backup og meta

ไลฟ์สไตล์อันตรายที่อาจนำไปสู่ โรคมะเร็งเต้านม


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/08/2021

    ไลฟ์สไตล์อันตรายที่อาจนำไปสู่ โรคมะเร็งเต้านม

    โรคมะเร็งเต้านม เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักการเสียชีวิตของผู้หญิงในยุคปัจจุบัน แล้วคุณรู้รึเปล่าว่า ลักษณะนิสัยบางอย่างนั้น สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมให้กับคุณได้ บทความนี้จะมาเจาะลึกถึง ไลฟ์สไตล์อันตราย ที่อาจนำคุณไปสู่โรคมะเร็งเต้านม

    ไลฟ์สไตล์เสี่ยงเป็น โรคมะเร็งเต้านม

    ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

    จากข้อมูลทางระบาดวิทยาระบุว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งเต้านมถึง 4% ในประเทศที่กำลังพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ทุก ๆ 10 มล. ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่คุณดื่มเข้าไป จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมขึ้น 10 % เท่ากับว่า ยิ่งคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเท่าไหร่ โอกาสเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคมะเร็งเต้านม ก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมากเท่านั้น

    สูบบุหรี่ เสี่ยงเป็น โรคมะเร็งเต้านม

    การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่าง ๆ รวมไปจนถึงโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านมด้วย สารอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบอยู่ในบุหรี่ ทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง ไฮโดรคาร์บอนที่ผสานเข้ากับความหลากหลายของลักษณะทางพันธุกรรม อาจก่อให้เกิดการพัฒนาเซลล์มะเร็งเต้านมขึ้นในร่างกาย รายงานของ US Surgeon General เมื่อปี 2014 แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีประวัติการสูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่มากถึง 10%

    เป็นโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน

    การมีน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน ในช่วงวัยหมดประจำเดือน อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ ช่วงที่ยังมีประจเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายส่วนใหญ่จะมาจากรังไข่ มีแค่ส่วนน้อยเท่านั้นที่มาจากเนื้อเยื่อไขมัน แต่หากรังไข่หยุดสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื้อเยื่อไขมันจะกลายเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนแทน ในช่วงวัยนี้ หากคุณมีชั้นไขมันมากฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของคุณก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย และสามารถนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้ ผู้หญิงที่มีภาวะน้ำหนักเกิน มักจะมีค่าอินซูลินหรือค่าน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งโรคมะเร็งเต้านมเป็นหนึ่งในมะเร็งที่มีความสัมพันธ์กับระดับของอินซูลินในเลือด

    ไม่ออกกำลังกาย

    การไม่ออกกำลังกาย ก็เป็นสาเหตุโดยอ้อมของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม การออกกำลังกายสามารถช่วยป้องกันผู้หญิงจากโรคมะเร็งเต้านมที่เกิดจากผลกระทบของการเผาผลาญสเตอรอยด์ฮอร์โมน และอาการอักเสบในร่างกายในช่วงวัยหมดประจำเดือนได้ นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณไขมันในร่างกาย และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยของ Women’s Health Initistive (WHI) ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วว่า สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 25-30%

    การเดินเร็วสัปดาห์ละ 75 นาทีถึง 2.5 ชั่วโมง สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ถึง 18% การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์แน่ชัดแล้วว่า สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมได้จริง ฉะนั้น หากคุณไม่ออกกำลังกาย ก็เท่ากับมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น

    การคุมกำเนิด

    วิธีการคุมกำเนิดต่าง ๆ เช่น การกินยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด การแปะแผ่นคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด สามารถเชื่อมโยงกับการเกิดมะเร็งเต้านมได้ มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่า ผู้หญิงที่มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้คุมกำเนิดเล็กน้อย นอกจากนี้ ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมจะไม่เพิ่มขึ้น หลังจากที่หยุดคุมกำเนิดไป 5 ถึง 10 ปี ขึ้นอยู่กับวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 17/08/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา