150 มิลลิลิตร) ทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การดื่มน้ำทับทิมสามารถช่วยลดความดันโลหิตค่าบน (Systolic) หรือแรงดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว

    5. ทับทิมอาจช่วยในการต่อสู้กับโรคข้ออักเสบ และอาการปวดข้อ

    โรคข้ออักเสบ (Arthritis) มีหลายชนิดแต่ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการอักเสบของข้อต่อ มีงานวิจัยในห้องปฏิบัติการที่พบว่าสารสกัดทับทิมช่วยยับยั้งเอนไซม์ ที่ทำความเสียหายให้ข้อต่อของผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่ให้ข้อมูลว่า สารสกัดทับทิมช่วยบรรเทาอาการข้ออักเสบในหนูทดลอง แต่หลักฐานจากการศึกษาวิจัยในมนุษย์ยังคงมีจำกัดจนถึงตอนนี้

    6. น้ำทับทิมช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ

    โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่พบมากที่สุดในโลก และโรคหัวใจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย มีการศึกษาวิจัยที่ใช้ระยะเวลา 4 สัปดาห์ และมีกลุ่มตัวอย่าง 51 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ผลการวิจัยพบว่า การกินน้ำมันเมล็ดทับทิม 800 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถลดไตรกลีเซอร์ไรด์อย่างมีนัยสำคัญ และช่วยทำให้อัตราส่วนส่วนของไตรกลีเซอร์ไรด์และไขมันเอชดีแอลดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ทำการศึกษา ผลจากการกินน้ำทับทิมในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และคอเลสเตอรอลสูง ผลการวิจัยพบว่าช่วยลดไขมันแอลดีแอล หรือไขมันเลว อย่างมีนัยสำคัญ

    7. น้ำทับทิมอาจช่วยรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

    งานวิจัยพบว่า น้ำทับทิมช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตและการแข็งตัวของอวัยวะเพศของกระต่าย นอกจากนี้มีงานวิจัยที่พบว่า ทับทิมมีประโยชน์ต่อผู้ชาย 53 คนที่มีอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ แต่งานวิจัยชิ้นนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

    8. ทับทิมสามารถช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

    สารประกอบของพืชในทับทิมสามารถช่วยต่อสู้กับจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย ตัวอย่างเช่น มีการศึกษาวิจัยที่แสดงว่า สามารถต่อสู้กับแบคทีเรียบางประเภทและยีสต์ที่มีชื่อว่า Candida albicans และผลการต้านแบคทีเรียและเชื้อรา อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อและการอักเสบในปากของคุณ เช่น อาการฟันผุ โรคปริทันต์ และโรคปากอักเสบเหตุฟันเทียม (Denture stomatitis) เพิ่มเติมไปกว่านั้น ทับทิมมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อโรคเหงือกและการติดเชื้อ

    9. ทับทิมอาจช่วยทำให้ความจำดีขึ้น

    มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พบว่า ทับทิมสามารถทำให้ความจำดีขึ้น เนื่องจากมีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดและได้รับสารสกัดทับทิม 2 กรัม ช่วยป้องกันการสูญเสียความจำหลังจากผ่าตัดได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในหนูทดลองที่พบว่า ทับทิมอาจช่วยต่อสู้กับโรคอัลไซเมอร์

    10. ทับทิมอาจช่วยทำให้ประสิทธิภาพการออกกำลังกายดีขึ้น

    งานวิจัยที่ทำการศึกษาโดยให้นักกีฬา 19 คนวิ่งบนลู่วิ่ง และกินสารสกัดทับทิม 30 นาทีก่อนออกกำลังกาย ผลการวิจัยพบว่า การกินสารสกัดทับทิมก่อนออกกำลังกาย 30 นาที ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทับทิมอุดมไปด้วยไนเตรด ซึ่งช่วยในการทำให้ประสิทธิภาพการออกกำลังกายดีขึ้น และยังช่วยชะลอการเกิดความเหนื่อยล้า

    ทับทิมสด VS น้ำทับทิม

    การดื่มน้ำทับทิม อาจเป็นวิธีการที่ง่ายกว่าสำหรับบางคน ในการบริโภคทับทิม ถึงแม้โดยทั่วไปแล้ว การกินทับทิมสดจะดีต่อร่างกายกว่าการดื่มน้ำทับทิม เนื่องจากกระบวนการแปรรูปเป็นน้ำทับทิม อาจทำให้สูญเสียวิตามินบางอย่างได้ และคุณยังจะไม่ได้รับเส้นใยอาหารเหมือนกับการกินทับทิมสด แต่คุณก็อาจเลือกการดื่มน้ำทับทิมแทนการกินทับทิมสดได้ ตราบเท่าที่น้ำทับทิมนั้นไม่มีการเติมน้ำตาลเพิ่มเติมเข้าไป เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยมากมาย ที่ชี้ถึงอันตรายของการบริโภคความหวานอร่อยที่เพิ่มขึ้นนี้ เพราะฉะนั้นคุณจึงควรระวังการบริโภคน้ำทับทิมสำเร็จรูป และหากเป็นไปได้ ก็ควรเลือกบริโภคทับทิมสด หรือทำน้ำทับทิมแบบไม่ผสมน้ำตาลดื่มเองที่บ้าน ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

    ข้อควรระวังในการกินทับทิม

    ถึงแม้จะมีประโยชน์มากมาย ทับทิมก็เหมือนอาหารอีกหลายอย่าง ที่มีบางสิ่งที่ควรระวังสำหรับบางคน และนี่คือสิ่งที่คุณควรระวังในการบริโภคทับทิม

    • ผู้ที่กินยากลุ่มสแตติน (Statins) ยานี้มักใช้สำหรับผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง ซึ่งเป็นยาที่อาจมีปฏิกิริยากับน้ำทับทิมและน้ำเกรปฟรุต  ดังนั้น ถ้าคุณกำลังกินยาเพื่อรักษาอาการบางอย่าง ให้ปรึกษาคุณหมอก่อน
    • การแพ้ทับทิม เป็นอาการที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีการศึกษาพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอาการแพ้ ซึ่งอาการแพ้ทับทิมได้แก่ มีอาการคัน บวม น้ำมูกไหล และหายใจลำบาก ถ้าคุณสงสัยว่าคุณอาจจะแพ้ทับทิม ควรปรึกษาคุณหมอ
    • ผู้ที่ความดันโลหิตต่ำ การดื่มน้ำทับทิมจะช่วยลดความดันโลหิตเล็กน้อย จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำเกินไป ในผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำอยู่แล้ว
    • ผู้ที่แพ้พืชบางชนิด ผู้ที่แพ้พืชมีแนวโน้มว่าจะมีปฏิกิริยากับการกินทับทิม
    • ผู้ที่ผ่าตัด น้ำทับทิมอาจส่งผลต่อความดันโลหิต ซึ่งอาจรบกวนการควบคุมความดันโลหิตระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด ดังนั้น จึงไม่ควรกินทับทิมเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    เนตรนภา ปะวะคัง


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 28/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา